ตั้งสสร.ลากยาว2ปี วิปรัฐบาลชงร่างรธน.ให้‘ชวน’1ก.ย./ฝ่ายต้านหวั่นรากงอก


เพิ่มเพื่อน    

  ประธานวิปรัฐบาลยัน 1 ก.ย.ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ "ชวน" รวมร่างกับฝ่ายค้านก่อนถกในสภา 23-24 กันยา. ไม่แตะต้องหมวด 1 ตั้ง ส.ส.ร.กำหนดยกร่าง 240 วัน ขณะที่ "วันชัย" เชิญตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ นักวิชาการ-นักศึกษาตั้งวงชำแหละกระบวนการแก้ รธน. ชี้ตั้ง ส.ส.ร.ต้องใช้เวลาเกิน 2 ปี สุดท้ายต้องลงประชามติ หวั่นเสร็จรัฐบาล

     เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ คาดว่าจะนำไปรวมร่างพิจารณาไปพร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นมาก่อนหน้านี้ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 ในวันที่ 23-24 ก.ย. โดยมีการแบ่งเวลาให้ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ฝ่ายละ 8 ชั่วโมงในการอภิปราย ให้แต่ละฝ่ายไปบริหารจัดการแบ่งเวลากันเอง
         ทั้งนี้ สาระสำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลคือการเสนอแก้มาตรา 256 นำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2
         ประธานวิปรัฐบาลกล่าวต่อว่า ที่มาของ ส.ส.ร.จะมี 200 คน มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 150 คน ส่วนอีก 50 คน มาจากสมาชิกรัฐสภาคัดเลือก 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยคัดเลือกนักวิชาการสายต่างๆ 20 คน และนักเรียน นิสิตนักศึกษาเลือกตัวแทนมาอีก 10 คน กำหนดยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 240 วัน
        นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านฯ เปิดเผยว่า วันที่ 28 ส.ค. แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคได้หารือร่วมกันโดยเนื้อหาหลักที่พูดคุยเป็นเรื่องการทำงานในสภาที่เป็นเรื่องสำคัญที่เหลืออยู่ในสมัยประชุมนี้ ทั้งการอภิปรายโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่จะมีขึ้นวันที่ 9 ก.ย. ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องทำงานร่วมกันจัดสรรเนื้อหาการอภิปรายให้ได้เนื้อหามากที่สุด การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่จะมีขึ้นวันที่ 17-18 ก.ย. ตรงนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นโอกาสที่อภิปรายได้ในหลายประเด็น เพื่อทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณออกมาดีที่สุด และจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นวันที่ 23-24 ก.ย.
    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหยิบยกเรื่องปัญหาความเห็นที่แตกต่างของแต่ละพรรคขึ้นมาพูดคุย ซึ่งเป็นธรรมดาของพรรคการเมืองที่แต่ละพรรคจะมีความเห็นที่ต่างกัน ก็ต้องเดินหน้าทำสิ่งที่พรรคตัวเองเห็นว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งความเห็นที่แตกต่างกันนั้นไม่ได้มีใครบอกว่าใครผิดใครถูก แต่ในการหารือเราหาวิธีทำอย่างไรให้ความเห็นที่แตกต่างกันนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ซึ่งภาพรวมต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลที่ต้องการยื่นเป็นรายมาตราว่า ขณะนี้กำลังดำเดินการอยู่ เพราะเกรงว่าการให้ ส.ส.ร.อาจเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าหากร่างมาแล้วก็ให้มาเสนอที่ประชุมอีกครั้ง ให้แต่ละพรรคได้พิจารณา ส่วนจะร่วมลงชื่อหรือไม่นั้นเป็นเอกสิทธิ์ เพราะประเด็นนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านเคยมีมติยึดการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร.ไปแล้วและพรรคเพื่อไทยก็มีมติชัดเจนที่จะยื่นแก้ไขเฉพาะประเด็นนี้
เชิญตัดอำนาจ ส.ว.
    นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก ส.ว. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงจุดยืนของ ส.ว.ต่อญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่การประชุมรัฐสภา ในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ว่า ขณะนี้วิปวุฒิสภาได้คุยกัน โดยมีข้อสรุปให้รอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้งซีกพรรคร่วมรัฐบาลที่จะยื่นต่อประธานรัฐสภา วันที่ 1 ก.ย.นี้ กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อนนำรายละเอียดของทั้ง 2 ฝ่าย รวมไปถึงแนวทางการปิดสวิตช์ ส.ว. ตามที่แนวร่วมประชาชนปลดแอก ประกาศขีดเส้นตายในช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้มาหารือกันอีกครั้ง เพราะถือเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกัน
    แต่แนวโน้มเท่าที่หารือกันเบื้องต้น แม้จะยังไม่ลงรายละเอียดว่าจะเห็นด้วยกับโมเดลสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ แต่ในวิปวุฒิสภาเห็นตรงกันว่า อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย ลดความขัดแย้ง และที่สำคัญเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ทาง ส.ว.ก็ไม่ขัดข้องอยู่แล้ว
    นายวันชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าต้องตัด ก็ตัดเลย ตนไม่ขัดข้อง ส่วนโมเดลในการตั้ง ส.ส.ร.นั้น ขณะนี้ทั้ง ส.ส.ซีกรัฐบาล ซีกฝ่ายค้าน หรือภาคประชาชนต่างก็เห็นด้วยกันทั้งนั้น ส่วนตัวเห็นว่า มี ส.ส.ร.ก็ดี จะมีตัวแทนจากประชาชนมาจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน จะได้ตัดข้อครหาว่ารัฐธรรมนูญยึดโยงกับเผด็จการ ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนออกไป
    อย่างไรก็ตาม เท่าที่ฟังความเห็นของเพื่อน ส.ว.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ ยังมีความเห็นไปคนละทิศละทาง กลุ่มที่เห็นด้วยกับตนก็มี แต่ส่วนใหญ่ยังสงวนท่าที ไม่มีอะไรตกผลึกกันชัดเจน แต่ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากวิปวุฒิสภาได้ถกแถลงจนมีข้อสรุปแล้วว่า แนวทางใดจะที่ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ส.ว.ก็จะเห็นไปในแนวทางเดียวกัน
    ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน? 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน คณะรณรงค์?เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน?จัดเสวนาในหัวข้อ? "ผ่าทางตัน?รัฐธรรมนูญไทย? ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น" โดยมีการเสวนารวม 3 รอบ กลุ่มนักวิชาการเป็นผู้ร่วมเสวนารอบแรก ตามด้วยกลุ่มประชาชนและเยาวชนต่อไป สำหรับการเสวนากลุ่มนักวิชาการ ประกอบด้วย? นายธเนศ? อาภรณ์สุวรรณ? อดีตคณบดี?คณะศิลปศาสตร์? มหาวิทยาลัย?ธรรมศาสตร์, นายเดชรัต? สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นายสามชาย? ศรีสันต์? อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายสมชาย? ปรีชาศิลปกุล? อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ?มหาวิทยาลัย?เชียงใหม่?  
    นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ? กล่าวว่า สถานการณ์การเคลื่อนไหวในปัจจุบันเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างสูง ในเรื่องของความชอบธรรมไม่มีใครสามารถอ้างได้ แม้รัฐธรรมนูญก็อ้างไม่ได้ กลายเป็น?ว่าต้องขึ้นอยู่ว่าใครจะเป็น?ผู้ใช้อำนาจ โดยเป็นตรรกะในการต่อสู้ทั้งหมดเพื่อชนะทางการเมือง ดังนั้นระบอบการปกครองใดๆ ก็ตาม จะทำงานได้จึงต้องมีเสถียรภาพ และประชาชนจะต้องยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมองย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ 10 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเริ่มด้วยเสื้อเหลือง เสื้อแดง และสลิ่ม โดยข้อเรียกร้องนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าทุกคนจะต้องยอมรับได้ คนส่วนใหญ่รับรู้ ไม่ใช่เขียนกันเอง ตีความกันเอง การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มาจากสามัญสำนึกไม่ใช่การเมืองของนักกฎหมาย จึงต้องเป็นเหตุผลที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจได้  
มี ส.ส.ร.ใช้เวลาเกิน 2 ปี
    ขณะที่นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า แนวทางแรกการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการนี้ใช้เวลาแน่นอน เกินปี 2 ปี และสุดท้ายต้องกลับไปลงประชามติ ผลก็อาจเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง ขณะที่แนวทางที่สองแก้ไขรายมาตรา อาจพุ่งเป้าสำคัญในประเด็นที่ไม่ต้องทำประชามติ เช่นเรื่อง ส.ว.ที่ถูกพุ่งเป้าเรื่องระบบเลือกตั้งที่พิศวง ความเห็นขัดแย้งในการแก้ไขไม่ใช่เรื่องแปลก รัฐธรรมนูญตั้งใจร่างไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ขณะที่การเคลื่อนไหวล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ สามารถระดมชื่อได้มากในเวลาอันสั้น สะท้อนความไม่พอใจของสังคม ถ้าเราได้รายชื่อเป็นแสนยิ่งดี มีส่วนกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่เราขยับมาได้จนถึงขณะนี้เพราะการเมืองนอกสภามีความสำคัญ เราจะรักษาให้หนักแน่นกว้างขวางมากขึ้นอย่างไร ให้รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขได้
    ด้านนายเดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากแรงกดดันทางการเมือง ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องยอมถอยออกมา เพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี โดยแบ่งออกช่วงแรก 4-5 เดือน ซึ่งรัฐบาลยอมถอยให้มีการตั้ง ส.ส.ร. แม้รัฐบาลจะไม่เต็มใจให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เท่าไหร่ แต่ก็เชื่อว่าถ้ารัฐบาลมีโอกาสพลิกเกมได้เขาจะทำอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องพยายามรักษาบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ไว้ เพื่อให้ ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อสร้างกติการ่วมกัน เพราะเราไม่อยากเป็นผู้ชนะเพียงฝ่ายเดียว ส่วนในระยะที่ 2 คือการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี โดยมีเนื้อหาหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไข โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ในฝั่งของ กกต.? หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน?แห่งชาติ ?(กสม.)? รวมถึง ส.ว. มีความจำเป็นว่าต้องยังมีอยู่หรือไม่ เป็นต้น จากนั้นก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายคือการมีรัฐบาลใหม่ ภายใต้กติกาของประชาชนผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย ส.ส.ร.
    ส่วนนายสามชาย ศรีสันต์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จำเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ต้องเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคม ไม่ใช่คนที่กระจุกตัวอยู่ข้างบนอำนาจ รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อประชาชน แต่ดีไซน์เพื่อใครบางคนบางกลุ่ม เกิดความเสื่อมถอยกระบวนการยุติธรรม การประดิษฐ์คำแปลกๆ สร้างความชอบธรรม ความเป็นชาติถูกทำให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว รัฐธรรมนูญทำให้สังคมไทยเป็นสังคมทหาร เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา กฎระเบียบไม่เท่าคำสั่ง เป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐไม่ใช่เพื่อประชาชน ทำให้ทหารสอดแทรกการบริหารราชการแผ่นดินไปทุกภูมิภาค การให้สิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่ภายใต้เงื่อนไขความมั่นคงของรัฐ กฎหมายออกมาลิดรอนเสรีภาพ อย่างประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้ทหารไปแทรกซึมปัญหาที่ดิน ป่าไม้ น้ำ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ตีความความมั่นคงในเชิงทรัพยากร ควบคุมชาวบ้านไม่ให้มีปากมีเสียง
ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น
    นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ? "ผ่าทางตัน?รัฐธรรมนูญไทย? ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น" โดยมีวงเสวนารอบที่ 3 เป็นการเสวนามุมมองที่มีต่อรัฐธรรมนูญ 2560 และความจำเป็นในการแก้ไข จากตัวแทนนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่  
    นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาหลายอย่างทำให้ต้องมีการรีเซต ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด และจะต้องมาจากประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่นิสิตนักศึกษา เพื่อร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ออกแบบโครงสร้างทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของประชาชน โดยผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญประชาชนต้องมีส่วนร่วมได้ทุกกระบวนการ แต่การที่เราอยู่ใต้รัฐบาลนี้ที่อยู่มาแล้ว 6 ปี เราไม่อาจไว้วางใจให้รัฐบาลดูแล ส.ส.ร. หรือรอดูแลกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเขาอาจใช้อำนาจบางอย่างแทรกแซง หรือใช้ ส.ส.ร. ในการสืบทอดอำนาจของเขาก็ได้ ซึ่งตนมองว่ารัฐบาลนี้ไม่ควรอยู่ต่อ ควรออกไปได้แล้ว  
    เขากล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ต้องสร้างบรรยากาศทางการเมืองเพื่อเอื้อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. คือการมีรัฐบาลใหม่ และในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ตนเสนอ 2 ประเด็นคือ แก้ไขระบบการเลือกตั้งและผู้สมัครลงเลือกตั้ง เพื่อลดภาระของพรรคการเมืองไทยให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ นำระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมและบัตรใบเดียวออกไป เพราะการเลือกตั้งบัตรใบเดียวทำให้โครงสร้างผิดเพี้ยน ได้ ส.ส.ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน พร้อมขอแก้ไขผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งจากเดิมที่ต้องอายุ 25 ปี เป็น 18 ปี และในส่วนของ ส.ว. ต้องนำ ส.ว. 250 คนออกไปทั้งชุด เพื่อไม่ให้ ส.ว. พวกนี้มีอำนาจมาโหวตนายกฯ ได้อีก โดยมาตรา 256-272 ต้องถูกลบออกจากรัฐธรรมนูญ
    “อยากฝากถึงสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าต้องใช้กลไกรัฐสภา แต่จะไม่ได้เป็นคนนำ ทั้งนี้ประชาชนจะเป็นคนนำ และต้องทำตามประชาชน โดยสิ่งที่พวกคุณต้องทำตอนนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ คือต้องทำทุกวิธีทางเพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ด้วยวิธีการที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หน้าที่ของพวกคุณไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งประชาชนว่ารัฐธรรมนูญหมวดนั้นแก้ได้ หรือหมวดนี้ห้ามแตะ โดยประชาชนต้องเป็นคนกำหนดได้ทุกหมวด ทุกมาตรา เพราะปัญหาการเมือง ปัญหาประเทศกระจายตัวอยู่ทุกหมวดตั้งแต่หมวดแรก ดังนั้นจึงขอให้สมาชิกรัฐสภามีความกล้าหาญทางจริยธรรม ขอให้เปิดทางให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยเจตนาจำนงของพวกเขาเองทุกหมวด ทุกมาตรา และให้นำมาถกเถียงเพื่อให้เกิดการแก้ไข”
    ด้านนายณวิบูล ชมภู่ หรือระวี ประธานร่วมภาคีนักศึกษาศาลายา กล่าวถึง ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ส.ว.ค่อนข้างพิสดาร ไม่ได้รับเลือกโดยประชาชน แต่เลือกโดยกระบวนการของคสช. ให้มาเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรเป็นอำนาจที่ประชาชนตัดสินใจ ถ้าเราใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อ อำนาจจะเป็นของคนกลุ่มหนึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน ขัดต่อประชาธิปไตย ต้นแบบของ ส.ว. เอามาจากรัฐธรรมนูญอังกฤษ เขาเรียกว่าสภาขุนนาง ซึ่งมีอำนาจแค่ตรวจสอบรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ชอบธรรม ไปปรึกษาควีนและยื่นศาลฎีกาที่มาจากประชาชน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเรามาจาก ส.ว.  
องคมนตรีมาจากสภา
    นายณวิบูลกล่าวต่อไปว่า อังกฤษเป็นประชาธิปไตยอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมกับอนุรักษนิยมบาลานซ์กัน ต่างกับของไทยเป็นผู้เผด็จการใช้กลไกของรัฐควบคุมประชาชนทางอ้อมโดยรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ หากไม่ยกเลิก ส.ว. ก็ขอให้มาจากประชาชนมีสิทธิเลือก ตรวจสอบอำนาจของสถาบันฯ เพื่อให้สองฝ่ายได้อยู่ร่วมกัน ท้ายที่สุดตนก็คิดว่าควรยกเลิก ส.ว.อยู่ดี รัฐธรรมนูญนี้อำนาจยึดโยงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ยึดโยงประชาชน ประชาชนต้องเริ่มเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ยึดโยงประชาชนโดยแท้จริง
    เขายังกล่าวถึงประเด็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วยว่า ต่างประเทศที่กษัตริย์เป็นประมุขในระบอบประชาธิปไตยสามารถโดนฟ้องร้องได้ ถ้าเกิดการใช้งบแผ่นดินไม่โปร่งใส ประชาชนประท้วงได้ การแต่งตั้งองคมนตรีมาจากสภา และควีนจะปลดนายกฯ ได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนพระราชอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกตามรัฐธรรมนูญไทยนั้น มองว่ารัฐสภาและนายกฯ มีอำนาจพอในการตัดสินใจเร่งด่วน ทำไมต้องให้ท่านทรงงานเรื่องนี้
    ส่วน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวว่า ตนอยู่ในสภานักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เคยสำรวจความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีผู้ตอบ 1,410 คน ส่วนมากตอบไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนใหญ่บอกควรแก้ไข เพราะเราเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่ารัฐธรรมนูญผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างการที่นายกฯ ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ แต่ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ควรยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญไหม นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามบอกใช่ ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างตรงไปตรงมา จะมีศาลรัฐธรรมนูญไว้ทำไม รัฐธรรมนูญมาจากพวกพ้องตัวเองที่เขียนทุกอย่างให้พวกตัวเองอยู่ยาว เพราะเหลิงในอำนาจ  
    น.ส.ปนัสยากล่าวเรื่องรัฐธรรมนูญต่อไปว่า รัฐธรรมนูญเขียนชายและหญิงมีสิทธิเท่ากัน ทำไมไม่เขียนบุคคลเท่ากันไม่ต้องแบ่งเพศ LGBT คนยอมรับได้ ทำไมรัฐธรรมนูญยอมรับไม่ได้ การศึกษาบอกควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ไม่บอกได้ฟรี เกณฑ์ทหารก็ควรยกเลิก เสียเวลาพัฒนาตัวเอง 2 ปี ทั้งที่ไม่มีสงคราม รัฐธรรมนูญไม่มาจากประชาชนถึงมีปัญหาอย่างนี้ เราไม่ควรทนอยู่กับกฎหมายที่ผิดเพี้ยนขนาดนี้ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรแก้โดยเร็วที่สุด และด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อให้เป็นกฎหมายโดยประชาชน เพื่อประชาชน  
    น.ส.ปนัสยายังกล่าวถึงผลสำรวจเห็นด้วยหรือไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เรื่องกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะละเมิดมิได้ ว่า ผลสูสีครึ่งๆ เห็นด้วย ถ้าตนทำอีกรอบผลตรงนี้อาจเปลี่ยนไปก็ได้ เพราะเราสามารถวิพากษ์สถาบันฯ ได้อย่างเสรีมากขึ้น การดันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ไปเป็นหนึ่งในข้อเสนอพิจารณาชั้น ส.ส.ร. จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1-2 ที่ห้ามแตะสถาบันฯ โดยเด็ดขาด และตนมีข้อเสนอด้วยว่า การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าประชาชนมีสิทธิต่อต้านการรัฐประหารในทุกรูปแบบโดยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย คือหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้าน ขอให้ทุกคนแสดงความกล้าพูดในสิ่งที่ไม่พอใจ ผิดปกติ แม้กระทั่งเรื่องสถาบันฯ ก็ตาม ขอส่งความกล้าให้ทุกคน
    ต่อมาในช่วงถามตอบ ตอนหนึ่งผู้สื่อข่าวถามถึงโมเดลการตั้ง ส.ส.ร.ของรัฐบาล ที่จะมีสัดส่วนของนักศึกษาร่วมด้วย น.ส.ปนัสยาตอบว่า ถ้ามาจากการเลือกตั้งก็ดี แต่ไม่ทราบว่าเขาจะเชิญกลุ่มนักศึกษากลุ่มไหน เข้าพวกกับฝั่งเขาหรือไม่ เขาจะใช้พวกนั้นเป็นเครื่องมือหรือไม่ เราจะเห็นด้วยก็ต่อเมื่อทุกคนใน ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น.

 
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"