ทางหลวง-รฟท.จับมือใช้พื้นที่สร้างไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน


เพิ่มเพื่อน    

 

28 ส.ค. 2563 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูน ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้พื้นที่เขตทางหลวงในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นแนวเส้นทางรถไฟระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร (กม.) โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และมีพื้นที่บางส่วนที่ต้องเวนคืน รวมถึงพื้นที่ของหน่วยงานราชการอื่นๆ อาทิ กรมทางหลวง (ทล.) จึงต้องมีการบันทึกข้อตกลงระหว่าง รฟท. และ ทล. เพื่ออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้างต่อไป จากนั้นการรถไฟฯ จะเดินหน้าขอใช้พื้นที่ส่วนราชการอื่นๆ เช่น กองทัพเรือ กรมป่าไม้ กรมชลประทาน เป็นต้น 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการชี้นำว่า ประเทศไทยจะก้าวไปอย่างไร ประกอบการกับในเรื่องการพัฒนาประเทศชาติจะต้องมีการลงทุนในพื้นที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างทางบก ทางราง และทางอากาศแบบไร้รอยต่อ และยังเป็นการขยายความเจริญไปยังพื้นที่อีอีซี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน   

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมทางหลวง พร้อมที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม สร้างรากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยหลังจากการลงนามข้อตกลงในวันนี้แล้วนั้น จะแต่งตั้งคณะทำงานตามกฎหมาย เพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลง โดยคณะทำงานทั้ง 2 คณะจะประชุมร่วมกันอย่างน้อยทุก 2 เดือน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น ขณะเดียวกัน ภายหลังการใช้พื้นที่กรมทางหลวงแล้วเสร็จ การรถไฟฯ จะต้องดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม แก้ไข พื้นผิวการจราจร ระบบระบายน้ำต่างๆ ให้เรียบร้อย จากนั้นจึงส่งมอบทางคืนให้กับกรมทางหลวงต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความร่วมมือของ 2 หน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นส่วนช่วยให้โครงการฯ ประสบผลสำเร็จต่อไป 

สำหรับเขตทางหลวงที่โครงการดังกล่าวผ่านนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณจุดตัด รวมทั้งสิ้น 29 จุด 19 เส้นทาง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แบ่งเป็น แนวเส้นทางโครงการปัจจุบัน จำนวน 16 เส้นทาง และโครงการที่จะเกิดในอนาคต จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.ทางเลี่ยงเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) M91 วงแหวนกรุงเทพ รอบที่ 3 และ 3.มอเตอร์เวย์ M61 สายชลบุรี–นครราชสีมา (แหลมฉบัง–ปราจีนบุรี) ทั้งนี้ ในจำนวน 29 จุดนั้น ได้เคลียร์จบแล้ว 15 จุด ขณะที่อีก 14 จุด อยู่ระหว่างการพิจารณาตำแหน่งที่ตอม่อของโครงการว่า จะอยู่ในบริเวณใด อย่างไรก็จาม ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบหรือปัญหากับโครงการฯ อย่างแน่นอน 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การรถไฟฯ จำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ในเขตทางหลวงสำหรับการดำเนินโครงการฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) บางส่วน ทั้งนี้ การรถไฟฯ จะดำเนินการในพื้นที่ของกรมทางหลวงอย่างเหมาะสม และเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงอย่างเคร่งครัดและส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรผู้ใช้ทางและคนเดินเท้าให้น้อยที่สุด เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง 

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟฯ กล่าวว่า ตามกรอบระยะเวลาการดำเนินการนั้น การรถไฟฯ จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนในช่วง ม.ค. 2564 แต่ด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการเวนคืนที่ดินที่ล่าช้า จึงคาดว่า จะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ภายใน ก.พ.-มี.ค. 2564 หรือล่าช้าออกไปประมาณ 2 เดือน แต่ยังคงอยู่ในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ ต้องส่งมอบพื้นที่ภายใน ต.ค 2564 ในส่วนของผู้บุกรุกตามแนวเส้นทางของโครงการที่มีกว่า 1,300 กว่ารายนั้น ในจำนวนดังกล่าวมีผลกระทบกับโครงการประมาณ 560 กว่าราย โดยการรถไฟฯ อยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้บุกรุกออกนอกพื้นที่ ซึ่งคาดว่า จะเคลียร์จบภายใน ก.พ. 2564 ขณะเดียวกัน ด้านของงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคนั้น การรถไฟฯ ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมธิการฯ ทั้งนี้ ตามแผนแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 220 กม. มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กม. โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กม.ต่อชั่วโมง ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"