ประเทศไทยตอนบน รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมาเจอพายุฤดูร้อนจนถึง 27 เม.ย. เตือนระวังอันตรายจากพายุ ฟ้าผ่า ขณะที่อากาศร้อนจัด เหนือ อีสาน ขึ้นถึง 41 องศาแล้ว
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่อง "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 24-27 เมษายน 2561)" ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 22 เมษายน 2561 ความว่า ในช่วงวันที่ 24-27 เมษายน 2561 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฟ้าผ่า กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยจะมีผลกระทบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันที่ 24-25 เมษายน 2561 ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะได้รับผลกระทบในช่วงวันที่ 25-27 เมษายน 2561 จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
พยากรณ์อากาศในรอบสัปดาห์ ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 25-28 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 22-23 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 25-28 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. มีอากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 25-28 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นประมาณ 1 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ในช่วงวันที่ 22-25 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) ในช่วงวันที่ 22-25 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. อากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในวันที่ 25-28 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น น.ส.วาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า จากการที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนได้รายงานสภาพอากาศระบุว่า ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ พื้นที่ประเทศไทยจะเกิดพายุฤดูร้อนพาดผ่านพื้นที่อีกระลอก โดยจะมีลมกระโชกแรงและพายุลูกเห็บตามมาด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกัน จึงได้กำหนดแผนปฏิบัติการบินเพื่อป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บในพื้นที่อย่างเต็มที่ในระยะนี้
น.ส.วาสนากล่าวว่า ทีมปฏิบัติการยับยั้งและสลายลูกเห็บ ได้วางแผนปฏิบัติการบินโดยการใช้เครื่องบินซูเปอร์คิงส์แอร์ ที่มีฐานการบินอยู่ที่ จ.พิษณุโลก ทำการบินตรงมายังพื้นที่ภาคอีสาน โดยเน้นไปในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดลูกเห็บ เพื่อทำการยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดน์ ให้ลูกเห็บซึ่งเป็นน้ำแข็งกลายเป็นเม็ดฝนตกลงมาแทน อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการบินดังกล่าวนี้ไม่สามารถปฏิบัติการได้ทุกพื้นที่ ด้วยข้อจำกัดเรื่องของจำนวนเครื่องบิน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |