กรณีฝ่ายค้านเปิดศึก “สาวไส้ให้กากิน” ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ต่างฝ่ายต่างชูธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 แต่มีจุดต่างกันอยู่ที่พรรคเพื่อไทยเสนอแก้มาตรา 256 เปิดทางแก้ไขทั้งฉบับโดยไม่แตะต้องมาตรา 272 เรื่องที่มาของ ส.ว. พร้อมเงื่อนไขสำคัญคือ ห้ามแก้ไขหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดยให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย
ส่วนพรรคก้าวไกล เสนอให้แก้ไขรายมาตรา โดยเน้นไปที่การแก้ที่มาของ ส.ว. ตัดสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ ก่อนแก้ไขทั้งฉบับ และมิควรให้ปิดกั้นหาก ส.ส.ร.จะพิจารณาแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
พรรคเพื่อไทย เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก่อนคือประเด็นหัวใจหลัก เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นหนทางชนะ หากมุ่งแก้ที่มา ส.ว. ซึ่งต้องให้ ส.ว.รวม 84 เสียงเห็นชอบด้วย คงไม่มีใครกล้า ฆ่าตัวตาย
อีกมุมหนึ่ง พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ช่วงเวลานี้มวลชนกำลังสุกงอมได้ที่ โดยมีเป้าหมายเผด็จศึกในวันที่ 19 กันยายน จำเป็นต้องเดินหน้าตัดกำลังฝ่ายสืบทอดอำนาจรัฐประหารโดยทันที หลังเริ่มเห็นว่ารัฐบาลสามารถคลี่คลายสถานการณ์ร้อนได้แล้ว เช่น ล่าสุดก็ยอมชะลอการจ่ายเงินงวดแรกกว่า 3 พันล้านบาทซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3
รวมทั้งประเด็นเรื่องลูกบริษัทกระทิงแดงชนดาบตำรวจตายเมื่อปี 2555 ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ได้เสนอนายกฯ เพื่อรื้อฟื้นคดีใหม่ทั้งหมดที่ยังไม่หมดอายุความ รวมทั้งเสนอเอาผิดทั้งอาญา-วินัยแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ พร้อมแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะของตำรวจและอัยการ
อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับมาที่รอยร้าวของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน 2 พรรคนี้มิใช่ครั้งแรก แต่เคยเกิดมาแล้วในอดีตหลายครั้ง แม้ “เป้าหมาย” ของทั้ง 2 พรรคจะคล้ายคลึงกัน แต่เป็นการรวมตัวกันแบบไม่กระชับแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกันแต่อย่างใด
ย้อนกลับไปช่วงการเลือกตั้ง 2562 พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แตกแบงก์ร้อยของพรรคเพื่อไทยตามนโยบายนายใหญ่ เจอ ‘อุบัติเหตุการเมือง’ ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ว่ากันว่า คนดูไบต่อสายหารือแกนนำพรรคเพื่อไทยเคร่งเครียด ก่อนจะยอมเทคะแนนเสียงไปให้กับพรรคอนาคตใหม่เพื่อให้มาล่มหัวจมท้าย ต่อสู้กับฝ่ายสืบทอดอำนาจรัฐประหารใช่หรือไม่
แม้ว่าช่วงต้นเหมือนจะยิ้มได้ เมื่อพรรคอนาคตใหม่ได้จำนวน ส.ส.ถึง 80 ที่นั่งจากการเทคะแนนให้ของ ทษช. เพื่อไทยยังยอมเสียหลักการ หลังเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งปี 62 ต้องถอยต่อ ด้วยการชู ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นนายกฯ
แต่ไม่นานพรรคเพื่อไทยก็ต้องตื่นจากฝันมาเจอความเป็นจริง พลันที่ ‘ธนาธร’ ถูกขุดคุ้ยคดีซุกหุ้นสื่อ และต่อมาได้ชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญมีการพาดพิง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ระบุว่า “ไม่ได้ต้องการเข้ามาหาผลประโยชน์เหมือนทักษิณ”
สิ้นคำพูดนี้ ก็ทำให้สองพรรคเริ่มแตกกันอย่างเห็นได้ชัดเจน แม้ว่าท้ายที่สุด ‘ธนาธร’ จะยอมขอโทษก็ตาม แต่แกนนำพรรคเพื่อไทย-มวลชนหลายคนเห็นถึงธาตุแท้การ ‘เหยียบหัว’ พรรคที่เคยมีบุญคุณให้ไปแล้ว หลังจากนั้นการทำงานร่วมกันระหว่าง ‘พรรคสีส้ม’ และ ‘พรรคสีแดง’ เริ่มเห็นไม่ตรงกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งแรกเมื่อต้นปี 2563 เมื่อพรรคเพื่อไทยอภิปราย ‘กินเวลา’ พรรคสีส้ม จนทำให้อภิปราย ‘บิ๊กป้อม’ ไม่ทัน
จนออกมาสาวไส้กันนอกสภาอย่างดุเดือดอีกครั้ง ถึงกับโยนระเบิดว่า พรรคเพื่อไทย ‘ดีลผลประโยชน์’ กับฝ่ายรัฐบาลไว้ก่อนแล้ว? "เชิงสู้ไปกราบไป"
หากใครติดตามการเมืองมาบ้างจะทราบดีว่า พรรคเพื่อไทยค่อนข้างเล่นการเมืองแบบอยู่เป็น ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่จนมาถึงพรรคก้าวไกล ลีลา ‘อนุบาลการเมือง’ ไม่มีจังหวะจะโคนขบเหลี่ยมเฉือนคม ทำให้พ่ายแพ้เกือบตลอดเวลา และเวลาแพ้มักโทษพรรคเพื่อไทยว่าไม่ยอมหนุน
มาคราวนี้ถึงคิวการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทั้ง 2 พรรคต่างใช้เป็นเป้าหมายในการหาเสียงเมื่อ 1 ปีก่อน พรรคเพื่อไทยเล่นแบบ ‘เพลย์เซฟ’ เพราะยังมองไม่เห็นลู่ทางชนะ ขณะที่พรรคก้าวไกลเล่นแบบ ‘สุดซอย’ อ้างกระแสมวลชนเรือนหมื่นที่มาม็อบว่าต้องการ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ พร้อมกับโจมตีพรรคเพื่อไทยทำนองว่า ‘ตาขาว’
ก่อนหน้านี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยไม่ยอมตกเป็นขี้ปากชาวบ้านอีกต่อไป ถึงกับออกแถลงการณ์ ‘ช็อตต่อช็อต’ ถึงเหตุผลในการไม่แก้ที่มา ส.ว.ก่อน มีแกนนำบางรายถึงกับออกปากถึงพรรคสีส้มว่า “เอาหล่อ-ตีกินการเมือง” ทำเอาพรรคสีส้มออกมาแก้ตัวพัลวัน
ด้วยเหตุนี้ การทำงานร่วมกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะขาดซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจ ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านอ่อนกำลัง และผู้ที่ยิ้มออกนอกจากรัฐบาลแล้ว ก็คือบิ๊ก 3 ป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |