คาบสมุทรไอบีเรีย ที่ตั้งของประเทศโปรตุเกส (และสเปน) ในปัจจุบันเคยถูกกลุ่มชนเชื้อชาติเจอร์มานิกยึดครองตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 จากนั้นกองทัพมุสลิมแขกมัวร์จากแอฟริกาเหนือข้ามช่องแคบยิบรอลตาร์มาตีแตก ไล่เจอร์มานิกออกไปแล้วปกครองคาบสมุทรไอบีเรียยาวนาน กว่าชาวไอบีเรียนจะขับแขกมัวร์ออกไปได้อย่างเด็ดขาดก็ล่วงสู่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เข้าไปแล้ว ไอบีเรียนเรียกการยึดครองดินแดนคืนจากแขกมัวร์ว่า “รีคอนคิสตา”
ยุคที่แขกมัวร์ปกครองไอบีเรีย ชาวเมืองถูกจับเป็นทาส เปลี่ยนศาสนา หลังยึดดินแดนคืนชาวไอบีเรียนก็จับแขกมัวร์เป็นทาสและให้เปลี่ยนศาสนาเช่นกัน แม้ว่าทาสจะมีจำนวนไม่มากมายนักหากเทียบกับประชากรทั้งหมดในยุคนั้น
เมื่ออาณาจักรของแขกมัวร์เสื่อมลง โปรตุเกสเข้มแข็งขึ้นก็ได้เข้าไปล่าอาณานิคมในแอฟริกาและในมหาสมุทรแอตแลนติกตะวันออก ระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1430-1440 พวกเขาออกล่าชาวแอฟริกันทางด้านล่างของเขตทะเลทรายสะฮารา (Sub-Saharan Africa - ดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวผิวดำ) ได้เป็นจำนวนมาก นำโดยเจ้าชาย “อินฟันตี เฮนริค” หรือ “เฮนรี เดอะเนวิเกเตอร์” จากนั้นการค้าทาสแอฟริกันจึงเริ่มขึ้นในปี 1444 ที่เมืองลากอส ไนจีเรีย โดยตัว “เฮนรี เดอะเนวิเกเตอร์” นั่นเอง อีก 1 ปีต่อมาสมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ทรงมอบสิทธิ์ในการค้าทาสในแอฟริกาตะวันตกให้กับโปรตุเกส โดยมีเงื่อนไขว่าทาสเหล่านั้นต้องเปลี่ยนมานับถือโรมันคาทอลิก
เจ้าชายเฮนรีผูกขาดการค้าทาสในแอฟริกาอยู่จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี 1460 จากนั้นเรือที่ออกจากโปรตุเกสไปยังแอฟริกาจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากกษัตริย์โปรตุเกส สินค้าที่ขนส่งกลับโปรตุเกสต้องเสียภาษี ส่วนทาสนั้นเพิ่มความพิเศษเข้าไปหน่อยคือต้องเข้าพิธีศีลจุ่มเสียให้เรียบร้อยก่อนลงเรือ
โปรตุเกสคือผู้นำการค้าขายทาสชาวแอฟริกัน ทั้งซื้อจากหัวหน้าเผ่าและเข้าไปล่าเอง ตั้งแต่มอริเตเนียยันโมซัมบิก ภาพจาก The News Minute
นักวิชาการประมาณตัวเลขทาสจากแอฟริกาถูกขนไปยังคาบสมุทรไอบีเรียและเกาะในแอตแลนติกตะวันออก ซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ระหว่างปี 1441-1521 อาจมีจำนวนมากถึง 156,000 คน (สถิติที่แท้จริงถูกทำลายหรือหายไป เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงลิสบอน ปี 1755) ประมาณปี 1518 การขนส่งทาสได้มีปลายทางแห่งใหม่อยู่ที่ทวีปอเมริกาเพื่อขายทาสให้กับอาณานิคมของสเปน ก่อนหน้านี้ทาสผิวดำที่ถูกจับหรือซื้อมาจากแอฟริกาจะต้องนำขึ้นเรือไปเสียภาษีที่โปรตุเกสก่อนมุ่งหน้าทวีปอเมริกา
โปรตุเกสในเวลานั้นคือผู้นำของโลกในการเดินเรือเชื่อมภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะความสำเร็จของ “วาสโก ดา กามา” ในการเดินเรือจากยุโรปไปถึงอินเดียได้สำเร็จเป็นคนแรกเมื่อปี 1498 ก่อนนั้นโปรตุเกสได้รับสิทธิ์ดินแดนในบราซิลตามเส้นแบ่งในสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสที่ทำกับสเปนเมื่อปี 1494 พวกเขารอถึงปี 1500 จึงได้ออกเดินเรือสำรวจไปขึ้นฝั่งที่ปอร์โตเซกูโร ทางเหนือของบราซิล นำโดยกัปตันเรือ “เปโดร อัลวาเรซ คาบรัล” และเขาได้อ้างสิทธิ์ถวายแด่พระเจ้ามานูเอลที่ 1 กษัตริย์โปรตุเกสทันที ทว่ากว่าจะมีชาวโปรตุเกสเข้าไปตั้งรกรากแห่งแรกก็ปาเข้าไปปี 1516 แล้ว
ระหว่างปี 1500-1530 ผลประโยชน์ของโปรตุเกสอยู่ในแอฟริกาและอินเดียมากกว่า ในช่วงนี้พวกเขาเดินทางไปยังบราซิลเพื่อพืชที่ชื่อ “ต้นบราซิล” เป็นหลัก ต้นบราซิลเป็นไม้ประจำถิ่น ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการทำสีย้อม แต่เมื่อยุโรปชาติอื่นๆ ได้แก่ ฝรั่งเศสและดัตช์ เริ่มเข้ามาหาผลประโยชน์ในดินแดนแถบนี้ โปรตุเกสจึงมาพร้อมกับกองทหารและตั้งอาณานิคมขึ้นในที่สุด
แรงงานที่ใช้ในบราซิล ช่วงต้นเป็นแรงงานทาสชนพื้นเมือง ก่อนที่แรงงานเหล่านี้จะค่อยๆ หาได้ยากขึ้น เพราะติดโรคระบาดที่เข้าไปจากยุโรปและทาสมักจะก่อจลาจล รวมถึงหลบหนีเข้าป่า ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มนำทาสแอฟริกันเข้าไป เนื่องจากพวกนี้มีภูมิคุ้มกันโรคจากยุโรปแล้ว อีกทั้งมีแนวโน้มในการหลบหนีน้อยกว่า เพราะบ้านเดิมอยู่ไกลถึงอีกฝั่งของมหาสมุทร หรือแทบจะไม่มีที่ให้ไปนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การใช้แรงงานทาสชนพื้นเมืองก็ยังคงมีอยู่ต่อไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18
ในช่วง 250 ปีแรกของการตั้งอาณานิคมบราซิล ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดคือทาส โดยทาสชนพื้นเมืองมีราคาในการซื้อขายถูกกว่าทาสแอฟริกัน แม้ว่าทาสแอฟริกันจะมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 23 ปี ด้วยสาเหตุตรากตรำทำงานหนัก ทว่าก็ยังทนทานกว่าทาสชนพื้นเมืองที่เสียชีวิตไปก่อนเฉลี่ยตั้ง 4 ปี
สินค้าสำคัญที่ทำกำไรอย่างงดงามระหว่างปี 1600-1650 จากบราซิลไปยังโปรตุเกสคือน้ำตาล ก่อนจะมีการค้นพบทองและเพชรในปี 1690 ทำให้ความต้องการทาสแอฟริกันเพิ่มมากขึ้นอีกโข แม้ล่วงถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้ว แต่แรงงานทาสแอฟริกันก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดในบราซิล เพราะกิจการปศุสัตว์และการผลิตอาหารเติบโตอย่างต่อเนื่องจากจำนวนประชากรที่เข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้นเป็นลำดับ
ระหว่างปี 1700-1800 มีทาสถูกส่งไปยังบราซิลถึง 1.7 ล้านคน และช่วงที่กาแฟได้รับความนิยมอย่างยิ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 1830 ก็ยังมีทาสแอฟริกันถูกขนเข้าไปอีกมหาศาล กว่าจะมีการเลิกทาสในปี 1888 มีทาสแอฟริกันถูกขนส่งไปยังบราซิลเกือบ 5 ล้านคน หรือคิดเป็น 35-40 เปอร์เซ็นต์ของทาสแอฟริกันทั้งหมดในทวีปอเมริกา และโปรตุเกสก็เหนือกว่าชาติมหาอำนาจอื่นใดในฐานะผู้นำการค้าทาสในดินแดนโลกใหม่ นอกจากส่งให้อาณานิคมตัวเองแล้วก็ยังขายให้อาณานิคมของชาติอื่นด้วย โดยเฉพาะอาณานิคมสเปนที่ซื้อทาสจากพ่อค้าชาวโปรตุเกสมากกว่า 500,000 คน ในระยะเวลา 300 กว่าปี
มีหัวข้อที่น่าสนใจ นอกจากการใช้แรงงานทาสในทวีปอเมริกาแล้ว โปรตุเกสยังมีประวัติการค้าทาสในทวีปเอเชียอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
“เจ้าชายเฮนรี เดอะเนวิเกเตอร์” ผู้บุกเบิกการค้าทาสแอฟริกัน รูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ อุทิศแด่เจ้าชายโดยชาวโปรตุเกสในสหรัฐ ภาพจาก lindahall.org
เนื่องจากว่าสนธิสัญญาตอร์เดซิยัสที่สเปนและโปรตุเกสทึกทักแบ่งโลกนอกทวีปยุโรปกันเองนั้นไม่ได้กำหนดดินแดนอีกฝั่งของโลกอย่างชัดเจน จึงได้มีการกำหนดกันขึ้นใหม่ในสนธิสัญญาซาราโกซา ปี 1529 โดยวางเส้นแวง 17 องศาจากตะวันออกของเกาะมาลูกูในอินโดนีเซียไว้เป็นเส้นแบ่ง โปรตุเกสได้ดินแดนทั้งหมดทางตะวันตกของเส้นนี้ (ทำให้โปรตุเกสครองโลกกินพื้นที่ 191 องศา ส่วนสเปนได้ไป 169 องศา) โปรตุเกสจึงมีอิทธิพลในทวีปเอเชียเกือบทั้งหมด และแม้ว่าฟิลิปปินส์จะอยู่ในเขตของโปรตุเกส แต่เมื่อสเปนเข้ายึดครองได้สำเร็จในปี 1565 โปรตุเกสก็ไม่ได้คัดค้านอะไรมากนัก เพราะเห็นว่าไม่ใช่ดินแดนที่เต็มไปด้วยเครื่องเทศเหมือนอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และติมอร์
หลังจากปี 1543 ซึ่งมีหลักฐานว่าโปรตุเกสได้ไปขึ้นฝั่งที่ญี่ปุ่น เวลาต่อมาพวกเขาก็มีการซื้อคนญี่ปุ่นไปขายในดินแดนอื่นๆ รวมถึงที่โปรตุเกสเองด้วยในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-17
มีเอกสารของทางศาสนจักรระบุว่า พ่อค้าทาสชาวโปรตุเกสซื้อเด็กหญิงญี่ปุ่นกลับไปยังคาบสมุทรไอบีเรียเพื่อวัตถุประสงค์ทางกามารมณ์ พระเจ้าเซบาสเตียนทรงกังวลว่าจะเกิดผลกระทบในแง่ลบต่อการเผยแผ่และสนับสนุนให้คนเปลี่ยนศาสนา เนื่องจากว่าการค้าทาสในญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคำสั่งให้เลิกในปี 1571
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นี้มีหลักฐานว่าทาสชาวญี่ปุ่น 3 คน ได้ถูกซื้อจากพ่อค้าทาสชาวโปรตุเกสในญี่ปุ่นแล้วถูกส่งต่อไปยังฟิลิปปินส์ จากนั้นพวกเขาทั้ง 3 คนถูกขนลงเรือไปยังเม็กซิโก
หลุยส์ เซอร์เกอิรา คณะเยสุอิตชาวโปรตุเกส ได้บันทึกไว้ในปี 1598 ว่า มีทาสผู้หญิงชาวญี่ปุ่นถูกขายเป็นภรรยาน้อยให้กับคนเรือทั้งชาวยุโรปและชาวแอฟริกันในเรือของโปรตุเกสที่ทำการค้าในญี่ปุ่น จากกรณีเหล่านี้ทำให้ “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ” ผู้นำญี่ปุ่นในเวลานั้นไม่พอใจคณะเยสุอิตและชาวโปรตุเกสเป็นอย่างมาก นำไปสู่การแบนศาสนาคริสต์และชาวต่างชาติในที่สุด อย่างไรก็ตาม ตัวเขาเองกลับมีส่วนร่วมในการค้าทาสเชลยสงครามชาวเกาหลีที่พ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงไดเมียวที่เป็นคริสเตียนก็มีส่วนในการขายเพื่อนร่วมชาติให้กับชาวโปรตุเกสด้วยเช่นกัน
สำหรับทาสชาวจีนนั้นมีการบันทึกไว้ว่า ได้ไปถึงกรุงลิสบอนของโปรตุเกสตั้งแต่ปี 1540 เป็นทาสที่มีความรู้ ถูกกองโจรโปรตุเกสจับมาจากชายฝั่งทางใต้ของจีน ต่อมาได้ทำงานกับนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกส มีหน้าที่แปลหนังสือภาษาจีนเป็นภาษาโปรตุเกส
ทางภาคใต้ของโปรตุเกสในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงแม้จะมีทาสชาวจีนอยู่แล้ว แต่ก็เป็นจำนวนที่ไม่มาก ทาสที่มีอยู่มากกว่าคือทาสจากอินเดีย ชาวแขกมัวร์ และแอฟริกันผิวดำ โดยทาสชาวจีน อินเดีย และแขกมัวร์จะมีราคาสูงกว่าทาสแอฟริกันผิวดำ ทั้งนี้ จีนและมะละกาเป็นต้นทางของทาสที่ถูกส่งมายังไอบีเรียโดยอุปราชโปรตุเกส
มีเด็กชายชาวจีนจำนวนหนึ่งถูกลักพาตัวมาจากมาเก๊าและถูกขายเป็นทาสในกรุงลิสบอนของโปรตุเกส เมื่อโตขึ้นก็ถูกขนลงเรือไปยังบราซิล “ฟิลิปโป ซาสเซตติ” นักสำรวจจากฟลอเรนซ์ บันทึกไว้ในปี 1578 ว่ามีทาสชาวจีนและญี่ปุ่นอยู่หลายคนในกรุงลิสบอน อย่างไรก็ตาม ทาสผิวดำยังมีจำนวนมากกว่า
นอกจากนี้ “เอโวรา” ถือเป็นอีกเมืองที่มีทาสจากเอเชียอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เนื่องจากเป็นเมืองที่เจริญทางด้านการค้า งานฝีมือ และงานบริการ อีกทั้งในคอนแวนต์ของแม่ชีก็มีการใช้แรงงานทาสเอเชียกันอย่างกว้างขวาง เป็นการให้เหตุผลว่า “รับใช้ต่อผู้รับใช้พระเจ้า”
โปรตุเกสจัดระดับทาสจากจีนและญี่ปุ่นหรือแม้แต่อินเดียไว้สูงกว่าทาสแอฟริกันผิวดำและแขกมัวร์ โดยมักจะมอบงานที่ต้องใช้ความสามารถและความขยันหมั่นเพียรให้ทำมากกว่าทาสจากแอฟริกา
ในปี 1595 โปรตุเกสได้ออกกฎหมายให้ยกเลิกการซื้อขายทาสชาวจีนและชาวญี่ปุ่น เนื่องจากความไม่ปลอดภัยระหว่างการขนส่งที่มักจะถูกกองกำลังในพื้นที่เข้าขัดขวาง จากนั้นในปี 1624 กษัตริย์ของโปรตุเกสได้สั่งห้ามการใช้แรงงานทาสชาวจีนทั้งหมด ไม่ว่าหญิงหรือชาย
กลับไปยังจีน ซูมลงไปที่มาเก๊า ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือตอนต้นของการเข้าครอบครองมาเก๊าของโปรตุเกส มีทาสแรงงานประมาณ 5,000 คนบนเกาะแห่งนี้ ส่วนมากมาจากแอฟริกา มีชาวโปรตุเกสอยู่บนเกาะประมาณ 2,000 คน ส่วนชาวจีนนั้นเยอะกว่าหลายเท่า อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่แต่งงานกับชายชาวโปรตุเกสส่วนมากไม่ใช่หญิงชาวจีน แต่กลับเป็นผู้หญิงที่มาจากกัว (อินเดีย), ศรีลังกา, อินโดจีน, มะละกา และญี่ปุ่น นอกจากนี้ก็ยังมีผู้หญิงจากชาติต่างๆ ที่ได้กล่าวมานี้ตกเป็นพาร์ตเนอร์ของชายชาวโปรตุเกสด้วย
กงสุลอังกฤษในสมัยราชวงศ์ชิง ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1800 บันทึกไว้ว่า พ่อค้าชาวโปรตุเกสยังคงซื้อเด็กอายุระหว่าง 5-8 ขวบอยู่ในเวลานั้น
ในปี 1826 สมัยจักรพรรดิเต้ากวัง ได้มีกฎหมายลงโทษชาวยุโรป ซึ่งก็คือชาวคริสเตียนโปรตุเกสผู้ที่เผยแผ่ศาสนาเป็นวงกว้างแก่ชาวฮั่นและชาวแมนจูจะถูกลงโทษรัดคอให้ตาย สำหรับสาวกชาวโปรตุเกสทั่วไปที่ไม่สำนึกผิดและไม่เลิกนับถือศาสนาคริสต์ก็จะถูกส่งไปยังซินเจียงเพื่อมอบให้กับผู้นำมุสลิมที่นั่น
การเลิกทาสในโปรตุเกสและอาณานิคมโปรตุเกสในอินเดียมีกฎหมายออกมาในปี 1761 ตามมาด้วยเกาะมาเดราในแอตแลนติกตะวันออก ปี 1777 ส่วนการขนส่งทาสข้ามแอตแลนติกนั้นมีกฎหมายห้ามในปี 1836 ซึ่งมาจากการถูกกดดันจากชาติยุโรปอื่นๆ ที่มีกฎหมายเลิกค้าทาสไปก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะอังกฤษที่ถึงขั้นนำกองเรือออกดักจับเรือทาสของโปรตุเกสอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ในอังกฤษอาจพูดกันว่าเป็นเรื่องของหลักมนุษยธรรม แต่ชาติอื่นๆ มองว่าเพราะอังกฤษเสียเปรียบในเรื่องการแข่งขันทางการค้ามากกว่า เนื่องจากตัวเองไม่มีแรงงานฟรีให้ใช้ประโยชน์แล้วนั่นเอง
การใช้แรงงานทาสในอาณานิคมแอฟริกาของโปรตุเกสมีกฎหมายยกเลิกในปี 1869 แต่ยังมีการใช้แรงงานทาสอยู่ต่อไปแม้ล่วงเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว โดยอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่าแรงงานพันธสัญญา ซึ่งแทบไม่ต่างจากการเป็นทาส พวกเขาลงชื่อในกระดาษโดยไม่รู้ความหมายที่อยู่ในเอกสารนั้น ในหลายกรณีพวกเขาไม่ได้รับค่าแรง และมีจำนวนไม่มากที่ได้กลับบ้านเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ส่วนบราซิลซึ่งได้รับเอกราชจากโปรตุเกสตั้งแต่ปี 1822 แต่การใช้แรงงานทาสมีต่อไปจนถึงปี 1888
โปรตุเกสแม้เป็นเพียงประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบแล้วเล็กกว่าอังกฤษเกือบ 3 เท่า เล็กกว่าสเปน 5 เท่า เล็กกว่าฝรั่งเศส 6 เท่า แต่ในอุตสาหกรรมการค้าทาสและการใช้แรงงานทาส ต้องยอมรับว่าชาติฝอยทองไม่เป็นสองรองใคร.
******************************
อ้างอิง :
-slaveryandremembrance.org
-en.wikipedia.org/wiki/Atlantic_slave_trade_to_Brazil
-en.wikipedia.org/wiki/Colonial_Brazil
-en.wikipedia.org/wiki/Slavery_in_Brazil
-en.wikipedia.org/wiki/Treaty_of_Zaragoza
-en.wikipedia.org/wiki/Slavery_in_Portugal
-face2faceafrica.com/article/four-facts-about-portugals-unique-participation-in-the-transatlantic-slave-trade
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |