วันที 3 ก.ย.- นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการแถลงข่าวโครงการเวทีเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัย 24 แห่งทั่วประเทศ ที่โรงแรมบันยันทรี เมื่อวานนี้ ว่า กิจกรรมครั้งนี้จะช่วยรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทย กระตุ้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ผู้ผลิตมีความภาคภูมิใจจากการได้รับรางวัล สำหรับความร่วมมือครั้งนี้จะมีคณะทำงาน โดยเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ทำการสอนสาขานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และด้านการสื่อสารจากทั้ง 24 สถาบันร่วมกำหนดเกณฑ์และคัดเลือกสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 10 ประเภทสื่อ ได้แก่ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ สื่อบุคคล สื่อท้องถิ่น สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ นวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสื่อในโครงการผู้รับทุนของกองทุนสื่อ รวม 37 สาขารางวัล มีหลักเกณฑ์การให้คะแนนโดยใช้คำว่า “+6 -3” และ +1
นายอิทธิพล กล่าวว่า สำหรับประเด็นการนำเสนอประกอบด้วยเรื่องที่สื่อไม่ควรนำเสนอ ได้แก่ เรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรง และ 6 เรื่องสร้างสรรค์ ได้แก่ ส่งเสริมให้เกิดระบบวิธีคิด ความรู้วิชาการ จริยธรรม การเรียนรู้ทักษะชีวิต ความเข้าใจเรื่องความหลากหลาย และความสัมพันธ์ในครอบครัวและบุคคล รวมถึงเรื่องที่จะนำมาพิจารณา คือ กระบวนการผลิต และชิ้นงานสื่อที่มีความน่าสนใจสามารถเข้าถึงได้ มีกระบวนการสร้างสรรค์เข้าถึงประชาชน ซึ่งสื่อที่ได้รับรางวัลจากเวทีนี้ อาจไม่ใช่สื่อที่ได้รับความนิยม หรือมีเรตติ้งสูง แต่จะเป็นสื่อที่มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามเกณฑ์เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคม ภายหลังการลงนามร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายแต่ละแห่งจะมีการคัดเลือกสื่อ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คาดว่า จะประกาศผลรางวัลได้ภายในต้นปี 2564
ด้านนางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อได้ง่าย และมีสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น เว็บการพนัน เว็บลามก การสร้างข่าวปลอม คลิปความรุนแรง สื่อเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญส่งผลกระทบต่อความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน จำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้เกิดทางเลือกที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยการส่งเสริมให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งการจัดทำโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดการยกย่องเชิดชูเกียรติคนทำสื่อดีให้เป็นแบบอย่างแก่สังคม และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันการศึกษาทั้ง 24 แห่งจะมีส่วนสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยอาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษา และเกิดการต่อยอด นำองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไปขยายผลในสถาบันส่งผลให้เกิดความยั่งยืนต่อไป