ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลยื่นแล้ว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.จำนวน 200 คน มาจากเลือกตั้ง 150 คน และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยคัดเลือก 20 คน รัฐสภาเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ 20 คน อีก 10 คนเป็นโควตาของนักเรียน นิสิต นักศึกษา วางกรอบเวลายกร่าง 240 วัน เมื่อแล้วเสร็จนำเข้ารัฐสภา หากไม่ผ่าน ให้ประชาชนลงประชามติตัดสิน
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่รัฐสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย และนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา นำรายชื่อ ส.ส.รัฐบาล 206 คนยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
นายวิรัชกล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขเพียงร่างเดียว แสดงให้เห็นว่าเรายังเหนียวแน่น และได้คุยกับสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) บ้างแล้ว แต่ยังไม่ขอพูดถึงรายละเอียด
ผู้สื่อข่าวถามว่าสัญญาณจาก ส.ว.ดีหรือไม่ นายวิรัชบอกว่าสัญญาณยังไม่ค่อยชัด ต้องรอดูการอภิปรายวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ก่อนว่าทั้ง ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.จะมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร จะทำอย่างไรให้มุมมองที่แตกต่างมารวมกันเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกัน ยืนยันว่า 1 ปีที่แล้ว เราเห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายจุด จึงใช้โมเดล ส.ส.ร. โดยรัฐสภามีหน้าที่ไกด์ไลน์ให้ ส.ส.ร.เท่านั้น
ด้านนายชวนกล่าวว่า ตามขั้นตอนจะต้องมีการบรรจุระเบียบวาระภายใน 15 วัน และต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 1 คณะ ตามสัดส่วนของแต่ละพรรค และ ส.ว. แต่จะมีคนนอกเข้าร่วมเป็น กมธ.วิสามัญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภา เช่นเดียวกับเรื่องการจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใด ระหว่างฉบับพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นหลัก ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของรัฐสภาเช่นกัน
ขณะที่นายชินวรณ์กล่าวว่า สำหรับกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. 200 คนตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แบ่งเป็น 1.การเลือกตั้งโดยตรง อย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน รวม 150 คน 2.มาจากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย จำนวน 20 คน 3.รัฐสภา เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เรื่องกฎหมายมหาชน และการบริหารราชการแผ่นดิน 20 คน และ 4.ตัวแทนจากนิสิต นักศึกษา 10 คน โดยเมื่อมีการตั้ง ส.ส.ร.แล้ว จะมีเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 240 วัน เมื่อเสร็จส่งกลับมายังรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ หากไม่ผ่านความเห็นชอบจะต้องเข้าสู่กระบวนการการทำประชามติต่อไป
เมื่อถามว่า เหตุใดเมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้ว จะต้องนำกลับมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบอีก นายชินวรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันยังมีรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน จึงเห็นควรให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ
นายนิกรอธิบายว่า การให้รัฐสภาให้ความเป็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย เป็นไปตามแนวทางเมื่อครั้งมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อปี 2539 ซึ่งกำหนดให้ภายหลังที่ ส.ส.ร.ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเสร็จแล้วก็กลับมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งเราเห็นว่าขั้นตอนดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญให้การยอมรับมากที่สุด
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่า กันยายนเป็นเดือนวัดใจ จากนี้ไปจนถึง 30 ก.ย. ต้องตามสถานการณ์อย่างไม่กะพริบตา ที่เห็นวันนี้เหมือนไม่มีอะไร แต่กลิ่นอายรัฐประหารจะมาก่อนเสมอ เนื่องจากเดือนกันยายนจะเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว แล้วไปเต็มที่ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ การรัฐประหารไม่มีใครพูดได้เลยว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก เห็นปรากฏการณ์มาหลายครั้ง เมื่อมีการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว แล้วมีอีกกลุ่มชื่อไทยภักดี จึงเป็นปรากฏการณ์ของความขัดแย้งแล้ว จากนั้นความแตกแยกจะถูกอ้างถึง
"พูดไม่ได้ให้เกิดความกลัว แต่จะบอกว่าการต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้จะมีออกมามากมาย ดังนั้นเดือนกันยายนจึงวัดใจกันอย่างยิ่ง ถ้าเลือกแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยฝ่ายการเมืองเอากันอย่างจริงจัง ผ่านรัฐสภาอย่างรวดเร็ว ไม่เล่นแร่แปรธาตุแล้ว อย่างน้อยจะชะลอรัฐประหารได้บ้าง" นายจตุพรกล่าว
วันเดียวกัน ที่ สน.สำราญราษฎร์ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผบก.น.6) เข้าสอบปากคำ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ อั๋ว แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) หนึ่งใน 15 ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา กรณีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัว น.ส.จุฑาทิพย์ไปฝากขังยังศาลอาญา ถนนรัชดาฯ โดย น.ส.จุฑาทิพย์พยายามเดินมาทางฝั่งที่สื่อและมวลชนคอยอยู่นอกรั้ว พร้อมระบุว่าตนถูกคุกคามตั้งแต่หน้าหอพัก การสาดสีไม่ใช่ความรุนแรง ขอให้ทุกคนออกมาสาดสี ก่อนจะชูหนังสือชื่อเรื่อง “สามัญสำนึก” แล้วขึ้นรถควบคุมตัวผู้ต้องหาเดินทางออกไปทันที
ทั้งนี้ ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาไม่ประสงค์ให้การใดๆ ต่อพนักงานสอบสวน ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านหากมีการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาคัดค้าน ศาลได้ไต่สวนคำร้องคัดค้านแล้วจึงอนุญาตให้ฝากขังได้ตามคำขอ เนื่องจากคำคัดค้านของผู้ต้องหาฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวระหว่างสอบสวน ตลอดจนถึงชั้นพิจารณาชั่วคราว มีประกันในวงเงิน 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกันแต่มีเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้มีผู้ที่ถูกออกหมายจับจากการชุมนุมในวันที่ 18 ก.ค. รวมแล้ว 15 ราย ติดตามจับกุมได้แล้ว 14 ราย รวม น.ส.จุฑาทิพย์ที่ถูกจับในวันนี้ คงเหลือ น.ส.เนตรนภา อํานาจส่งเสริม อีกราย อยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัว ส่วนอีก 15 รายที่ถูกออกหมายเรียกได้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกแล้วทั้ง 15 คน เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา
นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เดินทางมาสังเกตการณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับ พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รอง ผบช.น. ถึงแนวทางการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อประชาชนว่าแต่ละโรงพักมีแนวทางปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ที่ สน.ห้วยขวาง และ สน.ชนะสงครามนั้นตำรวจมีความเป็นมิตร ทำให้ภาพรวมเป็นไปได้ด้วยดี แต่กับ สน.สำราญราษฎร์ ไม่ค่อยเป็นมิตรจนเกิดการสาดสีขึ้น
"วันเกิดเหตุทราบว่าตำรวจไม่อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมจนเกิดเหตุดังกล่าว ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อเหตุรุนแรง สำหรับการจับกุม น.ส.จุฑาทิพย์ ในวันนี้ได้มีอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์มาใช้ตำแหน่งประกันตัว" นางอมรรัตน์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |