กมธ.งบประมาณโหวตผ่านงบฯ สู้คดีเหมืองทองด้วยคะแนน 38 ต่อ 21 เสียง ขณะที่ "บิ๊กตู่" ตอกกลับรัฐบาลไหนก่อปัญหาเอาไว้ ซัดที่ผ่านมาชาวบ้านเดือดร้อนไม่แก้ แนะไปดู "คลองด่าน" จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ก็แก้ไขปัญหาไปแล้ว
การประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่มีนายวราเทพ รัตนากร รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม มีรายงานว่าได้มีการพิจารณางบประมาณ 111 ล้านบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อใช้ต่อสู้คดีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี จังหวัดพิจิตร ได้ทำการฟ้องร้องรัฐบาลไทย กรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ
นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ใช้สิทธิแปรญัตติตัดงบประมาณทั้งหมด 111 ล้านบาท เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าหัวหน้า คสช.ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่มีสิทธิ์ใช้งบประมาณต่อสู้คดี แต่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ มีมติเสียงข้างมาก 38 ต่อ 21 เสียง ให้ปรับลดงบประมาณเหลือเพียง 12 ล้านบาทตามที่อนุกรรมาธิการฯ เสนอมาเท่านั้น
โดย นพ.เรวัตและกรรมาธิการที่เห็นตรงกัน จึงขอใช้สิทธิสงวนคำแปรญัตติขอให้ตัดงบประมาณทั้งหมด 111 ล้านบาท ในชั้นการพิจารณารายมาตราในวาระ 2 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 16-18 กันยายนนี้ต่อไป
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้รัฐบาลพยายามแก้ไข ส่วนที่ถามว่าตนจะรับผิดชอบอย่างไร คิดว่าเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน ต้องย้อนกลับไปดูว่าปัญหาที่เหมืองทองอัคราเกิดจากอะไร จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนและมาร้องเรียน ซึ่งทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้แก้ไขปัญหานี้ แต่รัฐบาลชุดนี้ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความชัดเจน
นายกฯ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนศาลอนุญาโตตุลาการ ที่ผ่านมามีการเจรจากันมาโดยตลอด โดยผิดถูกด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งตนเป็นคนที่มาหยุดการกระทำความผิดต่างๆ และความเดือดร้อนของประชาชนอยากให้มองตรงนี้ หลายคนก็บอกว่าในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตนระบุว่าตนไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ อยากให้เข้าใจว่าตอนนั้นอยู่ในช่วง คสช. แต่ตอนนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งใครจะมองอะไรก็แล้วแต่ แต่ตนก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่ต้องแก้ไขปัญหาทั้งหมด
"อยากให้ดูปัญหาคลองด่านตอนนั้นว่าผมแก้ไขปัญหาอย่างไร ผมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ก็แก้ไขปัญหาไปแล้ว รวมถึงปัญหาเรื่องทางด่วน โดยทุกเรื่องต้องหาวิธีการ อย่านำเรื่องโน้นมาผูกโยงกับเรื่องนี้ เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรกัน ของเก่าก็ไม่ต้องแก้ ของใหม่ก็ทำไม่ได้แล้วประเทศไทยจะไปอย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าจะรับผิดชอบเองหากเกิดความเสียหาย มาถึงเวลานี้กลับปัดความรับผิดชอบ นำเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อีกทั้งที่ผ่านมามีการจ่ายค่าทนายความไปแล้ว 500-600 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่เปิดเผยกับประชาชนว่าใช้เงินในส่วนไหน
"พลเอกประยุทธ์นำราชอาณาจักรไทยเข้าสู่ข้อพิพาทกับบริษัทคิงส์เกตฯ หากมีคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศออกมาว่าไทยแพ้ ราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องถามว่าพลเอกประยุทธ์จะให้ราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบแทนความผิดที่ตัวเองก่อหรือไม่ คงต้องถามว่าพลเอกประยุทธ์จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร หรือคนไทยทั้งประเทศต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายแทนความผิดพลาดที่พลเอกประยุทธ์ก่อขึ้น" นพ.ชลน่านกล่าว
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คงต้องรอคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร ความเสียหายที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เพราะใช้คำสั่งของ คสช.ไปสั่งระงับการทำเหมืองทอง ซึ่งกระทำมิได้เพราะผิดข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทต่างชาติเขาไม่ยอมรับมาตรา 44 ที่ คสช.บังคับใช้ เป็นแค่กฎหมายเฉพาะกิจที่มีผลแค่ในประเทศไทย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |