เงินคงคลังหดหาย เพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย


เพิ่มเพื่อน    

     ข่าวเรื่องรัฐบาล "ถังแตก" มาจากมติ ครม.ให้เพิ่มกรอบกู้เงินเพิ่มเมื่อสัปดาห์ก่อนถึง 2.14 แสนล้าน ซึ่งคาดการณ์ว่าถึงสิ้นปีงบประมาณ 2563 (คือสิ้นเดือนกันยายนนี้) หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 51.64% ของจีพีดี

            ในขณะที่กฎหมายวางไว้ไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี

            การกู้เงินลักษณะนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก เคยเกิดขึ้นแล้วสมัย "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์"

            วงเงินกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้อยู่ในกรอบกฎหมายที่ให้กู้ขาดดุล หรือการกู้รายจ่ายสูงกว่ารายได้ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีบวกกับ 80% ของงบประมาณชำระหนี้เงินต้น

            ในปีงบประมาณ 2563 มีกรอบเต็มที่สามารถกู้ได้ทั้งสิ้น 6.83 แสนล้านบาท แต่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 กำหนดกู้ชดเชยขาดุลไป 4.69 แสนล้านบาท

            ดังนั้นจึงมีช่องที่เหลือเป็นการกู้ "กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้"

            สถานะของ "เงินคงคลัง" เป็นประเด็นที่ประชาชนคนไทยควรทำความเข้าใจ เพื่อจะได้อ่านออกว่ารัฐบาล "ถังแตก" จริงหรือไม่

            "เงินคงคลัง" คืออะไร?

            มีคำอธิบายเป็นทางการที่ชาวบ้านควรเข้าใจ จะได้สรุปได้ว่า "ถังแตก" หรือไม่อย่างไร

            เงินคงคลัง (Treasury Balance) คือ ปริมาณหรือจำนวนเงินสด หรือสิ่งใกล้เคียงเงินสดที่เป็นรายได้เหลือจากการใช้จ่ายของรัฐบาลในการดำเนินการของรัฐซึ่งถูกเก็บสะสมไว้ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เปรียบเสมือนเป็นเงินออมของประเทศ

            เงินคงคลังแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

            1.บัญชีเงินของกระทรวงการคลังที่ฝากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งสาขาต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย

            2.เงินสด ณ กรมธนารักษ์ และสำนักงานคลังจังหวัด

            3.อื่นๆ ได้แก่ บัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ บัตรภาษี รวมถึงธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ของกระทรวงการคลัง ที่อยู่ในระหว่างการขนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

            เงินคงคลังมาจากไหนได้บ้าง?

            ส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บเงินภาษี รวมทั้งการกู้เงินเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งนี้เงินคงคลังของรัฐบาลสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ นั่นคือ การจัดเก็บรายได้ของรัฐ การใช้จ่ายของรัฐ และการนำเงินคงคลังออกมาใช้

            "การจัดเก็บรายได้ของรัฐ"

            การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมาจากเงินภาษีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภาษีทางตรง หรือภาษีทางอ้อม  โดยภาษีทางตรงประกอบด้วยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ส่วนภาษีทางอ้อมประกอบด้วย ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์, ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน, ภาษีสรรพสามิตจากการนำเข้า, ภาษีโภคภัณฑ์อื่น, ค่าภาคหลวงแร่, ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและภาษีทรัพยากรธรรมชาติอื่น ภาษีสินค้าเข้า-ออก และภาษีลักษณะอนุญาต

            3 กรมหลักของกระทรวงการคลังที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีก็ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร

            แล้วอะไรคือ "การใช้จ่ายของรัฐ"?

            คือเงินที่เอาไป

            1.บริหารทั่วไปของรัฐ ได้แก่ การป้องกันประเทศและการรักษาความสงบภายใน

            2.บริหารชุมชนและสังคม ได้แก่ การศึกษา, การสาธารณสุข, สังคมสงเคราะห์, การเคหะและชุมชน  และการศาสนาและวัฒนธรรม

            3.บริหารเศรษฐกิจ ได้แก่ การเชื้อเพลิงและพลังงาน, การเกษตร, เหมืองแร่, การขนส่งและการสื่อสาร, การบริหารเศรษฐกิจอื่น เช่น โรงแรม, ภัตตาคาร, การท่องเที่ยว

            4.ใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น การชำระหนี้เงินกู้สำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน

            แล้วจะ "นำเงินคงคลังออกมาใช้" ได้อย่างไร?

            พระราชบัญญัติเงินคงคลังบัญญัติไว้ว่า รัฐบาลสามารถใช้เงินคงคลังในกรณีนอกเหนือจากเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายได้เพียง 5 ประการเท่านั้น คือ

            1.รายการจ่ายที่มีการอนุญาตให้จ่ายเงินได้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ แต่เงินที่ตั้งไว้มีจำนวนไม่พอจ่าย และพฤติการณ์เกิดขึ้นให้มีความจำเป็นต้องจ่ายโดยเร็ว

            2.มีกฎหมายใดๆ ที่กระทำให้ต้องจ่ายเงิน เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายนั้นๆ และมีความจำเป็นต้องจ่ายโดยเร็ว

            3.มีข้อผูกพันกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่กระทำให้ต้องจ่ายเงิน และมีความจำเป็นต้องจ่ายโดยเร็ว

            4.เพื่อซื้อคืน หรือไถ่ถอนพันธบัตรของรัฐบาล หรือตราสารเงินกู้ของกระทรวงการคลัง หรือชำระหนี้ตามสัญญากู้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กู้ ทั้งนี้ตามจำนวนที่รัฐมนตรีเห็นสมควร

            5.เพื่อซื้อเงินตราต่างประเทศ พันธบัตรของรัฐบาลต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ที่มั่นคงในต่างประเทศที่ไม่ใช่หุ้น ในสกุลเงินตราที่ต้องชำระหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กู้ และในวงเงินไม่เกินจำนวนหนี้ที่ถึงกำหนดชำระในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการชำระหนี้เมื่อถึงกำหนด

            ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการซื้อเงินตราต่างประเทศ พันธบัตรของรัฐบาลต่างประเทศ และหลักทรัพย์ที่มั่นคงในต่างประเทศที่ไม่ใช่หุ้น การนำเงินตราต่างประเทศฝากธนาคาร รวมทั้งวิธีปฏิบัติอื่นใดที่เกี่ยวข้อง.

            (พรุ่งนี้: เนื้อหาที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้ล่าสุดเป็นอย่างไร?)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"