‘ถังแตก’ นั้นเป็นเช่นไร?


เพิ่มเพื่อน    

         รัฐบาล “ถังแตก” จริงหรือไม่อยู่ที่เราจะนิยามคำว่า “ถังแตก” อย่างไร

                ถ้าเป็นภาษาชาวบ้าน คำถามคงจะง่ายๆ ว่า

                “เงินในเก๊ะมีพอหมุนหรือเปล่า”

                เมื่อพูดถึง “เงินคงคลัง” อาจจะฟังเป็นภาษาทางการ แต่หากเป็นการบริหารธุรกิจธรรมดา ก็คงหมายถึงเงินสดหมุนเวียน หรือ cash flow มีพอหรือไม่

                เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ก็ย่อมมีคำถามว่า จะมีเงินสำหรับการบริหารกิจกรรมประจำอย่างไร

                เมื่องบประมาณ “ขาดดุล” ก็แปลว่า รายจ่ายมีมากกว่ารายได้ วิธีแก้ปัญหาปกติก็คือกู้เงิน

                สำหรับรัฐบาล การกู้เงินก็มีกฎกติกาว่าต้องมีวินัยการเงินการคลัง จึงมีการวางไว้ว่า หนี้สาธารณะไม่ควรเกิน 60% ของผลผลิตมวลรวม หรือ GDP ของประเทศ

                ถ้าเป็นชาวบ้าน เมื่อเงินในกระเป๋าขาดก็ต้องไปกู้เงินคนอื่นมาก่อน แต่กู้มากก็ไม่ได้ เพราะจะไม่มีปัญญาจ่ายคืน

                หากขาดวินัย ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าข่าย “หนี้สินล้นพ้นตัว”

                รัฐบาลไทยวันนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น

                แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีปัญหา

                ปกติก็เป็นงบประมาณขาดดุลอยู่แล้ว ต้องกู้เงินมาถมที่ขาดไป แต่ก็ต้องบริหารเงินกู้ให้ดี อย่าใช้จ่ายเกินตัว

                พอเจอกับโควิด-19 ปัญหาก็หนักขึ้น เพราะนอกจากงบขาดดุลที่ต้องกู้อยู่เดิมแล้ว ยังมีปัญหาว่าเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่วางแผนเอาไว้ เพราะธุรกิจขาดทุนกันมาก ที่เคยเสียภาษีก็ไม่เสีย

                ภาษีนิติบุคคลก็หดหาย

                คนตกงานหรือรายได้น้อยลง เพราะโควิด ภาษีรายได้ส่วนบุคคลก็ลดน้อยลงอย่างมาก

                มิหนำซ้ำ เงินภาษีที่ห้างร้านและเอกชนพอจะจ่ายได้ก็ยอมให้เลื่อนจ่ายไปหลายเดือน เพราะไม่ต้องการซ้ำเติมปัญหาสำหรับผู้ประกอบการและผู้มีรายได้ทั้งหลาย

                หนีไม่พ้นว่า “เงินคงคลัง” ก็ลดน้อยลงไปอย่างชัดเจน

                ปัญหาเงินหมุนไม่ทันสำหรับรัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนนี้ (กันยายน) ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 และเดือนหน้า (ตุลาคม) ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2564

                เอกสารที่กระทรวงการคลังแจ้งต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา สรุปเห็นภาพชัดว่า

                "...กระทรวงการคลังได้มีการทบทวนรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2563 และคาดการณ์ว่าจะต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 394,400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ระดับ 139,898 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงานในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่จะมีการเร่งการเบิกจ่ายงบอุดหนุนของหน่วยงานต่างๆ..."

                ดังนั้น ครม.จึงมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2

                หนึ่งในสาระสำคัญของการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวคือ ปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบ 63 วงเงิน 214,093.92 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

                การกู้เงินเพิ่มครั้งนี้ จะทำให้ ณ สิ้นปีงบ 63 ระดับหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 8.21 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 51.64% ของจีดีพี ซึ่งไม่เกิน 60% ของจีดีพีตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ

                พอมีข่าวพาดหัวสื่อว่า รัฐบาล “ถังแตก” กระทรวงการคลังก็ออกแถลงชี้แจงว่า การขออนุมัติกรอบการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบ 63 วงเงิน 2.14 แสนล้านบาท นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

                แถลงการณ์บอกว่า "ระดับเงินคงคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยสถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค.63 อยู่ที่ 282,141 ล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นปีงบ 63 เงินคงคลังจะอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และดำเนินมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย"

                แต่ภาษาอธิบายทางการกับความจริงที่ชาวบ้านอยากรู้อาจจะสวนทางกัน

                จำต้องลงรายละเอียดในทุกตัวเลขเรื่องรายได้รายจ่าย, หนี้สาธารณะ และเงินคงคลังเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับเจ้าของประเทศอย่างรอบด้าน

                พรุ่งนี้ : ปัญหาระดับ “เงินคงคลัง” หนักกว่าที่คิด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"