การจะทำความเข้าใจว่า "รัฐบาลถังแตก" หรือไม่ ต้องเจาะลึกถึงข้อมูลทางการอย่างละเอียดรอบด้าน
เมื่อเข้าใจเรื่อง "เงินคงคลัง" ว่าเหมือน cash flow ของรัฐบาล ก็ต้องตามต่อว่าสถานภาพจริงๆ วันนี้ของรัฐบาลเป็นเช่นไร
ต้องอ่านจากรายงานที่กระทรวงการคลังนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอเอกสารมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 เรื่องการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ซึ่งเสนอโดย สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง รักษาราชการแทน รมว.การคลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ
เอกสารชุดนั้นระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นของการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งมีรายละเอียดส่วนหนึ่ง ดังนี้
คณะกรรมการฯ ได้ประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 เพื่อพิจารณาปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ดังนี้
1.การปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณ 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะปรับตัวลดลงร้อยละ 5-6
กระทรวงการคลังได้มีการทบทวนรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2563 และคาดการณ์ว่าจะต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 394,400 ล้านบาท
ซึ่งจะทำให้ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ระดับ 139,898 ล้านบาท
จำนวนนี้ไม่สามารถรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงานในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่จะมีการเร่งการเบิกจ่ายงบอุดหนุนของหน่วยงานต่างๆ
นั่นเป็นที่มาของคำว่า "ถังแตก" เพราะ "เงินสดในกระเป๋า" มีไม่พอเบิกจ่ายตามที่รัฐต้องจ่าย เงินสดไม่พอก็ต้องกู้
ดังนั้น เพื่อให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอกับการเบิกจ่ายของหน่วยงาน และสอดคล้องกับมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่จำเป็นเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการเบิกจ่าย
จึงจำเป็นต้องดำเนินการกู้เงิน เพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) เพิ่มเติม
ตามมาตรา 7 มาตรา 20 (1) และมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ กำหนดกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไว้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ และร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น
หรือเท่ากับ 683,093.92 ล้านบาท
โดยในปีงบประมาณ 2563 มีวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณแล้ว จำนวน 469,000 ล้านบาท จึงเหลือวงเงินกู้สำหรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไม่เกิน 214,093.92 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอให้บรรจุเพิ่มเติมไว้ในแผนฯ
จะเห็นว่าแม้ว่า ครม.จะอนุมัติให้มีการเปิดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปีงบ 63 เป็นวงเงิน 214,093.92 ล้านบาท แต่เมื่อคาดว่าจะเก็บภาษีได้น้อยกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 394,400 ล้านบาท
จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า รัฐบาลอาจต้องกู้เงินเพิ่มเติมในส่วนที่เหลืออีก 180,307 ล้านบาท เพื่อนำมาปิดหีบงบประมาณปี 63
และเนื่องจากการกู้เงินภายใต้กรอบงบประมาณปี 63 เต็มกรอบวงเงินแล้ว จึงต้องไปกู้เงินในปีงบประมาณ 64 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63
ก็ต้องมาดูงบปี 64 ว่ามีเงินพอไหม
รัฐบาลกำหนดกรอบงบประมาณใช้จ่ายสำหรับปี 64 ไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท
มีภาระกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 623,000 ล้านบาท
หากการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 2,677,000 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบโควิดจะทำให้ในปีงบ 64 รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก
สัญญาณว่าจะมีปัญหาเริ่มขึ้นแล้ว เพราะคุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า
"ปีงบ 64 เป็นอีกหนึ่งปีที่น่าเป็นห่วง สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร เนื่องจากทั้งผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นฐานรายได้หลักยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด โดยปีงบ 64 กรมฯ ได้รับเป้าหมายให้จัดเก็บรายได้ 2 ล้านล้านบาท"
ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 ประเมินสถานการณ์เรื่องรายจ่ายสูงกว่ารายได้ แล้วมีคำสั่งให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดทำ "แผนบริหารความเสี่ยง" เพื่อรองรับกรณีที่หนี้สาธารณะอาจเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่ากรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด
รวมทั้งพิจารณาหารายได้จากสินทรัพย์อื่นๆ ของรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อลดภาระการใช้เงินกู้ของรัฐบาลในอนาคตด้วย
แน่นอนว่าหากวิกฤตการณ์โควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ (ซึ่งก็มีแนวโน้มเช่นนั้น) ก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
นั่นแปลว่าปีงบ 64 เป็นอีกปีหนึ่งที่รัฐบาลต้องเผชิญกับภาวะ "ถังแตก" อย่างปฏิเสธไม่ได้!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |