พรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติขอแก้ไข รธน.อังคารนี้ เพื่อไทยเปิดปฏิทินการเมืองกระบวนการทั้งหมด แก้ ม.256 ในชั้น กมธ.ร่วมรัฐสภา-การได้มาซึ่ง ส.ส.ร. 200 คน-ร่าง รธน.ฉบับใหม่-ทำประชามติ ส่อเข้าทางรัฐบาลบิ๊กตู่อยู่ยาว
มีความเคลื่อนไหวเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิปสามฝ่ายคือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา มีข้อตกลงร่วมกันให้นำญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 23-24 กันยายนนี้ ที่เป็นวาระแรกขั้นรับหลักการ
โดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลจะยื่นต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 1 ก.ย.นี้ เวลา 13.00 น. โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล ในมาตรา 256 จะมีการแก้ไขให้ง่ายขึ้น เมื่อมีการรับหลักการแล้วก็จะตั้งคณะกรรมาธิการและพิจารณาต่อในวาระ 2 และ 3 โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา โดยก่อนทูลเกล้าฯ ถวายจะต้องทำประชามติด้วย
นายชินวรณ์กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องที่มาของสมาชิกสภาร่าง รธน.ตามมาตรา 256 ที่จะขอแก้ไขนั้น ในส่วนของการคัดเลือกโควตานักศึกษาเข้าเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โควตาดังกล่าวจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ ซึ่งคิดว่าคุณสมบัติน่าจะทั่วๆ ไปไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เช่นต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นต้น อย่างไรก็ตามคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็น ส.ส.ร.คือต้องไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว.
ขณะที่นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาลเมื่อ 31 ส.ค.เห็นชอบหลักการแก้ไข รธน.เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. โดยในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลขอยืนยันในหลักการไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 พร้อมขอให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านระบบรัฐสภา ที่ยึดถือหลักสิทธิ เสรีภาพและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ โดยสัดส่วน ส.ส.ร.ทั้ง 200 คน จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด 150 คน รัฐสภาคัดเลือก 20 คน จากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือก 20 คน และเลือกจากนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา 10 คน นอกจากนี้ยังได้กำหนดลักษณะบุคคลต้องห้ามที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์สมัครเป็น ส.ส.ร.ได้ คือข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐมนตรี รวมถึงบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงรายละเอียดของญัตติแก้ไข รธน.ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีรายละเอียดแก้ไขเกณฑ์ของเสียงเห็นชอบวาระแรกและวาระสาม จากเสียงเห็นชอบไม่น้อยเกินกึ่งหนึ่ง เป็นเสียงเห็นชอบ 3 ใน 5 ว่า การแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ควรทำให้เงื่อนไขการแก้ไขทำได้ง่ายขึ้น แต่หากทำให้ยากกว่าเดิมนั้นต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุดพรรคฝ่ายค้านหารือร่วมกันอีกครั้งและประเมินทิศทางในภาพรวม ไปร่วมกันได้และสอดคล้องในรายละเอียด ทั้งนี้การพิจารณานั้น กมธ.ร่วมกันของรัฐสภาที่จะพิจารณาต้องฟังเสียงของประชาชน ขณะที่รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่เสนอต่อสภา และพิจารณาวันที่ 10 ก.ย.นั้น เชื่อว่าจะได้รับความสำคัญและนำไปพิจารณาประกอบ แต่ไม่ถึงขั้นใช้เป็นพิมพ์เขียวหรือเป็นรายงานที่ผูกมัดการพิจารณาของรัฐสภาวันที่ 23
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะ?ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฏร พร้อมคณะ กมธ. เช่น นายโภคิน พลกุล ได้นำเสนอรายงานของ กมธ.ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากพิจารณาและจัดทำเนื้อหาแล้วเสร็จ
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า รายงานของ กมธ.นำเสนอเนื้อหาเชิงวิชาการ โดยไม่ได้สรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับของ กมธ. แต่ได้นำเสนอความเห็นในแง่มุมต่างๆ เช่น ข้อเสนอต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในรายงานให้ความเห็นทั้ง 2 ด้าน ทั้งควรแก้ไขและไม่ควรแก้ไข ขณะที่การแก้ไขยังมีหลายแนวทาง อย่างไรก็ตามรายงานของ กมธ.ไม่มีหลักการันตีว่าจะถูกนำไปพิจารณาเป็นเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่าเนื้อหาของ กมธ.มีความเป็นกลาง
นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ความเห็นส่วนตัวมองว่าหากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เตรียมตั้งขึ้น จะนำไปศึกษาเพื่อเป็นฐานแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถดำเนินการได้ เพราะในรายงานมีความเห็นทุกแง่มุม แต่ไม่ได้ศึกษาในเชิงลึก เช่นโครงสร้างของ ส.ส.ร.
ด้านนายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.กล่าวว่า ข้อเสนอของ กมธ. เป็นสิ่งที่ตกผลึกร่วมกัน ส่วนข้อเสนอให้มี ส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นข้อเสนอที่เห็นว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตราก็ควรให้ ส.ส.ร.ดำเนินการ ส่วนกรณีที่มีข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือปิดสวิตช์ ส.ว.นั้น มองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สะสมไว้เพื่อให้ ส.ส.ร.รับไปพิจารณาได้ ทั้งนี้ประเด็นต่างๆ ต้องใช้เวลาและไปทีละประเด็น โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะเป็นไปตามกรอบของสันติวิธี" นายโภคินกล่าว
นายโภคินกล่าวต่อว่า สำหรับเวลาที่จะใช้พิจารณานั้น คาดว่าฉบับแก้ไขจะเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นตั้ง ส.ส.ร.ใช้เวลา 60 วัน ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่มีความเห็นคือ 120 วัน หรือ 240 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลง จากนั้นจะนำร่างรัฐธรรมนูญให้สภาเห็นชอบหรือทำประชามติ เป็นเรื่องต้องพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามหากให้ ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เนื้อหาจะออกมาเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็ต้องยอมรับเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้
ด้านนายชวนกล่าวว่า จะตรวจสอบรายงานดังกล่าวของ กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน. ก่อนบรรจุเป็นระเบียบวาระของการประชุมสภาในวันที่ 10 ก.ย. ทั้งนี้รายงานดังกล่าวจะไปต่อท้ายกับรายงานของ กมธ.ชุดอื่นๆ ซึ่งหากที่ประชุมสภาเห็นว่ารายงานนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนสามารถขอมติให้เลื่อนพิจารณาได้
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในวันที่ 10 ก.ย.จะขอเลื่อนรายงานของ กมธ.ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |