ในช่วงของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ากระแสของการทำงานที่บ้านหรือเวิร์กฟอร์มโฮมมีมากขึ้น และหลายบริษัทเริ่มทยอยปรับสูตรการทำงานของพนักงานให้เป็นในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก PwC ประเทศไทย ระบุว่า 20% ของบริษัทไทยได้เปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำงานจากที่บ้านเป็นการถาวร เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงาน
ขณะเดียวกันการเวิร์กฟอร์มโฮมยังจะช่วยลดต้นทุนค่าเช่าและสาธารณูปโภคจากการเช่าสำนักงาน แต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ แน่นอนว่าอาจเห็นบริษัทไทยหันมาพิจารณาการจ้างลูกจ้างชั่วคราว (Contingent Workforce) การจ้างหน่วยงานหรือพนักงานจากภายนอก (Outsource) รวมไปถึงการจ้างผู้มีอาชีพอิสระ (Freelance) มากขึ้น เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารกำลังคนและต้นทุน
ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปสู่การทำงานจากที่บ้านมากขึ้น จนกลายเป็นความปกติแบบใหม่ของการทำงานไปโดยสิ้นเชิง ประเมินว่า 20% ของบริษัทไทยปัจจุบันมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้เป็นการถาวร เพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสำนักงาน
นอกจากนี้นโยบายดังกล่าวยังมีอีกหลายองค์กรด้วยที่เลือกใช้วิธีผสมผสานให้พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศเพื่อประชุม เพราะการทำงานอยู่ที่บ้านเป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เกิดความเครียด และไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ โดยจากข้อมูลพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ชอบที่จะทำงานที่บ้านอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์
จากผลสำรวจ CEO Panel Survey ของ PwC ที่ทำการสำรวจมุมมองซีอีโอจำนวน 699 ราย ใน 67 ประเทศทั่วโลก ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 เกี่ยวกับรูปแบบของธุรกิจเกิดใหม่และแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า 78% ของผู้นำธุรกิจเชื่อว่า จะหันมาใช้นโยบายการทำงานจากที่ไหนก็ได้มากขึ้น ขณะที่ 76% พึ่งพาการใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ และ 61% ควบคุมความหนาแน่นของสถานที่ทำงาน
แม้ว่าความยืนหยุ่นจากการทำงานที่ไหนก็ได้จะมีมาก แต่ก็ย่อมมีความท้าทายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพของงานและประสิทธิภาพของการทำงาน กลายเป็นโจทย์ที่ผู้นำธุรกิจจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญ จึงอยากให้องค์กรมีระเบียบปฏิบัติ และเครื่องมือเข้ามาช่วยในการวัดผลการทำงานแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้จัดการหรือหัวหน้างานให้สามารถติดตามงาน เห็นผลลัพธ์ของงาน หรือสามารถช่วยลูกน้องแก้ไขปัญหาของงานได้ทันท่วงที หรือในงานบางอย่างก็อาจนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย
การสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของพนักงานที่แม้จะทำงานอยู่ที่บ้านนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำธุรกิจจะต้องคำนึงถึง โดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ในการทำงานรูปแบบใหม่ให้กับพนักงาน รวมทั้งหาโอกาสในการพบปะสังสรรค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายสังคมกับพนักงาน และอาจต้องกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับเวลาพักระหว่างวันและส่งเสริมวัฒนธรรมการเข้า-ออกงานตามเวลา เป็นต้น
ในเวลานี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอน และหากมีการยืดเยื้อก็เป็นไปได้ว่า บริษัทไทยอาจหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานไปสู่การจ้างลูกจ้างชั่วคราวที่เรียกว่า Contingent Workforce การจ้างบริษัทหรือพนักงานแบบเอาต์ซอร์ซหรือการจ้างฟรีแลนซ์ เข้ามาทำงานบางงาน หรือบางโปรเจ็กต์มากขึ้น เพื่อช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารกำลังคนและต้นทุน เพราะรูปแบบการจ้างงานเหล่านี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับพนักงานประจำในระยะยาวได้ดี สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน หรือวิธีการจ้างงานอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของพนักงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การพัฒนาทักษะใหม่ๆ ของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะความยืดหยุ่นและการปรับตัว จะเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้บุคลากรขององค์กรสามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงยังปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทันและเหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |