วันนี้ - นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. จัดอบรมเสริมสร้างศักยภาพหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Unit : EPU) ซึ่งเป็นหน่วยงานร่วมระหว่าง คพ.สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-16 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อจัดการเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษแก้ปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ตลอดจนสามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับแแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
นายประลอง กล่าวว่า แนวทางการดำเนินการจัดการร้องเรียนด้านมลพิษ ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ ด้านกฎหมาย ซึ่งมี พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ระบุถึงหลักปฏิบัติและหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ด้านกระบวนการจัดเรื่องร้องเรียนมลพิษ ตรวจสอบการประกอบกิจกรรมของโรงงานตรวจสอบการขออนุญาตในการประกอบกิจการร่วมกับการใช้เครื่องมือเบื้องต้น เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดมลพิษ ร่วมกับการตรวจวัดมลพิษภายในและภายนอกโรงงาน โดยเทียบกับค่ามาตรฐาน และด้านอุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษ เช่น เครื่องมือตรวจวัดฝุ่นละอองในบรรยากาศขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เครื่องวัดก๊าซพิษ เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำหลายตัวแปร และเครื่องตรวจวัดเสียง เป็นต้น
" จากสถิติการร้องเรียนปี 2561 มีการร้องเรียนปัญหามลพิษในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 14,442 ครั้ง ต่อมาในปี 2562 มีการร้องเรียนจำนวน 16,898 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมากว่า 2000 ครั้งโดยที่ผ่านมาเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นมีหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและแก้ปัญหาจึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน แต่มลพิษบางประเภทรอไม่ได้ หากปล่อยไว้นาน อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ดังนั้น การพัฒนาเครือข่ายในรูปแบบหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPU) ให้มีศักยภาพความพร้อมทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนปัญหามลพิษให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ " นายประลอง กล่าว