แกนนำเยาวชนปลดแอกเปิดเวที ขายไอเดียแก้รธน.หมวด 1-2 และอายุ 18 ปีลงสมัครเป็นส.ส.ได้


เพิ่มเพื่อน    

29 ส.ค.63 - เมื่อเวลา 16.45 น.  ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน​ 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน คณะรณรงค์​เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน​ (ครช.) จัดเสวนาในหัวข้อ​ "ผ่าทางตัน​รัฐธรรมนูญไทย​ ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น" โดยมีวงเสวนารอบที่ 3 เป็นการเสวนามุมมองที่มีต่อรัฐธรรมนูญ 2560 และความจำเป็นในการแก้ไข จากตัวแทนนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่  

นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาหลายอย่างทำให้ต้องมีการรีเซ็ท ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด และจะต้องมาจากประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่นิสิตนักศึกษา เพื่อร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ออกแบบโครงสร้างทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของประชาชน โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญประชาชนต้องมีส่วนร่วมได้ทุกกระบวนการ แต่การที่เราอยู่ใต้รัฐบาลนี้ที่อยู่มาแล้ว 6 ปี เราไม่อาจไว้วางใจให้รัฐบาลดูแล สสร. หรือรอดูแลกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเขาอาจใช้อำนาจบางอย่างแทรกแซง หรือใช้ สสร. ในการสืบทอดอำนาจของเขาก็ได้ ซึ่งตนมองว่ารัฐบาลนี้ไม่ควรอยู่ต่อ ควรออกไปได้แล้ว  

นายทัตเทพ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ต้องสร้างบรรยากาศทางทางการเมืองเพื่อเอื้อให้มีการตั้ง สสร. คือการมีรัฐบาลใหม่ และในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ตนเสนอ 2 ประเด็นคือ แก้ไขระบบการเลือกตั้งและผู้สมัครลงเลือกตั้ง เพื่อลดภาระของพรรคการเมืองไทยให้สามารถลงสมัครรักรับเลือกตั้งได้ นำระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมและบัตรใบเดียวออกไป เพราะการเลือกตั้งบัตรใบเดียวทำให้โครงสร้างผิดเพี้ยน ได้ ส.ส.ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน พร้อมขอแก้ไขผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งจากเดิมที่ต้องอายุ 25 ปี เป็น 18 ปี และในส่วนของ ส.ว. ต้องนำ ส.ว.250 คนออกไปทั้งชุด เพื่อไม่ให้ ส.ว. พวกนี้มีอำนาจมาโหวตนายกฯ ได้อีก โดยมาตรา 256-272 ต้องถูกลบออกจากรัฐธรรมนูญ  

“อยากฝากถึงสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าต้องใช้กลไกรัฐสภา แต่จะไม่ได้เป็นคนนำ ทั้งนี้ประชาชนจะเป็นคนนำ และต้องทำตามประชาชน โดยสิ่งที่พวกคุณต้องทำตอนนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ คือต้องทำทุกวิธีทางเพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง สสร. ด้วยวิธีการที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หน้าที่ของพวกคุณไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งประชาชนว่ารัฐธรรมนูญหมวดนั้นแก้ได้ หรือหมวดนี้ห้ามแตะ โดยประชาชนต้องเป็นคนกำหนดได้ทุกหมวด ทุกมาตรา เพราะปัญหาการเมือง ปัญหาประเทศกระจายตัวอยู่ทุกหมวดตั้งแต่หมวดแรก ดังนั้นจึงขอให้สมาชิกรัฐสภามีความกล้าหาญทางจริยธรรม ขอให้เปิดทางให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยเจตนาจำนงของพวกเขาเองทุกหมวด ทุกมาตรา และให้นำมาถกเถียงเพื่อให้เกิดการแก้ไข” 

ด้าน นายณวิบูล ชมภู่ หรือระวี ประธานร่วมภาคีนักศึกษาศาลายา กล่าวถึง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ส.ว. ค่อนข้างพิสดาร ไม่ได้รับเลือกโดยประชาชน แต่เลือกโดยกระบวนการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรเป็นอำนาจที่ประชาชนตัดสินใจ ถ้าเราใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อ อำนาจจะเป็นของคนกลุ่มหนึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน ขัดต่อประชาธิปไตย ต้นแบบของ ส.ว. เอามาจากรัฐธรรมนูญอังกฤษ เขาเรียกว่าสภาขุนนาง ซึ่งมีอำนาจแค่ตรวจสอบรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ชอบธรรม ไปปรึกษาควีนและยื่นศาลฎีกาที่มาจากประชาชน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเรามาจาก ส.ว.  

นายณวิบูล กล่าวต่อไปว่า อังกฤษเป็นประชาธิปไตยอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยมบาลานซ์กัน ต่างกับของไทยเป็นผู้เผด็จการใช้กลไกของรัฐควบคุมประชาชนทางอ้อมโดยรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ หากไม่ยกเลิก ส.ว. ก็ขอให้มาจากประชาชนมีสิทธิเลือก ตรวจสอบอำนาจของสถาบันฯ เพื่อให้สองฝ่ายได้อยู่ร่วมกัน ท้ายที่สุดตนก็คิดว่าควรยกเลิก ส.ว. อยู่ดี รัฐธรรมนูญนี้อำนาจยึดโยงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ยึดโยงประชาชน ประชาชนต้องเริ่มเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ยึดโยงประชาชนโดยแท้จริง 

นายณวิบูล ยังกล่าวถึงประเด็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วยว่า ต่างประเทศที่กษัตริย์เป็นประมุขในระบอบประชาธิปไตยสามารถโดนฟ้องร้องได้ ถ้าเกิดการใช้งบแผ่นดินไม่โปร่งใส ประชาชนประท้วงได้ การแต่งตั้งองคมนตรีมาจากสภา และควีนจะปลดนายกฯ ได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนพระราชอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกตามรัฐธรรมนูญไทยนั้น มองว่ารัฐสภาและนายกฯ มีอำนาจพอในการตัดสินใจเร่งด่วน ทำไมต้องให้ท่านทรงงานเรื่องนี้ 

ส่วน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวว่า ตนอยู่ในสภานักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เคยสำรวจความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีผู้ตอบ 1,410 คน ส่วนมากตอบไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนใหญ่บอกควรแก้ไข เพราะเราเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่ารัฐธรรมนูญผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างการที่นายกฯ ถวายสัตย์ไม่ครบ แต่ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ควรยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญไหม นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามบอกใช่ ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างตรงไปตรงมา จะมีศาลรัฐธรรมนูญไว้ทำไม รัฐธรรมนูญมาจากพวกพ้องตัวเองที่เขียนทุกอย่างให้พวกตัวเองอยู่ยาว เพราะเหลิงในอำนาจ   

น.ส.ปนัสยา กล่าวเรื่องรัฐธรรมนูญต่อไปว่า รัฐธรรมนูญเขียนชายและหญิงมีสิทธิเท่ากัน ทำไมไม่เขียนบุคคลเท่ากันไม่ต้องแบ่งเพศ LGBT คนยอมรับได้ ทำไมรัฐธรรมนูญยอมรับไม่ได้ การศึกษาบอกควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานแต่ไม่บอกได้ฟรี เกณฑ์ทหารก็ควรยกเลิก เสียเวลาพัฒนาตัวเอง 2 ปี ทั้งที่ไม่มีสงคราม รัฐธรรมนูญไม่มาจากประชาชนถึงมีปัญหาอย่างนี้ เราไม่ควรทนอยู่กับกฎหมายที่ผิดเพี้ยนขนาดนี้ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรแก้โดยเร็วที่สุด และด้วยการเลือกตั้ง สสร. เพื่อให้เป็นกฎหมายโดยประชาชน เพื่อประชาชน  

น.ส.ปนัสยา ยังกล่าวถึงผลสำรวจเห็นด้วยหรือไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เรื่องกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะละเมิดมิได้ ว่า ผลสูสีครึ่งๆ เห็นด้วย ถ้าตนทำอีกรอบผลตรงนี้อาจเปลี่ยนไปก็ได้ เพราะเราสามารถวิพากษ์สถาบันฯ ได้อย่างเสรีมากขึ้น การดันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ไปเป็นหนึ่งในข้อเสนอพิจารณาชั้น สสร. จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1-2 ที่ห้ามแตะสถาบันฯ โดยเด็ดขาด และตนมีข้อเสนอด้วยว่า การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าประชาชนมีสิทธิต่อต้านการรัฐประหารในทุกรูปแบบโดยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย คือหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้าน ขอให้ทุกคนแสดงความกล้าพูดในสิ่งที่ไม่พอใจ ผิดปกติ แม้กระทั่งเรื่องสถาบันฯ ก็ตาม ขอส่งความกล้าให้ทุกคน  

ต่อมาในช่วงถามตอบ ตอนหนึ่งผู้สื่อข่าวถามถึงโมเดลการตั้ง สสร.ของรัฐบาล ที่จะมีสัดส่วนของนักศึกษาร่วมด้วย น.ส.ปนัสยา ตอบว่า ถ้ามาจากการเลือกตั้งก็ดี แต่ไม่ทราบว่าเขาจะเชิญกลุ่มนักศึกษากลุ่มไหน เข้าพวกกับฝั่งเขาหรือไม่ เขาจะใช้พวกนั้นเป็นเครื่องมือหรือไม่ เราจะเห็นด้วยก็ต่อเมื่อทุกคนใน ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ช่วงท้ายของการถามตอบ น.ส.ปนัสยา ได้สอบถามหาเจ้าหน้าที่สืบสวนนอกเครื่องแบบที่เข้ามาในงาน เนื่องจากพบว่ามีการถ่ายรูปบรรยากาศการเสวนาส่งไปในกลุ่มไลน์ชุดปฎิบัติการที่ 2 ทำให้ผู้ร่วมฟังเสวนาบางส่วน ตะโกนถามกดดันเพื่อให้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแสดงตัวชี้แจงว่าเรื่องที่ถามเป็นความจริงหรือไม่ จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ชนะสงคราม แสดงตัว  โดยยอมรับว่ามีการถ่ายรูปบรรยากาศและส่งในกลุ่มไลน์จริง แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความปลอดภัยตามปกติ ดำเนินการในลักษณะนี้กับทุกกลุ่มที่มีการชุมนุมจัดกิจกรรมต่างๆ และได้ลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ก่อนเข้างานแล้ว จากนั้นผู้เสวนาและผู้ร่วมฟังต่างเข้าใจ ไม่ติดใจการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยผู้ร่วมฟังเสวนาบางส่วนยังขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่มาดูแลความปลอดภัยให้  

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการเสวนา ได้มีการจัดกิจกรรมดนตรีจากศิลปินวงสามัญชน และการแสดงละครเงียบจากกลุ่ม B-floor ที่บริเวณลานอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ต่อไปในช่วงเย็นวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนมาสังเกตการณ์และดูแลความสะดวกปลอดภัย 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"