ต้องบอกพระศุกร์เข้า-พระเสาร์แทรก ซึ่งถือเป็นวิถีของทุกรัฐบาลที่อยู่ในช่วง “ขาลง” ไม่ว่าประเด็นอะไร เก่าหรือใหม่
สามารถนำมาขยี้รัฐบาลได้หมด
ย้อนกลับไปในช่วงปลายสมัย รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องเผชิญกับม็อบ กปปส. นอกจากประเด็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยแล้ว ยังเจอกรณีการใช้งบประมาณในโครงการรับจำนำข้าว ที่ก่อหนี้มหาศาล
คล้ายคลึงกับ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงนี้ ที่นับตั้งแต่เจอม็อบเยาวชน ไม่ว่าจะถูกขุดเรื่องอะไร กลายเป็นประเด็นร้อนแรงหมด
เรียกว่า ต้องยอมถอยมาแล้วหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลต้องยอมไฟเขียวให้มีพรรคร่วมรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ค่ายกลสำคัญอย่างมาตรา 256 ที่กำหนดขั้นตอนรายละเอียดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้จนทำให้แก้ไขได้ยาก
เรื่อยมาถึงเรื่องการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ยอมให้มีการแต่งตั้งขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า ท้ายที่สุดจะมีหน้าตาและสัดส่วนเท่าไหร่
แต่การยอมเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้กระแสคัดค้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์น้อยลงแต่อย่างใด เพราะในจังหวะเดียวกันมีเรื่องการพิจารณางบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ของคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และรัฐวิสาหกิจ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณางบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ ถือเป็นกำหนดการเดิมที่มีอยู่แล้ว มันจึงเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดรัฐบาลและกองทัพ
เพราะแต่เดิมเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ถือเป็นประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโจมตีมาตลอด เพราะมาอยู่ในช่วงนี้จึงยิ่งทำให้ประเด็นนี้ร้อนแรงกว่าเดิม
และโดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี อันสืบเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การมาจัดซื้อในช่วงนี้ยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียงดัง และมีน้ำหนักในการคัดค้านมากขึ้น
แม้รัฐบาลและกองทัพเรือพยายามจะชี้แจงความจำเป็น รวมถึงอธิบายว่า เป็นการจัดซื้อต่อเนื่องจากลำแรก ไม่ได้เพิ่งจะตั้งงบประมาณ แต่เมื่อประชาชนในประเทศยังตกระกำลำบาก การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงนี้จึงสวนกระแสความรู้สึกประชาชน
ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จึงสั่งถอย โดยการเจรจากับทางการจีน
เพื่อชะลอการจัดซื้อไปอีก 1 ปี!!!!
มันไม่ใช่การพับแผน แต่เป็นการชะลอเพื่อลดกระแสร้อนของสังคม
แต่อย่างไรก็ตาม การถอยก้าวที่ 2 นับจากประเด็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาถึงเรือดำน้ำ ดูจะไม่ทำให้สถานการณ์ร้อนของรัฐบาลลดลง เพราะมีประเด็นเรื่องข้อพิพาท จากกรณีปิดกิจการ เหมืองแร่ทองคำ ของทางบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาต่อเรียบร้อย
โดยมีการเปิดงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัท คิงส์เกต จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอัครา ที่พบว่า ในปี 62 มีการใช้งบไป 60 ล้านบาท ปี 63 ใช้งบไป 218 ล้านบาท และในปี 2564 กำลังตั้งงบประมาณสำหรับเรื่องนี้ 111 ล้านบาท รวมแล้วเกิน 300 ล้านบาท
ประเด็นนี้มีการไปขุดคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ในอดีตที่ระบุว่า จะรับผิดชอบเอง มาทวงถาม พร้อมคัดค้านว่า ห้ามใช้ภาษีประชาชนไปชดใช้
ขณะที่ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้กันในชั้นอนุญาโตตุลาการ ยังไม่มีใครแพ้หรือชนะ ฝ่ายรัฐบาล นำโดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเจรจาเพื่อหาทางออก
อย่างไรก็ดี ฝ่ายต้านพยายามชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการต่อสู้คดีก็มีสาเหตุมาจากการตัดสินใจผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการปิดเหมืองอัคราเมื่อปลายปีก่อน
ซึ่งเรื่องเหมืองอัครา แตกต่างจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรื่องเรือดำน้ำ เพราะเป็นคดีความ ไม่มีช่องให้ถอย นอกเสียจากการชนะคดี ที่ยังต้องใช้ระยะเวลาที่นานพอสมควร
แต่ที่แน่ๆ มันกลายเป็นหนึ่งในบาดแผลที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์
เป็น “เผือกร้อน” เที่ยวล่าสุด ที่ต้องจับตาดูว่า รัฐบาลจะดีดตัวเองออกจากอุณหภูมิร้อนอย่างไร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |