นายกฯ และ รมว.กลาโหมแนะกลุ่มค้านซื้อเรือดำน้ำ เปิดระเบียบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังดูบ้าง ลั่นทหารเรือยอมเสียสละถอยอีกครั้ง ทั้งที่จำเป็นต่อการป้องกันผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ยันไม่ได้เอาไปรบกับใคร เพียงเพื่อป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่รัฐสภาแห่งใหม่เกิดปัญหาไม่เลิก ท่อรั่วน้ำทะลักท่วม โกลาหลกันครึ่งค่อนวัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่ทำเนียบฯ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่าเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ กรุณาดูที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดไว้ด้วย ทุกงบประมาณของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จะใช้อะไรได้บ้าง ตนชี้แจงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของ กมธ.งบฯ ที่จะพิจารณา ต้องดูว่าโครงการไหนจะนำไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเรือยอมเสียสละมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว ต้องมองตรงนี้ด้วย เหตุผลความจำเป็นก็มีแล้ว
"ตรงนี้ผมพูดในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยบอกไปแล้วต้องพัฒนากองทัพให้สามารถรับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะมีปัญหาพื้นที่ทางทะเลอยู่จำนวนมาก ซึ่งมันต้องมาถึงเราในไม่นานนี้ ถ้าทุกคนติดตามข่าวสารบ้านเมืองต่างประเทศดู รวมถึงปัญหาโควิด-19 ด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
รมว.กลาโหมกล่าวต่อว่า ทหารเรือเขาเสียสละ ต้องลองนึกถ้ามันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้แล้วซื้อมา ถามว่าแล้วทหารเรือจะลงไปอยู่ในเรือดำน้ำหรือไม่ จะอยากลงไปอยู่ในเรือดำน้ำไหม 21 วัน ก็ไม่มี แสดงว่าเขาก็มีความเสียสละของเขาไม่ใช่หรือ ในการรักษาอาณาเขตน่านน้ำไทย ต้องมองตรงนี้ด้วย อยากให้ไปมองในประเด็นของภูมิภาคด้วย ความขัดแย้งยังมีอยู่ทางทะเล ไม่ใช่เฉพาะภูมิภาคเรา หลายภูมิภาคในโลกนี้มีทั้งนั้น
"อย่าคิดว่ามันไม่มี แต่ทำอย่างไรมันจะไม่เกิดขึ้น การใช้กำลังอาวุธจะไม่เกิดขึ้น มันต้องมีมาตรการเพิ่มศักยภาพบางอย่างขึ้นมาให้เกิดความทันสมัย เกิดความร่วมมือมากยิ่งขึ้น เกิดความเกรงใจ มันแค่นั้น ไม่ใช่มีอุปกรณ์ไว้รบราฆ่าฟัน หลายคนบอกว่าจะไปรบกับใคร ขอให้คนพูดไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนในการพูดจาอะไรต่างๆ" รมว.กลาโหมระบุ
นายกฯ และ รมว.กลาโหมกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนกังวลอีกอย่างคือการพิจารณาต่างๆ ของ กมธ.ในสภา วันนี้การพูดในสภามีการแพร่ออกมาภายนอก ทำให้เกิดความเสียหาย อาจจะไม่ผิดอะไร แต่ต้องคิดว่าสมควรหรือไม่ ฉะนั้นคนที่ฟังกรุณาฟังแล้วใช้สติในการฟังและเชื่อ ไม่ใช่เชื่อทุกอย่าง รัฐบาลไม่สามารถจะไปโต้ตอบในสิ่งที่เป็นนอกกรอบได้ มันอยู่ที่ กมธ.แต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบในการที่จะพูดจาอะไรต่างๆ ออกมา และหลายๆ อย่างมีการแอบแฝงทั้งสิ้น ที่ออกมาทั้งหมดส่วนใหญ่จะออกมาทางโซเชียล แต่ก่อนเราไม่มีในการที่จะแพร่ออกมาอย่างนี้ แต่นี่พูดปั๊บออกมาเลย ออกสดอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ได้ เป็นหลักจริยธรรม ตนคิดอย่างนั้น ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของตนก็แล้วกัน
ขณะที่ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กล่าวถึงงบประมาณการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำว่า กมธ.งบฯส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเหตุผลและความจำเป็นของรัฐบาลในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งต่อมาที่ประชุม กมธ.ได้รับหนังสือที่ลงนามโดย พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ ทำการแทนผู้บัญชาการทหารเรือ ว่าขอปรับลดงบในการจัดหาเรือดำน้ำ จำนวน 2 ลำ ในปีงบประมาณ 2564 ทั้งหมด คงเหลืองบประมาณในปีงบประมาณ 2464 จำนวน 0 ล้านบาท โดยที่ประชุมก็ได้มีมติตามหนังสือดังกล่าว
นายสัมพันธ์กล่าวต่อว่า ต้องขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกองทัพ ที่ยอมเลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำออกไปอีก 1 ปี ซึ่งตนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯที่พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และมองให้รอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจ
ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 กล่าวว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมาธิการชุดต่างๆ 8 ชุด ได้สรุปรายงานผลการปรับลดงบประมาณต่อกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายชุดใหญ่เสร็จสิ้นทุกคณะอนุกรรมาธิการฯ แล้ว ที่ประชุม กมธ.ชุดใหญ่มีมติปรับลดงบประมาณรวมทั้งสิ้น 31,965,549 ล้านบาท โดยคณะอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ที่มีตัดงบซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำนั้น ถูกปรับลดประมาณ 4,501 ล้านบาท ในการประชุม กมธ.งบประมาณวันที่ 1 ก.ย. จะพิจารณารายการแปรญัตติจากหน่วยงานต่างๆ ขณะนี้รัฐบาลได้แปรญัตติขอเพิ่มงบประมาณเข้ามาแล้ว อาทิ ขอเพิ่มงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน และค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งกรรมาธิการจะพิจารณาต่อไป
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ภายหลังฝนตกกระหน่ำทั่วกรุงเทพฯ อย่างหนักในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 1 ก.ย. ทำให้ท่อน้ำเดรนซึ่งเป็นท่อระบายน้ำภายในห้องเซิร์ฟเวอร์ระบบกล้องวงจรปิด ตึกวุฒิสภา ชั้น 1 ด้านฝั่งตรงข้ามกับไปรษณีย์สาขารัฐสภา เกิดรูรั่วขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ ตั้งแต่เวลา 03.00-04.00 น.โดยประมาณ จนน้ำท่วมสูงระดับเอว และไหลซึมออกตามซอกประตู เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจรีบทุบลูกบิดประตู เนื่องจากเกรงว่าระดับน้ำจะท่วมถึงแผงวงจรควบคุมระบบกล้องวงจรปิด ทำให้น้ำในห้องไหลทะลักออกมาท่วมเจิ่งนองบริเวณโถงชั้น 1
ครั้นถึงช่วงเช้าที่ข้าราชการมาทำงาน ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีการขนโพเดียมและโซฟาที่ตั้งอยู่บริเวณโถงอาคารหนีน้ำ พร้อมทั้งสั่งปิดลิฟต์ที่ทางเข้า-ออกหลักของอาคาร จำนวน 8 ตัว เนื่องจากเกรงว่าน้ำจะส่งผลต่อการทำงานของลิฟต์ โดยเจ้าหน้าที่ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยอุดรูรั่วบริเวณท่อน้ำเดนไว้ชั่วคราวก่อนที่จะเชื่อมท่อใหม่อีกครั้ง ด้านพนักงานทำความสะอาดก็เร่งเช็ดทำความสะอาดน้ำที่เจิ่งนองไปทั่วห้องโถง กระทั่งเวลา 09.00 น. สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า น้ำท่วมช่วงเวลา 04.00 น. บริเวณอาคารรัฐสภาด้านติดบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ฯ และเมื่อดูจากคลิปวิดีโอก็มีน้ำท่วมไหลลงมาจำนวนมาก จึงสั่งให้รีบหาสาเหตุทันที โดยนายช่างรายงานว่าท่อระบายน้ำฝนขนาดใหญ่ซึ่งต่อจากชั้น 7 ลงมาชั้น 1 โดยสันนิษฐานว่าน้ำฝนพัดเศษอิฐปูนจากชั้น 7 ลงมากระแทกข้องอชั้น 1 ที่ต่อเพื่อระบายน้ำสู่ชั้นใต้ดิน ทำให้ข้องอแตก จึงเกิดน้ำรั่วขนาดใหญ่ และเมื่อเวลา 6.00 น. ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเอาถุงทรายไปปิดช่องระบายน้ำฝนที่ชั้น 7 ซึ่งขณะนี้ไม่มีน้ำไหลลงมาแล้ว โดยให้สำนักรักษาความปลอดภัยทำรายงานเพื่อชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นายสรศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์คุณภาพของอาคารที่ใช้งบประมาณก่อสร้างถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทนั้น ทางสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ปล่อยปละละเลย ซึ่งโดยปกติอาคารใหม่ทุกที่จะต้องมีการทดสอบอาคารก่อนประมาณ 2 เดือน เพื่อตรวจดูและจะได้ซ่อมแซมปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกที่ก็พบความไม่สมบูรณ์และต้องดำเนินการแก้ไข แต่ยอมรับว่าอาคารรัฐสภามีความจำเป็นต้องเข้าใช้อาคาร โดยไม่มีการทดสอบได้ดีเท่าที่ควร เพราะหากไปเช่าใช้อาคารที่อื่น จะต้องเสียงบประมาณหลายร้อยล้านบาท แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังอยู่ในเงื่อนไขที่บริษัทผู้ก่อสร้างจะต้องรับผิดชอบภายใน 2 ปี นับแต่วันส่งมอบพื้นที่
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พูดถึงเรื่องนี้ว่า ได้รับรายงานจากนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ แล้ว ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งนี้มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท ไม่ใช่แสนล้านตามที่เป็นข่าว ซึ่งขณะนี้ยังก่อสร้างไม่เสร็จ โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ตนได้ตรวจสอบการก่อสร้างซึ่งมีความก้าวหน้าไปพอสมควรแล้ว และที่ค่อนข้างเรียบร้อยแล้วคือห้องทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ เมื่อครบสัญญาในสิ้นปีนี้ จะไม่มีการต่อสัญญาอีก ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเกิดขึ้น โดยขณะนี้ทราบมาว่าผู้รับเหมาระดมคนงานกว่า 4,000 คนมาเร่งก่อสร้างให้เสร็จ ซึ่งก็จะทำงานได้เร็วขึ้น
นายชวนกล่าวต่อว่า ยังมีเวลาตั้งแต่เดือนนี้จนถึงเดือนธันวาคม งานหลักๆ ก็ผ่านไปแล้ว แต่ยอมรับว่าอาคารรัฐสภายังมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องอยู่มาก แต่คงต้องรอให้การก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน เพราะในขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องของสัญญา แต่เมื่อครบสัญญาแล้วจะต้องเข้าไปตรวจดูว่ามีจุดใดต้องแก้ไขบ้าง เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงผู้รับเหมาดูแลรับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์น้ำท่วมนี้ ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมโซเชียลฯ โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ไปหลายหมื่นล้านบาท แต่กลับเกิดปัญหาเช่นนี้ให้เห็น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |