1 ก.ย.63 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ นายคมกฤช วงศ์สมบุญ หัวหน้าคณะทำงานชุดย่อยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงฝ่ายช่าง นำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่ทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุน พร้อมเอกสารและหลักฐานต่างๆมามอบให้นายกรัฐมนตรี, สำนักงาน ป.ป.ช. และกระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ นายถาวร ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดทุนของ การบินไทย ซึ่งพบว่าเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2551 สาเหตุสำคัญมาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ เมื่อนำมาทำการบินก็เกิดปัญหาขาดทุนทุกเส้นทางบิน ตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพ-นิวยอร์ก ในเดือนกรกฎาคม 2548 จนปลดระวางลำสุดท้ายในปี 2556 และยังเป็นปัญหาภาระในการดูแลจนถึงปัจจุบัน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกจำนวนมหาศาลที่เป็นการใช้เงินแบบไม่สมเหตุสมผลมีการเสียเงินแบบไม่น่าเสีย และส่อไปในทางทุจริต
อย่างไรก็ตามโดยจุดเริ่มต้นของการขาดทุนย้อนไปในปี 2551 ซึ่งนับเป็นเวลา 3 ปี จากเที่ยวบิน A340 เริ่มทำการบิน การบินไทยขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทมา 60 ปี เป็นมูลค่า 21,450 ล้านบาท ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรก ซึ่งคณะทำงานฯ พบว่าปัญหาการขาดทุนของการบินไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท มาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำนั้น
ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัย 3 ประการ คือ 1. การบินไทยไม่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด 2. ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์ – รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานการบินไทย วงเงินกว่า 254 ล้านบาท ในการเอื้อประโยชน์ให้มีการจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ 7 เครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย Total Care Agreement 3. มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ”
อย่างไรก็ตามคณะทำงานชุดนี้มีเวลาทำงานเพียง 43 วัน ได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อยขึ้นมา 6 คณะ มีการตรวจสอบรายงานการประชุมของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของบริษัท ย้อนหลัง 3 ปี คือ ปี 2560 – 2562 จนกระทั่งการบินไทย พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 และเมื่อพ้นสภาพไปแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้มีความเห็นว่าคณะทำงานฯ ไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ต่อไปจึงสิ้นสุดการตรวจสอบ และนำข้อมูลที่ตรวจพบนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ
โดยในวันนี้คณะทำงานฯ จึงได้นำสรุปผลการตรวจสอบรายงานนายกรัฐมนตรี และส่งให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท การบินไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีอำนาจในการดำเนินการได้อย่างเด็ดขาดต่อไป
อย่างไรก็ตามโดยในสัปดาห์นี้ คณะทำงานฯ กำลังจัดทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อนำไปยื่นต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการกับพนักงานบริษัทที่ส่อทุจริต โดยเฉพาะค่าล่วงเวลา OT ฝ่ายช่างที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |