สุชาติ ตระกูลเกษมสุข จากอธิบดีศาล สู่เก้าอี้ ป.ป.ช.
หลังเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 มีการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใหม่จำนวน 2 ชื่อ คือ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา และนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข หลังจากนั้น ป.ป.ช.ใหม่ทั้ง 2 คนก็ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถึงขณะนี้ก็ทำงานมาได้เดือนกว่าแล้ว
สุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่เป็นอดีตตุลาการมาก่อน โดยผ่านตำแหน่งสำคัญๆ มา เช่น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสุโขทัย, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกมาเป็น ป.ป.ช.ก็คือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ไทยโพสต์ ถึงการทำงานในตำแหน่ง ป.ป.ช.หลังจากนี้ โดยเริ่มต้นกล่าวถึงสาเหตุที่เปลี่ยนชีวิตการทำงานจากผู้พิพากษา มาสมัครรับเลือกเป็น ป.ป.ช. จนได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน และต่อมาวุฒิสภาก็ลงมติเห็นชอบให้เป็น ป.ป.ช. โดยบอกว่าสาเหตุที่สมัครเป็น ป.ป.ช. เพราะผมก็ดูว่าเราถึงวัยนี้ยังมีสติปัญญา สุขภาพที่ยังดีอยู่ เมื่อโอกาสเปิดมีการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าไปเป็นกรรมการ ป.ป.ช.จึงสมัครไป เพราะต้องการเข้ามาทำงานเป็น ป.ป.ช.เพื่อจะได้รู้การทำงานของ ป.ป.ช. อีกทั้งต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งจากชีวิตข้าราชการตุลาการ ที่มาถึงระดับอธิบดีศาลชั้นต้นแล้ว อนาคตหากยังรับราชการเป็นตุลาการอยู่ จะไปถึงศาลฎีกา ก็มีโอกาสอยู่ แต่เมื่อเห็นว่าการทำงานใน ป.ป.ช.เปิดโอกาสให้เข้ามาสมัคร ก็เห็นว่าน่าสนใจ
ส่วนก่อนหน้าจะเข้ามาเป็น ป.ป.ช.ก็มององค์กรอิสระแห่งนี้ว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระที่มีลักษณะการทำงานแบบ specialist เป็นองค์กรอิสระแบบพิเศษที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นองค์กรอิสระที่มีการติดดาบเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เพราะจากเดิมที่การทำงานลักษณะแบบนี้ จะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลักในการทำงาน แต่ก็พบว่ามันไม่สามารถนำคนที่กระทำความผิดที่แท้จริงมารับโทษได้ จึงต้องมีการใช้ วิธีการพิเศษ แบบ ป.ป.ช.เวลานี้ ซึ่งการใช้วิธีการพิเศษก็จำเป็นต้องใช้ องค์กรพิเศษ มาทำงาน
และเมื่อได้เข้ามาทำงานเป็น ป.ป.ช.แล้วพบว่า ตัวเนื้องานระหว่างการทำงานสมัยเป็นผู้พิพากษากับตอนเป็น ป.ป.ช.ไม่แตกต่างกัน ก็คือการพิจารณาว่าใครทำถูกใครทำผิด เพียงแต่ว่าปัจจุบันเราไม่ได้เป็นศาลแล้ว การจะไปบอกว่าบุคคลใดทำถูกหรือทำผิด มันยังไม่สิ้นสุด เพราะกระบวนการพอจบจาก ป.ป.ช.แล้ว ก็ยังต้องส่งเรื่องไปให้อัยการ ส่งสำนวนฟ้องให้ศาลยุติธรรมพิจารณาต่อ การทำงานของ ป.ป.ช.ก็เหมือนกับการกรองงาน ดังนั้นการจะไปเสาะหาพยานหลักฐานแบบเข้มข้น ก็อาจจะน้อยกว่าศาล ส่วนมากจะใช้วิธี มีเหตุอันควรเชื่อ อะไรแบบนี้ คือ ไม่ต้องปราศจากความสงสัย แล้วว่าคนนี้กระทำความผิดจริงหรือไม่จริง
...หลังเข้ารับตำแหน่งทำงานมาได้ 1 เดือนกว่า ปัจจุบันก็ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานภาครัฐ 1 ก็จะกำกับดูแลเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงองค์กรมหาชน ส่วนงานภูมิภาคที่ทาง ป.ป.ช.แบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 ภาคเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม ก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ของภาค 6 ที่คือพื้นที่ 9 จังหวัดของภาคเหนือตอนล่าง เช่น พิษณุโลก ตอนนี้สำนวนคดีที่รับผิดชอบก็เป็นคดีทั่วไป แต่หากคดีไหนเป็นเรื่องใหญ่ๆ ทางกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดก็จะรับผิดชอบร่วมกันในการพิจารณา
และในฐานะ ป.ป.ช.ที่มาจากสายตุลาการ เราเลยถามถึงว่าจะนำประสบการณ์การตัดสินคดีมาใช้ในการทำงาน ป.ป.ช.อย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะการไต่สวน ลงมติทำความเห็นในคำร้องแต่ละสำนวน สุชาติ-ป.ป.ช.และอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ให้ทัศนะว่า อันนี้ยากเพราะศาลเป็นแบบตั้งรับ อัยการส่งสำนวนฟ้องมาให้ศาล แล้วศาลก็มาพิจารณาโดยจำเลยก็พิสูจน์ตัวเอง แล้วศาลก็ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน แต่การไต่สวนของ ป.ป.ช.ต้องพิจารณาว่าแต่ละสำนวนเมื่อใดถึงจะเพียงพอ พยานหลักฐานแต่ละเรื่องครบถ้วนเพียงพอหรือยัง ผมบอกตรงๆ ตอนนี้เพิ่งเข้ามา ก็ยังไม่มีทักษะตรงนี้พอสมควร ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไป
“โดย skill ส่วนตัวของผมที่เคยทำมา ผมก็พอจะรู้ได้ว่าเรื่องไหน ถ้าส่งสำนวนของ ป.ป.ช.ไปแล้ว ศาลจะเห็นไปทางไหน ก็สามารถนำมาช่วยงาน ป.ป.ช.ได้ในจุดนี้”
...จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็เชื่อว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับการทำงานในตำแหน่ง ป.ป.ช.ได้ในหลายเรื่อง อาจจะว่าด้วยดุลยพินิจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางทีเราก็กำกับด้วยข้อกฎหมาย เช่น การรับฟังพยานบอกเล่าในทางกฎหมาย ซึ่งถือว่ามีน้ำหนักน้อย แต่หลักกฎหมายแบบนี้ ทางกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไม่ได้เป็นนักกฎหมาย ผมก็สามารถจะอธิบายให้ ป.ป.ช.ทราบได้ว่า หากเป็นพยานบอกเล่าแบบนี้ ถ้าคดีไปถึงศาล จะมีน้ำหนักน้อย ถ้าเกิด ป.ป.ช.ไปฟังแล้ว ป.ป.ช.ไปชี้มูลเขา ก็อาจถูกยกฟ้องโดยเปล่าประโยชน์
สุชาติ-กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักการทำงานในฐานะเป็น ป.ป.ช.จุดหนึ่งที่สังคมไทยอยากเห็นก็คือ คนตัวใหญ่โดนลงโทษ แต่บางเรื่องราว ก็แน่นอนว่า เราอาจจะไม่มีพยานบุคคลที่จะไปเห็นการลักวิ่งชิงปล้นที่จะมีพยานบุคคลเห็นใครไปทำร้ายใคร ไปยิงใคร แต่พวกคดีทุจริต ทำงานกันอยู่ในห้อง มันก็เลยต้องมีบางเรื่องบางราวที่เราต้องกันคนร่วมกระทำผิดด้วยกันเอาไว้เป็นพยาน จุดที่ยากตรงนี้ก็คือ เราจะกันใครเป็นพยาน เพราะเขาก็ร่วมกระทำผิด หลักใหญ่ตรงนี้ก็คือ พอมีการไปสอบสวนจับคนทำผิดที่อาจเป็นคีย์แมนเลยก็ได้ เพื่อหวังโยงไปให้ถึงตัวการใหญ่ แต่หากว่าต่อไปคนนั้นเกิดว่าเขากลับคำให้การ ก็จะไม่มีพยานเหลืออยู่เลย เช่น การสอบสวนเห็นมีตัวการใหญ่อยู่ 2 คน แล้วมีการกันคนร่วมกระทำผิดระดับล่างไว้เพื่อจะเอาผิด 2 คนดังกล่าว ก็จะถูกบีบอีก ดังนั้นดุลยพินิจการชี้มูลคดี ผมว่าอาจจะยังไม่ยากเท่ากับเราจะเอาใครมาเป็นพยาน
ทั้งนี้ สุชาติ-ป.ป.ช. ก่อนหน้านี้ในยุค คสช. ก็เคยเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุค คสช.มาก่อน จากจุดดังกล่าวเลยถามถึงกรณีเสียงวิจารณ์ที่ว่า ที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็น ป.ป.ช.ก็มาจาก ส.ว.ชุดปัจจุบัน ที่ถูกคัดเลือกและเสนอชื่อในยุค คสช. แล้วถ้ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคนในซีกรัฐบาล เช่น รัฐมนตรี หรือ ส.ส.รัฐบาล จะวางใจการทำงานของ ป.ป.ช.ได้อย่างไร คนก็มองว่าจะมีการแทรกแซง หรือการช่วยเหลือกัน ซึ่งคำตอบที่ได้ สุชาติ-ป.ป.ช ตอบเราว่า โดยหลักคนที่เป็นกรรมการอิสระก็ต้องมาจากฝายนิติบัญญัติ ก็คืออย่างที่มาจาก ส.ว.เป็นคนเห็นชอบ ซึ่งแน่นอนผมก็ต้องรู้จักคนบ้าง แต่ถ้าจะไปมองว่า คุณรู้จักกันแล้วแบบนี้จะมาช่วยเหลือกัน ก็ต้องถามตรงนี้ก่อนว่า แล้วที่มาของบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระจะให้มีที่มาจากไหน โมเดลที่คิดว่าต้องขาว บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่รู้จักใครเลย เราก็จะได้คนที่ไม่มีงานทำมาทำงาน ส่วนเรื่องคอนเนกชัน ทุกคนมันมีรุ่น มีพวก มันมีทุกคน เพียงแต่เราอยู่ในระดับที่ว่าจะไม่คบกับใครเลยก็ไม่ได้ แต่คบมากมันก็ไม่ดี ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็มี ที่บอกว่าไปทานข้าวกับเพื่อนก็ไม่เห็นแปลก แต่ในบรรดาเหล่าเพื่อน คนที่ไม่ใช่เพื่อนก็มาร่วมนั่งด้วยกัน แล้วเกิดมีรูปติดเข้ามา ก็แบบนี้ ก็ถามนี่เพื่อนหรือ แล้วคนไหนใคร แล้วรู้ไหมคนนั้นประวัติไม่ดี มันก็มีนะ เราก็พูดยาก
อย่างในฐานะที่ผมเป็น สนช.มาก่อนด้วย ก็รู้จักคนในนั้น (วุฒิสภา) แต่อย่าลืมว่า หากรู้จักแล้วเขารู้จักในทางที่ไม่ดี เขาจะเลือกเราไหม เพราะอย่าลืมว่าวุฒิสภาก็มีการตรวจสอบประวัติ เช่น เราเคยมีคดีอะไรหรือไม่ ที่ก็ต้องถามว่าหากประวัติลายพร้อย ทาง ส.ว.จะโหวตเอาเราหรือเปล่า ถูกไหม คือตัวนำเสนอก็ต้องดีด้วย คือผมก็ไม่ได้พูดชมตัวเอง แต่ผมก็มั่นใจพอสมควรว่าประวัติผมไม่มีอะไร ไม่อย่างนั้นคงไม่กล้ามา
-ทำให้ก็เลยมีคนจับตามอง พูดถึงเยอะเช่นเรื่องคุณสมบัติที่เคยเป็น สนช.มาก่อนแล้วได้รับเลือกเป็น ป.ป.ช. ที่ตอนนี้ก็จบไปแล้ว รวมถึงเรื่องที่เคยเป็น สนช.มาก่อน จะมีผลต่อการทำงานอะไรหรือไม่?
ผมก็เข้าใจ แต่ว่า ส.ว. 250 คน จริงๆ มาจาก สนช.ชุดที่แล้วแค่ประมาณ 80 คน ยังไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมดเลย แต่ผมได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมลับวุฒิสภา โหวตให้เข้ามาเป็น ป.ป.ช.ด้วยคะแนนเสียง 219 เสียง ถ้าผมสนิทจริงๆ ผมคงไม่เข้ามาอันดับ 2 แต่กรรมการ ป.ป.ช.อีกคนที่เข้ามาพร้อมผม ท่านณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ได้รับเลือกมาด้วยคะแนนเสียงมากกว่าผมอีก (224 เสียง) คือหากจะช่วยกัน ทำไมผมโดนหักไปตั้งหลายเสียง ส่วนประเด็นเรื่องคุณสมบัติที่เคยพูดกันเรื่องเคยเป็น สนช.มาก่อน ผมก็ดูแล้วว่า สนช.เป็นการทำหน้าที่แทน (ฝ่ายนิติบัญญัติคือ ส.ส.และ ส.ว.) จึงไม่น่าจะมีอะไร ก็ไม่คิดว่าเป็นประเด็นด้วยซ้ำ
-ทั้งหมดเป็นแรงผลักดันให้ยิ่งต้องพิสูจน์การทำงาน?
ใช่ครับ ผมต้องเอาการทำงานของผมมาพิสูจน์ เพราะตอนนี้เรื่องคุณสมบัติมันจบไปแล้ว เมื่อทุกคนจดจ้องอยู่ เรายิ่งต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทำอย่างตรงไปตรงมา อย่าลืมว่าผมเป็นผู้พิพากษามาก่อน ที่ก็ต้องอยู่บนหลักการคือ ฟังความทั้ง 2 ฝ่าย
-มองยังไงที่คนมองและพูดกันว่าองค์กรอิสระยุคนี้ไม่มีความอิสระจริง?
ต้องถามว่ามองในเชิงด้านไหน ตอนนี้ผมอยู่ ป.ป.ช.มาหนึ่งเดือนกว่าที่ ป.ป.ช.อาจจะวิจารณ์อะไรมากไม่ได้ แต่หากเปรียบเทียบกับตอนสมัยเป็นผู้พิพากษา คำพิพากษาที่ดีออกมาหนึ่งสำนวน ไม่ใช่หมายถึงตัวผู้พิพากษาคนเดียว แต่จะต้องประกอบด้วย 1.ความสุจริตของคู่ความ เช่น คุณแกล้งฟ้อง แกล้งร้องกันหรือไม่ บางคนไม่มีอะไรมากก็แจ้งความเพื่อขอให้อีกฝ่ายยุติ 2.ความสุจริตของพยานหลักฐาน เช่นปั้นพยานหลักฐานเท็จมาหรือไม่ ทุกกระบวนการเราต้องตรวจสอบหมด 3.ความสุจริตของเจ้าหน้าที่ ที่หมายถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งมาทำก่อนหน้าเรา จะเป็นใครก็ได้ เขาได้ดำเนินการสอบสวนคดี ไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าสามสิ่งนี้ประกอบกันมา จนมาถึงการพิจารณาตัดสินคดี สุดท้ายก็จะออกมาเป็นคำพิพากษาที่ดีได้ เป็นความเห็นที่ดีได้ และข้อที่ 4 คือเรื่องความสามารถในการตัดสินคดีของผู้พิพากษา ว่าเขาเก่งหรือไม่เก่ง หากทั้งหมด 4 เรื่องดังกล่าวมาประกอบกัน ก็จะออกมาเป็นคำพิพากษาที่ดี
...นอกจากจะดู 4 เรื่องดังกล่าวแล้ว จริงๆ ก็ยังไม่พอ เพราะต้องไปดูเรื่อง ความสุจริตในข้อกฎหมาย เช่น กฎหมายเอื้อเราไหม ให้เราไปได้ไหม อย่างสมัยก่อนที่คนมักชอบพูดกันว่า เอาซาเล้งไปปรับเงินคดีซีดีเป็นแสนบาท ก็ในเมื่อกฎหมายเขียนไว้ให้ปรับเป็นแสน ก็ต้องปรับเป็นแสน ศาลจะเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ในเมื่อข้อกฎหมายเป็นเช่นนั้น ก็เลยทำให้คนบอกว่าไม่เป็นธรรม นิติวิธี ความสุจริตของผู้พิพากษาในเชิงกฎหมายมันก็มี เช่นดุลยพินิจที่กฎหมายเปิดช่องไว้ เป็นความตั้งใจที่ให้เกิด คือเรื่องดุลยพินิจ ที่ก็จะถูกกำหนดอยู่ข้างในอีกว่า การใช้ดุลยพินิจนั้น ก็ต้องใช้ด้วยความเหมาะสม ต้องเสมอภาค ต้องเป็นธรรม ทุกอย่างต้องอยู่ในองค์ประกอบนั้น
หากการทำงาน (ป.ป.ช.) ไม่หลุดจากเฟรมนี้ ประชาชนก็จะเชื่อมั่นศรัทธา แต่ที่ทุกวันนี้ประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นศรัทธา เพราะมันหลุดจากกรอบตรงนี้ เช่นทำไมคดีนี้ลงโทษแบบนี้ แต่อีกคดีลงโทษอีกแบบหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าข้อเท็จจริงในแต่ละสำนวนจะแตกต่างกัน ต่อให้คู่คดีทำความผิดเหมือนกัน แต่ถ้าแต่ละคนมีมูลเหตุจูงใจที่เป็น factor ในการกระทำความผิดไม่เหมือนกัน ศาลก็มีสิทธิ์ที่จะลงโทษไม่เหมือนกัน
-สมัยเป็น สนช. (ยุค คสช.) ที่เข้าไปเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้เข้าไปร่วมยกร่างเพื่อทำให้กฎหมายออกมาปิดช่องโหว่การสอบสวนเอาผิดเรื่องทุจริตอย่างไร?
ช่องโหว่ที่ผ่านมาในเรื่องนี้ คือเรื่องการทำงานการแสวงหาพยานหลักฐาน ซึ่งตามร่างเดิมก่อนจะผ่านความเห็นชอบ บางเรื่องตามร่างเดิมที่เสนอมา บางอันก็หมิ่นเหม่กับการจะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ก็ไปสุดกู่เหมือนกัน ตอนนั้นที่ผมเป็น สนช.และยังรับราชการอยู่ที่ศาลยุติธรรม บางเรื่องผมก็บอกว่าเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งตอนนั้นผู้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในชั้นแรก รู้สึกว่าเขาอยากได้หมด แต่สุดท้ายก็มีการตัดทิ้งออกไป
สำหรับ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบัน โดยภาพรวมดีกว่าของเดิมแน่นอน เพราะมีการรวมทุกหมวดไว้อยู่ โดยกฎหมายการปราบปรามการทุจริตของประเทศ ของประเทศไทยถือว่าใช้ได้ แต่ของเรายังขาดเรื่อง "กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม" ซึ่ง รธน.รับรองไว้ แต่กฎหมายลูกยังไม่มีการผ่านออกมา ก็ทำให้เรา (ประเทศไทย) ได้คะแนนตรงนี้น้อย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็มีการเสนอเข้ามาที่ สนช. มีการตั้งคณะ กมธ.วิสามัญมาพิจารณา มีการอภิปรายแสดงความเห็นกัน แต่ก็หาจุดสมดุลไม่ได้ว่าการขัดกันดังกล่าวอยู่จุดไหน เมื่อเราจุดสมดุล หาคำจำกัดความไม่ได้ เลยต้องพิจารณารายละเอียดกันเยอะ ถึงเคยมีข่าวเช่นเรื่องการนำโทรศัพท์มือถือมาชาร์จในที่ทำงานของส่วนราชการ ทำไปทำมาเราคิดวนไปถึงขนาดที่ว่า หากทำกันแบบนี้ข้าราชการชั้นผู้น้อยจะเดือดร้อน เพราะอย่างตอนปิดเทอม ข้าราชการบางคนก็นำลูกมาเลี้ยงที่ทำงาน เพราะเขาไม่มีคนเลี้ยงลูกให้ เอาลูกมาอยู่ที่ทำงาน มาเดินเล่น แล้วแบบนี้จะขัดกับผลประโยชน์ส่วนบุคคลไหม แต่ระดับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะไม่โดน ก็มีการยกตัวอย่างมีการตีความกันถึงขนาดนั้น
ในชั้น สนช.พอเราถกเถียงกันนานมาก ทำให้กระบวนการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเลยใช้เวลานานพอสมควร จนเกือบพิจารณาเสร็จ แต่ก็พอดีว่า สนช.หมดวาระเสียก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะคลอดออกมาเป็นกฎหมาย ก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะหากมีการประกาศใช้กฎหมายแบบนี้ทุกอย่างจะสมบูรณ์เลย
และอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง การยึดทรัพย์ในต่างประเทศ เรายังไม่มีกฎหมายทำเรื่องนี้ ผมยังไม่มั่นใจว่าขั้นตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว แต่ต่อไปหากว่าเราสามารถไปยึดทรัพย์คนที่กระทำความผิดแล้วไปอยู่ต่างประเทศได้ นำทรัพย์สินไปซุกอยู่ต่างประเทศ หากทำได้ก็จะทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนอำนาจต่างๆ ของ ป.ป.ช.เวลานี้ตามกฎหมายมองว่า ถ้าเรื่องการปราบปราม ผมก็คิดว่าพอสมควรแล้ว เพราะตอนนี้เทคโนโลยีมันเยอะ เพียงแต่ว่าผมก็ห่วงในเรื่อง ถ้าให้มากเกินไปแล้วเราไป abuse มันเอง ก็จะเป็นการไประรานสิทธิส่วนบุคคล
-การทำงานของ ป.ป.ช. หลายครั้งต้องเจอแรงกดดันทางการเมือง เช่นในอดีตเคยมีม็อบมาปิดล้อมหน้าสำนักงาน หรือมีการยิงอาวุธสงคราม M79 เข้ามาในสำนักงานตอนช่วงการชุมนุมทางการเมืองแรงๆ?
เรื่องพวกนี้ผมฝึกมาดี เพราะว่าตอนสมัยรับราชการอยู่ที่ศาลก็เป็นแบบนี้ แต่เราก็ไม่เคยเจอแรงกดดันแบบที่ถาม ส่วนมากศาลก็จะลอยตัวกว่า เพียงแต่ช่วงหลังก็มีที่ลงมาเป็นคู่กรณีกับเขาด้วย แต่เมื่อเข้ามาเป็น ป.ป.ช.ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ ที่อาจทำให้เราต้องคิดมากขึ้น พูดให้น้อยลง อย่าไปแสดงความเห็นทางการเมืองจนกว่าจะถึงเวลา คืออย่าแสดงความคิดเห็นเร็วไปจนกระทั่งมีการผลักเราไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง แต่จะให้ไม่แสดงออกอะไรเลยก็คงไม่ได้ เพราะก็จะเหมือนกับคนที่ไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวอะไรเลยกับประเทศไทย แบบนั้นก็คงไม่ได้ แต่การแสดงความเห็นนั้นจะทำก็ต่อเมื่อถึงเวลาอันสมควร เช่น แสดงผ่านมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าเราคิดกับเรื่องแบบนี้อย่างไร พยานหลักฐานเป็นอย่างไร
เมื่อถามถึงการทำงานเชิงรุกของ ป.ป.ช.ต้องทำเพิ่มมากกว่าปัจจุบันหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช. ถูกมองว่าทำงานแบบตั้งรับ ต้องรอให้มีคนมายื่นเรื่องร้องให้ ป.ป.ช.สอบ ทั้งที่บางกรณีคนมองว่าอาจทำเชิงรุกได้ เช่นการตรวจสอบการอนุมัติโครงการต่างๆ ใน พ.ร.ก.เงินกู้โควิด 4 แสนล้านบาท สุชาติ-กรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นว่า ลำพังแค่เรื่องที่มีคนมายื่นเรื่องให้ตรวจสอบ บางทีเรายังหาความร่วมมือเพื่อหาพยานหลักฐานยังทำได้ยากอยู่ เช่นส่งบัตรสนเท่ห์มาที่สำนักงาน ป.ป.ช. หรือคนอื่นๆ ที่มายื่นเรื่องให้ตรวจสอบต่างๆ ซึ่งกฎหมายก็บัญญัติให้ ป.ป.ช.ไปแสวงหาพยานหลักฐานเองได้ ซึ่งการทำงานแบบที่ถามเป็นเรื่องที่ดี คือทำให้การทำงานมีความรวดเร็ว แต่หากทำรวดเร็วแล้วเกิดพลาดพลั้งขึ้นมาจะทำอย่างไร เพราะ ป.ป.ช.ในหลักกฎหมายทางอาญาก็คือกึ่งๆ ศาล อย่างเช่นการจะกล่าวหาข้าราชการด้วยเรื่องที่เบาที่สุดในเรื่องการทำผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ เรายังต้องแจ้งเรื่องให้เขาทราบเพื่อให้คนนั้นได้มีโอกาสมาชี้แจง เพราะบางองค์กรแม้เป็นแค่เรื่องวินัยไม่ร้ายแรง เช่น องค์กรตุลาการ แค่มีผู้พิพากษาจากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ มีมติให้ตักเตือนผู้พิพากษาคนไหน ชีวิตการรับราชการของคนนั้นก็แย่ไปแล้ว แม้ในสายตาคนอื่นอาจมองว่าเบา แต่สำหรับผู้พิพากษาก็มองว่าเป็นเรื่องร้ายแรง
...การทำงานของ ป.ป.ช.ก็ต้องให้สิทธิบุคคลต่างๆ ในการชี้แจง ดังนั้นการทำงานก็ต้องยึดหลักสุจริตสี่ประการ อย่างที่บอกคือ เจ้าหน้าที่ต้องสุจริต, พยานหลักฐานต้องสุจริต, คู่กรณีต้องสุจริต, คนชี้ขาดต้องสุจริต มันถึงจะไปได้ จะขาด factor ใด factor หนึ่งไม่ได้เลย เพราะอย่างคำพิพากษาของศาลที่ดีจะออกมาไม่ได้เลยหากไม่มีหลัก เจ้าหน้าที่ต้องสุจริต-พยานหลักฐานต้องสุจริต-คู่กรณีต้องสุจริต ที่ก็เทียบเคียงกับมติ ป.ป.ช.แต่ละเรื่องได้ เพราะหากคำร้องใดคนร้องตั้งใจกลั่นแกล้งร้องเรียน ร้องมาแล้วแต่กลับไม่ยอมมาให้การ มีการดึงไว้แล้ว ป.ป.ช.จะเอาข้อเท็จจริงจากที่ไหน และเมื่อให้พยานหลักฐานมา เราก็ต้องมาพิสูจน์อีกว่าพยานที่ได้เท็จหรือว่าจริง โดยเฉพาะ พยานบุคคล เพราะคนมีลิ้นจะพูดยังไงก็ได้ ไม่เหมือนพยานเอกสารที่มีการเซ็นอะไรกัน
-ปัญหาเรื่องสำนวนและเรื่องร้องเรียนคั่งค้างจำนวนมากของ ป.ป.ช. ที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยว่ามีร่วมหนึ่งหมื่นกว่าคดี ตอนนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณสามพันกว่าเรื่อง มีคำร้องค้างอยู่อีกร่วมเจ็ดพันเรื่อง ป.ป.ช.จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร?
เป็นเรื่องของการจัดการคดี-คำร้อง อย่างหลังจากที่ผมเข้ามาเป็น ป.ป.ช. ก็พบว่าเวลานี้ก็มีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในชั้น ป.ป.ช.กำลังใกล้จะขาดอายุความค่อนข้างเยอะ ปัญหาดังกล่าวอันหนึ่งที่แก้ไขได้คือ การบริหารจัดการคดี อย่างที่ศาลยุติธรรมก็มีการวางระบบการบริหารจัดการคดี แต่แน่นอนว่าของศาล อาจทำได้ง่ายกว่า บางเรื่องเช่นเรื่องคดีการกู้ยืมเงินที่จำนวนหลักหมื่นบาท ก็สามารถทำแบบ fast track ได้ แต่คำร้องที่เข้ามา ป.ป.ช.ทำแบบนั้นไม่ได้ อาจมีแค่บางกรณีเช่นจงใจไม่ยื่นพยานหลักฐาน แบบนี้ก็สามารถทำให้เร็วได้ ก็อยู่ที่การบริหารจัดการคดี ก็เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของ ป.ป.ช.ที่กรรมการต้องมาคุยกันอีกทีว่าจะจัดการในรูปแบบใด
ทุกวันนี้ ป.ป.ช.ก็ประชุมกันต่อเนื่องสัปดาห์ละสามวัน ซึ่งหากเรื่องเข้ามาถึงที่ประชุมใหญ่ไม่มีช้ารับรอง แต่ที่ช้าก็ช้าตรงกระบวนการ process เช่น process จากกฎหมาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ผมไปตรวจงานต่างจังหวัด พบว่าเจ้าหน้าที่ไต่สวนระดับสูงของเราแทบไม่มี เรามีแต่ระดับกลางกับระดับต้น ซึ่งประสบการณ์ การฝึกอบรมต่างๆ การทำงานยังน้อยอยู่ ก็ต้องขอเวลาให้เขามีประสบการณ์ด้วย.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
...................................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |