การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่มาในภาพของแนวร่วมของภาคประชาชนหลายส่วนที่ต่อต้านรัฐบาลเริ่มขยับปรับจัดกิจกรรมจาก “แฟลชม็อบ” มาเช้าเย็นกลับ มาเป็นการค้างคืนปักหลักเพื่อรอทำกิจกรรมวันรุ่งขึ้น ผสมผสานกับการจัดเสวนา การแสดงดนตรี ที่มีห้วงเวลาการทำกิจกรรมยาวขึ้นกว่าเดิม
เยาวชนที่อยู่ในโลกโซเชียลมีเดียให้ความสนใจและเริ่มออกมาสังเกตการณ์ ร่วมทำกิจกรรมกันมากขึ้น กลายเป็นปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ปฏิเสธการใช้อำนาจนิยม จนกลายเป็นการสร้างจารีตใหม่ที่สั่นคลอนโครงสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และสถาบันการศึกษา
ความน่าสนใจคือ แนวคิดดังกล่าวถูกนำไปปฏิบัติด้วยความไม่เข้าใจ กลายเป็นการต่อต้านแบบสุดโต่ง เกิดเป็นการเผชิญหน้าด้วยอารมณ์ ไม่ได้นำคำว่าสิทธิ เสรีภาพนั้นไปถกเถียงในสิ่งที่เป็นอยู่ด้วยเหตุผล ในทางกลับกัน ด้วยวัยวุฒิ ที่มีแนวโน้มจะใช้อารมณ์มากกว่า จึงกลายเป็นเรื่องของการชนะคะคานกันในประเด็น ระหว่างกลุ่มที่อาบน้ำร้อนมาก่อน กับกลุ่มแสวงหาความเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็น “บาดแผล” ระหว่างคนในสังคมที่ไม่ได้บูลลี่กันแบบเก่าที่งัดเรื่องปมด้อยร่างกาย เพศ สถานะ มาเปรียบเทียบ ทว่าเริ่มมีการจัดเฉดเรื่องฝ่ายที่ต้านเผด็จการว่า คือฝ่ายก้าวหน้า มีสมอง มองการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ส่วนพวกที่ถูกเรียกว่าเผด็จการ จัดเป็นพวกอนุรักษนิยม คร่ำครึ ไร้สมอง ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง เป็นวิธีคิดเดียวในระนาบของส้มเน่า ควายแดง และสลิ่ม
ในที่สุดก็กลายเป็น “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ที่ฝังรากลึกอยู่ในกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกัน 2 ฝ่าย ไร้จุดร่วมที่สร้างพลังผลักดันในการพัฒนาการเมืองที่ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ต่อส่วนรวมแม้แต่น้อย แทนที่จะจับมือกันเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึก โดยผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงขาดพลัง
การสร้างแรงกดดันนอกสภาฯ ของกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่แบ่งเป็น 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน ดูเผินๆ เป็นความแตกแยกในแนวทาง แต่ในทางกลับกันอาจมองว่าเป็นบันได 3 ขั้นในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง
การหยั่งเชิงโดยการโยนข้อเรียกร้อง 10 ข้อออกมา สามารถวัดได้ว่ากลุ่มเยาวชนที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ในชุมชนที่พูดคุยกันเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมที่จะแสดงตัวภายใต้หน้ากากอนามัยที่ปกปิดหน้าตาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 บ่งบอกถึงการต่อสู้ที่ระมัดระวัง จากกุนซือที่ออกแบบการต่อสู้ ที่ไม่ใช้วิธีส่งเด็กมาวิ่งชนกำแพง จนถูกจับกุมดำเนินคดีกลายเป็นความเข็ดขยาด เหมือนถูกไม้เรียวตี
แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ยังเป็น “จุดเปลี่ยน” และเป็นความอ่อนไหวในการต่อสู้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ออกมาประกาศทุกครั้งเรื่องการชุมนุมแล้วล่วงละเมิดสถาบัน
ในส่วนของรัฐบาล เลือกที่จะใช้ “ไม้นวม” บังคับใช้กฎหมาย และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน เก็บหลักฐานเพื่อดำเนินคดี และดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ส่วนกรณีที่ยังเป็นเยาวชนก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจ หรือพูดคุยกับผู้ปกครอง พร้อมๆ กับขอความร่วมมือสถาบันการศึกษาในการเข้มงวดจัดกิจกรรมเฉพาะนักศึกษา
กลายเป็นภาพข่าว จับแล้วปล่อย แกนนำคนสำคัญที่มีอิทธิพลในการชูธงขับเคลื่อนในเวทีต่างๆ แต่ไม่มีคำสั่งห้าม ขัดขวาง หรือใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม ตัดตอนแผนการสร้าง “ฮ่องกงโมเดล” ด้วยการรับมือด้วยไม้นวม
และกว่าจะถึงวันที่ 19 ก.ย. ตรงกับวันครบรอบการรัฐประหาร 2549 การขยับตัวของกลุ่มมวลชนกลุ่มต่างๆ ไม่ได้มีแค่กลุ่มเยาวชน หรือนักศึกษาเท่านั้น ทว่าแนวร่วมของกลุ่มมวลชนจากต่างจังหวัดที่จะเข้ามาผนึกกำลังกับกลุ่มประชาชนปลดแอก โดยเฉพาะกลุ่มพีมูฟ ที่เรียกร้องกดดันให้รัฐแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร แรงงาน กลุ่มเปราะบางทางสังคม ฯลฯ ที่ขณะนี้ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งหากมีการเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็อาจมีการปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ
ยังไม่นับอิทธิพลของมหาอำนาจที่ได้อานิสงส์จากการชุมนุม และหาจังหวะเข้ามาร่วมวงด้วยการสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุม ภายใต้ฉากหน้าที่ว่าด้วยเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพ ด้วยสถานะที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ อยู่ท่ามกลาง “เขาควาย” ในสถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ส่งผลให้การชุมนุมครั้งนี้จะมีองค์กรระหว่างประเทศ สื่อต่างชาติ ที่ให้ความสำคัญและนำเสนอการชุมนุมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย ภายใต้ชุดข้อมูลการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ และเลยธงไปเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เฝ้าดูสถานการณ์อย่างระวัง และรีรันภาพก่อนเหตุการณ์การรัฐประหารในปี 2557 เพื่อเตือนสติไม่ให้เกิดการ “ล้างไพ่” เหมือนเดิมอีก เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังเจอกับโจทย์ใหญ่กว่าเรื่องการเมือง นั่นก็คือผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่จะส่งผลยาวนานต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจของไทยที่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่นับความหวั่นใจว่าจะต้องเจอกับโควิด-19 ระลอกสอง
โดยเฉพาะยังมี “จุดอ่อน” อีกหลายประการที่กลุ่มต้านนำไปใช้ลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ทั้งการจัดงบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำ ตามการเสนอของกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือ โดยนำมาอธิบายเปรียบเทียบกับความเดือดร้อนของประชาชน ที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็มีส่วนถูก แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จึงเลือกวิธีลดกระแส ด้วยการไม่แสดงท่าทีแข็งกร้าว ยืนกระต่ายขาเดียวที่จะเอาโครงการดังกล่าวให้ได้ แต่ผ่อนกระแสด้วยการบอกสังคมว่ามีแผนสองในการยืดระยะ ลดค่าใช้จ่ายด้วยการเจรจากับประเทศจีน
หรือแม้กระทั่งการถูกเปิดประเด็นงบประมาณเรื่องการจัดสรร งบในการตั้งงบฯ ต่อสู้ทางคดีในข้อพิพาทเหมืองแร่ทองคำอัครา ที่บริษัทเอกชนฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ยกเลิกสัมปทาน และให้ฝ่ายกฎหมายอธิบาย เนื่องจากคำพูดเรื่องจะขอรับผิดชอบเองกำลังจะมัดคอ
รวมไปถึงความพยายามในการบริหารจัดการ “คนรอบตัว” ไม่ให้กระทำการใดที่กระทบต่อรัฐบาล แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่า พล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด นักการเมือง-คนใกล้ชิด ก็พร้อมจะใช้เวลาที่เหลือของรัฐบาลช่วงชิงผลประโยชน์ในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในอนาคตยากที่จะคาดเดาว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และคงต้องมองกันรายสัปดาห์ หรือ “วันต่อวัน” โดยรัฐบาลคงต้องพยายามประคับประคองทุกด้านให้เดินหน้าฝ่าปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจไปให้ได้ หลีกเลี่ยงปัญหาการเผชิญหน้าของกลุ่มชุมนุม จนเกิดภาพเลือดตกยางออก เข้าทางคนบางกลุ่มที่ปลุกเร้าเรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหาร เพื่อหวังขุดหลุมฝัง “ระบอบเก่า” ให้หายไปจากแผ่นดิน หรือ อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการแค่เพียง “ล้างไพ่” จัดระเบียบผลประโยชน์ใหม่ให้เกิดความเท่าเทียมกันทุกกลุ่ม
“ที่ผ่านมาหลายคนมองว่าผมมาแบบนี้ แบบเผด็จการอะไรต่างๆ มันต้องมองย้อนกลับไป ไม่ได้อยากให้ทุกคนถือว่าเป็นบุญคุณ มันไม่ใช่ ผมเห็นชาติเป็นอย่างนี้ไม่ปลอดภัย ผมก็ต้องเข้ามา แล้ววันนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ท่านลืมหมดแล้วหรืออย่างไร ผมเข้ามาด้วยอะไร เพราะอะไร ทำไมถึงต้องเข้ามา อย่าลืมสิ...
...ประเทศไทยเราเป็นประชาธิปไตยที่มีรูปแบบของเรา เราไม่ได้มีจากที่อื่น ทำไมต้องทำเหมือนคนอื่นเขาหมด แล้วความเป็นไทยของเราหายไปไหน ถ้าจะเอาชนะคะคานทางการเมือง ผมว่าประเทศชาติมันล่มสลาย ถ้ามันเกิดอย่างนั้นจริงก็รอดูก็แล้วกัน แล้วทุกคนจะต้องอยู่บนแผ่นดินนี้ที่ร้อนระอุ ลุกเป็นไฟ ก็ว่ากันไปแล้วกัน ผมก็สุดกำลังสติปัญญาของผมแล้ว ถ้าจะถึงตอนนั้นอีก…”
เมื่อสถานการณ์การชุมนุมพัฒนาไต่ระดับขึ้นไป พล.อ.ประยุทธ์มีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาในกรอบกฎหมายหลายทาง ทั้งการลาออก และยุบสภาฯ แต่กลไกในการเลือกตั้งก็คือ รธน.ฉบับเดิม การยกระดับการเรียกร้องต่างๆ จะแตะจุดใด เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงก็ติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงท่าที “กองทัพ” ที่ย่อมต้องถูกแหย่ให้ขยับเพื่อล่อเป้า-ตีกัน เพื่อให้แอคชั่นเด้งรับสถานการณ์ร้อน
หากพิจารณาดูแล้ว นายกฯ ยังมีประตูในการแก้ปัญหาอีกหลายบานที่เปิดอยู่ ไม่ถึงขนาดต้องหาทางออกด้วยวิธีการที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเมื่อปี 2557 อยู่ที่ว่าทุกฝ่ายจะมี “จุดร่วม” ในการแก้กฎ กติกา ทางการเมืองให้ดีขึ้นหรือไม่เท่านั้น
นอกจากว่า เกมของคนเบื้องหลังที่ต้านเผด็จการ กำลังขุดหลุม “รัฐประหาร” เพื่อถอนรากถอนโคนโครงสร้างอำนาจเก่าได้ตามหนึ่งความฝันที่เป็นบันไดขั้นสุดท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |