อดีต ส.ส.ระยอง ปชป.โต้ลั่นไม่มีความคิดในสมองที่จะไปร่วมรัฐบาล คสช. เหน็บซัด "ประยุทธ์" ทำ ปชช.ผิดหวัง ถ้าหนุนเป็นนายกฯ อีกรอบใครจะเลือกตนเอง "เพื่อแม้ว" ประชดดูดกันสุดๆ ไปเลย ฟุ้งสมาชิกก็ถูกดูด แต่ยังยืนหยัดแสดงตัวตนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ "สุริยะใส" เตือน คสช.เดิมพันสนามเลือกตั้งอาจยากกว่ารัฐประหาร "อลงกรณ์" ยกบทเรียนอดีตไม่เชื่อการเมืองแบบเก่าจะสร้างระบบใหม่ได้ โพลชี้ตั้งสองพี่น้องคุณปลื้มสร้างแนวร่วมขยายอำนาจหนุนปลดล็อกไม่มีเงื่อนไข
เมื่อวันอาทิตย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีต ส.ส.ระยอง โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ภายหลังแกนนำพรรคพลังชลถูกดึงตัวไปร่วมงานกับรัฐบาล คสช. นำไปสู่การคาดการณ์ว่า ส.ส.ปชป.ภาคตะวันออก เช่น นายสาธิต จะถูกดึงไปร่วมงานด้วย โดยมีใจความว่า ไม่มีความคิดนี้ในสมองเลย ผมเริ่มต้นและเติบโตในพรรค "ประชาธิปัตย์" จากเป็น ส.ส.สมัยแรกและเติบโตมาเป็น กก.บห.ของพรรค มีตำแหน่งทางการเมืองตามลำดับ สุดท้ายในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ซึ่งถ้าผมอยู่พรรคการเมืองอื่นคงเป็นไปได้ยากมาก เพราะผมเป็น ส.ส. บ้านนอก ไม่ได้มีเงินมากมายที่จะดูแล ส.ส.เป็นมุ้งหรือก๊วน
"แต่เพราะผมอยู่พรรคการเมืองที่ชื่อ "ประชาธิปัตย์" ซึ่งเป็นสถาบันทางการเมือง มีความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค ผมได้รับการเลือกตั้งจากเพื่อนๆ ส.ส.ด้วยกัน อดีต รมต.ของพรรค ประธานสาขาพรรค ตัวแทนท้องถิ่นและตัวแทนสมาชิกพรรค จากทั่วประเทศเลือกตั้งผมมาให้มีตำแหน่ง "รองหัวหน้าพรรค" ซึ่งผมมีความภาคภูมิอย่างมากที่ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนี้ จึงพูดได้เลยว่าเรื่องการย้ายพรรคไปจากพรรค "ประชาธิปัตย์" คงไม่มีทางเป็นไปได้เลย" นายสาธิตระบุ
นายสาธิตระบุอีกว่า ผมได้รับฟังเสียงความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งใน จ.ระยองเอง และทั่วๆ ไป เขาสะท้อนได้ถึงความเดือดร้อนในเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง การทำมาหากินของเขา รายได้ต้องลดลง บางรายต้องตกอยู่ในสภาวะเป็นหนี้เป็นสิน มีความยากลำบาก รัฐบาลไม่ยอมรับฟังเสียงความเดือดร้อนของพวกเขา เขาเสียใจ เจ็บช้ำน้ำใจจากการที่สนับสนุนรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ ในตอนแรกที่เข้ามามีอำนาจ หวังให้ทำเรื่องที่สำคัญให้ประเทศถึงแม้เขาจะยากจนก็ตาม เช่น เรื่องปราบทุจริต แก้เรื่องความขัดแย้งของคนในชาติ และปฏิรูปประเทศด้านสำคัญๆ แต่ปรากฏว่าไม่เกิดขึ้นเลยหลังจากผ่านมาแล้ว 4 ปีเต็มๆ แถมยังมีข่าวหนาหูและปรากฏหลักฐานในคนใกล้ตัวว่ากลับเป็นเสียเอง อันนี้ยิ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เสียใจอย่างมาก
"แล้วถ้าผมย้ายพรรคไปอยู่กับพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกรอบ แถมทำตัวว่าทำท่าจะมีลักษณะพฤติกรรมการเมืองแบบเก่าที่ท่านประยุทธ์เคยด่าว่าเป็นนักการเมืองเลว และยังส่อจะเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นในหลายๆ เรื่องอีก แล้วจะมีประชาชนที่ไหนมาเลือกผม” นายสาธิตระบุ
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีการดึงตัวนักการเมืองเข้าร่วมงานกับรัฐบาล คสช.อย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศเลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ก็มีตัวแปรและปัจจัยแทรกซ้อนอีกมาก ดังนั้นระหว่างการรออะไรที่ไม่มีเป้าหมาย กับการรีบร้อนเข้าไปรับตำแหน่งตามที่เป็นการรับมัดจำเพื่อให้มีหลักประกัน แม้เสี่ยงกับการขึ้นรถผิดคัน แต่เมื่อกลัวตกรถก็ต้องยอม การโชว์พลังดูด แม้จะดูเป็นการเมืองโบราณย้อนยุค แต่ใครอยากดูดใคร พรรคไหน กลุ่มใด อยากถูกดูด อยากเข้าไปหางานทำ เอาให้เต็มที่ ดูดกันให้สุดๆ ไปเลย ซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนว่าแต่ละพรรคมีจุดยืนอย่างไร ประชาชนจะตัดสินใจได้ง่ายระหว่างพรรคที่ต้องการสนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจกับพรรคที่ชูธงประชาธิปไตย
เพื่อแม้วฟุ้งดูดไม่สำเร็จ
"รัฐบาล คสช.อยู่มา 4 ปี ปัญหาข้าวยากหมากแพง ปากท้องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในระดับเศรษฐกิจฐานรากได้รับผลกระทบ ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันระบาด พล.อ.ประยุทธ์โชคดีที่คนไทยมีความอดทนสูง ผมดีใจที่นายแจ็ก หม่า มาลงทุนในประเทศไทย แต่อย่าไอโอหรือพีอาร์เกินเหตุ เพราะมันยิ่งสะท้อนว่ารัฐบาล คสช.ทำอะไรไม่ได้แล้วหรือ เลยต้องไปหาคนอื่นมาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ลองหาเวลาไปเดินตลาดแบบไม่จัดฉากหรือไม่ผักชีโรยหน้าดูบ้าง จะได้รู้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวที่ออกมาเหมือนจะดี มันไม่ได้สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง รัฐบาล คสช.พยายามสืบทอดอำนาจก็ทำหรือไม่ แต่ขอเตือนว่าอย่าเหยียบย่ำหัวใจประชาชน" นายอนุสรณ์กล่าว
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง อดีต ส.ส.นครราชสีมา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินเกมดูดอดีต ส.ส. สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการเล่นการเมืองแบบเดิม ไม่ได้เป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่หรือมิติใหม่ทางการเมือง และเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตัวให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนไปเลยว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เพื่อเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างสง่างาม เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจง่ายว่าจะเลือกพรรค คสช.หรือจะเลือกพรรคการเมืองที่ยืนหยัดอยู่ข้างประชาธิปไตยมาตลอดอย่างพรรคเพื่อไทย
"มีความพยายามจะดูดอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าไปร่วมกับพรรค คสช.และพรรคพันธมิตร คสช. แต่จนถึงขณะนี้ ทุกคนก็ยังยืนหยัดเหนียวแน่นกับพรรค เมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อดีต ส.ส.ของพรรคมีการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยครบ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองหน้าใหม่และคนรุ่นใหม่แจ้งความจำนงจะลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทยอีกจำนวนมาก เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาอดีต ส.ส.ของพรรคและทุกภาคได้ลงพื้นที่พบปะรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชนทุกด้านเพื่อเก็บข้อมูลมาเตรียมกำหนดเป็นนโยบายของพรรค เมื่อคสช.ปลดล็อก พรรคก็จะประกาศนโยบายที่จับต้องได้ แก้ปัญหาให้กับประชาชนในแต่ละด้านได้จริง ซึ่งมั่นใจว่านโยบายของพรรคจะโดนใจของประชาชนอย่างแน่นอน" นายประเสริฐกล่าว
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 4 ปี คสช.และแม่น้ำ 5 สาย ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ส่งผลให้ไทยเชื่อถืออะไรไม่ได้ วางแผนล่วงหน้าไม่ได้ ไร้ความเชื่อมั่นสิ้นเชิง ล่าสุดกรณี สนช.ล้มการสรรหา กสทช. หนีไม่พ้นข้อครหาต้องการคุมสื่อเบ็ดเสร็จ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาทำความเสียหายทำให้ประเทศไร้ความเชื่อมั่น นอกจากไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างปรองดองอย่างแท้จริง ยังไปตีท้ายครัวของพรรคการเมืองอื่น ด้วยการที่ตนเองและคณะไปตีกอล์ฟได้ แต่พอสมาชิกพรรคการเมืองจะไปบ้างในสถานที่เดียวกัน ก็ปรามว่าระวังจะผิดกฎหมาย พฤติการณ์ที่ไม่มีน้ำใจอย่างนี้หรือจะเอื้อต่อการเชิญชวนให้พรรคการเมืองไปร่วมเสวนาด้วย เพราะท่านไม่ได้วางตนเป็นกลาง ไม่ได้วางตนเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่จะบริหารจัดการเลือกตั้งให้เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชนและชาวโลก ยังมีกรณีที่ทำลายความเชื่อมั่นประเทศอีกมาก ซึ่งก็จนใจ ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมยังทนนั่งอยู่ในอำนาจบนความทุกข์ยากของประชาชนอยู่ได้
สนามเลือกตั้งยากกว่ารัฐประหาร
ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า การดูด ส.ส.กลุ่มต่างๆ เพื่อตั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แม้กลายเป็นเรื่องปกติในวิถีการเมืองไทยที่ทำกันมาแทบทุกยุคสมัยเพื่อช่วงชิงอำนาจการเมือง แต่ก็ไม่ควรมองข้ามบทเรียนในอดีต ที่มักจะเป็นแค่พรรคเฉพาะกิจ อาจประสบความสำเร็จในช่วงสั้นๆ แต่ระยะยาวก็ล้มเหลว ฉะนั้นพรรคที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน คสช.หรือ พล.อ.ประบุทธ์ ต้องศึกษาบทเรียนจากในอดีต ถ้าตั้งธงจะปฏิรูปประเทศกันหลังเลือกตั้ง หรือสานต่องานปฏิรูปที่รัฐบาลชุดนี้คิดว่าได้วางไว้ ก็ต้องทำให้โครงสร้างของพรรคหรือการจัดขั้วอำนาจเพื่อรองรับรัฐบาลหลังเลือกตั้งให้ความหวังกับประชาชนได้มากกว่าวิธีแบบนี้
"บรรยากาศการดูดและกวาดต้อน ส.ส. สะท้อนสมการอำนาจที่ยังไม่เปลี่ยน ยังวนอยู่ในกับดักเดิม อาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศจะดีขึ้น พรรคที่ คสช.สนับสนุนน่าจะมีความได้เปรียบกว่าทุกพรรค แต่อาจจะกระทบภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือได้ เพราะประชาชนมองว่าเป็นวิธีเก่าๆ และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองที่ผ่านมา ความคาดหวังต่อพรรคการเมืองนั้น คงไม่มีใครอยากเห็นแต่ภาพนักการเมืองหน้าเดิมๆ สลับหน้ากันอยู่ในกลุ่มและเครือข่ายเก่าๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองล้มเหลว ถ้า คสช.คิดจะตั้งพรรค ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ควรมีอะไรใหม่ๆ มาเสนอประชาชนด้วย เพราะเดิมพันในสนามเลือกตั้งอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด และอาจยากกว่าการทำรัฐประหาร" นายสุริยะใสระบุ
ส่วนนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ในอดีตมี 2 รัฐบาลที่เคยใช้โมเดลการรวมกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆจัดตั้งรัฐบาล แม้จะสำเร็จได้เป็นรัฐบาล แต่ได้สร้างระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองและการผูกขาด ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมล้มเหลว เพราะฐานการเมืองเหล่านั้นส่วนใหญ่ต้องใช้ทุนในการเลือกตั้ง จึงหาเงินด้วยการคอร์รัปชันพร้อมกับรับเงินและหากินกับทุนใหญ่ โดยผู้นำรัฐบาลต้องปิดตาข้างเดียว ทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนในสภา จึงเกิดระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของกลุ่มการเมืองและกลุ่มนายทุนผูกขาด หาใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ ระบบอุปถัมภ์รูปแบบนี้มีมาอย่างยาวนาน จึงเสนอแนวทางปฏิรูปเชิงโครงสร้างและระบบเพื่อสร้างระบบการเมืองใหม่
"ถ้าสร้างระบบการเมืองที่ดีไม่ได้ นักการเมืองจะถูกระบบกลืนกิน สูญสิ้นอุดมการณ์ ถึงกับต้องทุจริตโกงภาษีของประชาชน โดยเฉพาะในระยะหลัง ในสภาผู้แทนฯ ต้องขายงบขายโครงการกินเปอร์เซ็นต์ จะปล่อยให้ประเทศชาติเป็นแบบนี้ และจะทำเช่นนี้อีกต่อไปหรือ กว่า 20 ปีที่อยู่กับระบบการเมืองแบบนี้ จึงไม่เชื่อว่าการเมืองเก่าจะสร้างระบบการเมืองใหม่ได้ในระยะยาว ลองทบทวนความผิดพลาดในอดีต ก็จะมองเห็นและเข้าใจโจทย์ใหญ่ข้อนี้ ประการสำคัญคือความสำเร็จของประเทศชาติควรเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ใช่ความสำเร็จของผู้นำทางการเมืองบางคนบางพรรคเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เช่นบทเรียนของ 2 รัฐบาลในอดีต เราไม่ควรเดินหลงทางอีกต่อไป“ นายอลงกรณ์กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลลงพื้นที่ไหน จะดึงนักการเมืองเจ้าพื้นที่นั้นมาเข้าร่วมว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นที่เขาวิจารณ์ และไม่ใช่ว่าจะสุ่มสี่สุ่มห้าไปที่ไหน แต่ไปในพื้นที่ที่มีการกำหนดวาระไว้ล่วงหน้า วันนี้มีการมองไปถึงช่วงเดือน พ.ค.และ มิ.ย.ว่าจะไปพื้นที่ใด เพื่อดูปัญหาอะไร ไม่เกี่ยวกับการไปดึงไปดูดใคร ที่นักการเมืองตั้งข้อสังเกตนั้น ก็ตั้งกันอยู่ทุกวัน และที่กล่าวหาว่าเอาเปรียบนั้น ถามว่าจะให้รัฐบาลนั่งนิ่งเฉยๆ ปิดประตูอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องบริหารราชการหรืออย่างไร เพราะการลงพื้นที่คือ การบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าไม่ทำนั่นจะถือว่าผิด
โพลชี้ดูดเพื่อขยายอำนาจ
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,088 คน ระหว่างวันที่ 18-21 เม.ย.61 กรณีการแต่งตั้งนักการเมืองเข้ามาทำงานกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สรุปผลได้ดังนี้ เมื่อถามว่าประชาชนคิดอย่างไรกับ “กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองอย่างร้อนแรง” ในขณะนี้ โดยเมื่อถามถึงกรณีแต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้านการเมือง พบว่า อันดับ 1 รัฐบาลต้องการดึงพรรคการเมืองเข้ามาร่วมทำงานสร้างแนวร่วม 40.20%, อันดับ 2 เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองขยายอำนาจ 33.01%, อันดับ 3 ต้องรอดูท่าที และผลงานว่าจะเป็นอย่างไร 28.10% ส่วนกรณีแต่งตั้งนายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อันดับ 1 ไม่อยากให้มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง 40.78%, อันดับ 2 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ต้องการสร้างฐานเสียง 30.14%, อันดับ 3 เป็นคนที่มีประสบการณ์ มีผลงาน ขอให้ตั้งใจทำงาน 29.43%
ส่วนแต่งตั้งนายสกลธี ภัททิยกุล เป็นรองผู้ว่าราชการ กทม. อันดับ 1 เป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง มีความใกล้ชิดกับนายสุเทพ 35.85%, อันดับ 2 รอพิสูจน์ผลงาน ควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 33.21%, อันดับ 3 อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน 31.32%
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรปลดล็อกทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข 44.47% เพราะ เป็นประชาธิปไตย เกิดความเท่าเทียม พรรคการเมืองมีอิสระ ทำกิจกรรมได้ ช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล ได้เห็นท่าทีของแต่ละพรรค ฯลฯ และควรปลดล็อกแต่มีเงื่อนไข 36.45% คือ มีกฎเกณฑ์ร่วมกัน ไม่สร้างความขัดแย้ง วุ่นวาย ต้องแสดงความโปร่งใส กำหนดขอบเขต บทลงโทษ ที่ชัดเจน ฯลฯ ขณะที่ไม่ควรปลดล็อก 19.08% เพราะ อาจเกิดการเคลื่อนไหว ชุมนุม ประท้วง บ้านเมืองไม่สงบ วุ่นวาย รัฐบาลอาจควบคุมดูแลยาก ฯลฯ
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสวนดุสิตโพลระบุว่า ประชาชนหนุนให้รัฐบาล คสช.ปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไขว่า โพลที่ว่าไปสอบถามจากใคร เพราะปัจจุบันโพลมีอยู่หลายโพลด้วยกัน ดังนั้นต้องไปดูว่าเขาไปสอบถามจากใครบ้าง ขณะนี้มีตารางอยู่แล้วว่ากำลังจะมีการเชิญหารือกันในช่วง มิ .ย.นี้ เมื่อมีการหารือเสร็จ จะได้ข้อสรุปว่าตกลงจะทำอย่างไรกันต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีโพลสะท้อนด้วยว่าการที่รัฐบาลดึงพรรคการเมืองและนักการเมืองเข้ามาร่วมทำงานในรัฐบาลเป็นการสร้างแนวร่วมการทางการเมืองในอนาคตเพื่อรองรับพรรคทหาร พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า บุคคลส่วนใหญ่ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คือ พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง นักการเมืองทั้งเก่าและใหม่ ดังนั้นเราไปห้ามเขาไม่ได้ว่าจะมีมุมมองอย่างไร แต่สิ่งที่นายกฯ ชี้แจงต่อสื่อมวลชนไปแล้วคือ เป็นเรื่องของกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้เสนอเข้ามา
"หลักการที่นายกฯ ให้คือ เราไม่ได้สนใจว่าเขาเป็นนักการเมืองหรือไม่ ขออย่างเดียวคือให้มีประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าย้อนกลับไปดูสมัยก่อนที่การเมืองยังปกติกันอยู่ ถามว่าพรรคการเมืองทั้งหลายมีปฏิบัติอย่างนี้กันหรือไม่ ย้ายจากพรรคนี้ไปพรรคนั้น จากพรรคนั้นโยกไปพรรคนี้ ก็มีอยู่ใช่หรือไม่ ฉะนั้นอย่าไปคิดให้ทุกอย่างเป็นการเมือง ต้องรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน" พล.ท.สรรเสริญกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |