หากโจ ไบเดนชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อเอเชียจะเป็นอย่างไร และน่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยไม่น้อย
เราจึงต้องเกาะติดเพื่อวิเคราะห์ทิศทางการเมืองทำเนียบขาวอย่างใกล้ชิดทุกระยะ
โจ ไบเดนเขียนบทความวางจุดยืนของตัวเองเรื่องนโยบายต่างประเทศชื่อ Why America Must Lead the World Again ตีพิมพ์ในนิตยสาร Foreign Affairs ฉบับเดือนมีนาคม/เมษายนปีนี้ไว้น่าสนใจ
ตอนหนึ่งว่าด้วยเรื่องข้อตกลงการค้ากับต่างประเทศที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้ฉีกทิ้งไปหลายฉบับหลังจากขึ้นมารับตำแหน่ง
โจ ไบเดนบอกว่าถ้าเขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขาจะไม่ใช้นโยบาย "เอาหัวซุกในทราย"
เขาบอกว่าจะไม่ประกาศว่าจะไม่ทำข้อตกลงการค้ากับประเทศไหนอีก (อย่างที่ทรัมป์วางเป็นนโยบายของตน)
เขาบอกว่าไม่ว่าสหรัฐฯ จะเข้าไปร่วมหรือไม่ ประเทศต่างๆ ในโลกก็จะค้าขายกันเองอยู่ดี
"คำถามใหญ่ก็คือ ใครเป็นคนเขียนกฎกติกาเพื่อมากำกับการค้าโลก ใครจะสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถปกป้องคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, ความโปร่งใส, และค่าแรงที่เหมาะสมสำหรับชนชั้นกลาง"
โจ ไบเดนถามเองและตอบเองว่า "ก็ต้องเป็นสหรัฐฯ..ไม่ใช่จีน...ที่จะต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้"
แต่เขาบอกว่าเขาจะไม่ทำข้อตกลงการค้าใหม่กับใครจนกว่าจะได้ลงทุนในคนอเมริกัน และทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจโลก
และเขาจะไม่เจรจาต่อรองข้อตกลงใหม่กับประเทศไหนโดยไม่มีผู้นำแรงงานและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมแลกเปลี่ยนด้วยอย่างมีความหมาย
อีกทั้งยังจะต้องตั้งเงื่อนไขที่เข้มข้นในข้อตกลงเหล่านั้นเพื่อหุ้นส่วนและคู่ค้าทำตามอย่างเคร่งครัด
ไบเดนยอมรับว่า "จีนเป็นความท้าทายพิเศษ" สำหรับอเมริกา
เขาบอกว่าได้เคยพบปะพูดคุยกับผู้นำจีนนับรวมแล้วหลายชั่วโมง
"และผมเข้าใจดีว่าเรากำลังต้องเผชิญกับอะไรบ้าง"
ไบเดนบอกว่าจีนกำลัง "เล่นเกมยาว" โดยการขยายอิทธิพลไปทั่วโลกเพื่อส่งเสริมบทบาทการเมืองของตัวเองและลงทุนในเทคโนโลยีสำหรับอนาคต
แต่ขณะเดียวกันทรัมป์ก็ได้ระบุสินค้านำเข้าจากพันธมิตรใกล้ชิดของเรา เช่น แคนาดาและสหภาพยุโรปเป็น "ภัยคุกคามความมั่นคง" ของสหรัฐฯ เพื่อที่จะเพิ่มภาษีอย่างไร้ความรับผิดชอบและสร้างความเสียหาย
"ทรัมป์ทำให้ความสามารถของเราในการเผชิญกับภัยคุกคามทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยการลดทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจของหุ้นส่วนของเรา..." ไบเดนบอก
เขายืนยันว่าสหรัฐฯ ยังต้องมีท่าทีแข็งกร้าวกับจีน
เขาใช้คำว่า get tough ซึ่งชาวบ้านอเมริกันส่วนใหญ่จะเข้าใจ
"ถ้าจีนยังสามารถทำอะไรตามที่ตนต้องการได้ จีนก็จะยังเดินหน้าปล้นเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และบริษัทอเมริกัน และก็จะยังดำเนินการให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจต่อเพื่อสร้างความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม..." ไบเดนบอก
และเสนอว่าอเมริกาจะเอาชนะจีนได้ก็ด้วยการสร้างแนวร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน ในการเผชิญหน้ากับปักกิ่งในเรื่องความประพฤติที่ละเมิดกติกาและสิทธิมนุษยชน
ขณะเดียวกันไบเดนก็ยอมรับว่าสหรัฐฯ จะต้องร่วมมือกับจีนในด้านอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกัน เช่น เรื่องโลกร้อน, การระงับการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และความมั่นคงด้านสาธารณสุขสากล
ไบเดนบอกว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่ มีจีดีพีเท่ากับ 1 ใน 4 ของโลก
"เมื่อเราจับมือกับประเทศที่เป็นเพื่อนร่วมหลักการประชาธิปไตยด้วยกัน พลังของเราก็เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว จีนไม่อาจจะมองข้ามเศรษฐกิจที่ใหญ่เกินครึ่งหนึ่งของโลกได้ และนั่นจะทำให้เรามีอำนาจต่อรองในการเขียนกฎกติกาในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือแรงงาน เรื่องเทคโนโลยีหรือความโปร่งใส เพื่อจะสามารถสะท้อนถึงค่านิยมด้านผลประโยชน์และคุณค่าด้านประชาธิปไตยของเรา..." ไบเดนยืนยัน
ไบเดนไม่ประกาศ Make America Great Again เหมือนทรัมป์
แต่ปรับเป็น America Must Lead Again
นั่นแปลว่าสหรัฐฯ ภายใต้การนำของเขาจะต้องกลับมาเป็นเบอร์หนึ่ง เพื่อนำให้ทั้งโลกอยู่ในสภาพที่เห็นบทบาทสำคัญของความเป็นมหาอำนาจของอเมริกาอีกครั้งหนึ่ง
และหากไบเดนชนะเลือกตั้ง รองประธานาธิบดีก็จะคือ กมลา แฮร์ริส ซึ่งมีเชื้อสายอินเดีย
เธอมีความเข้าใจเอเชียมากกว่ารองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ แน่นอน...เราจึงคาดได้ว่านโยบายสหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนจะให้ความสำคัญต่อเอเชียมากขึ้น
แต่อเมริกาจะฟังเสียงของเอเชียหรือให้เอเชียมีสิทธิ์มีเสียงมากน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องที่ต้องเกาะติดกันต่อไป
เพราะจีนเองก็เฝ้ามองอย่างตาไม่กะพริบเหมือนเราเช่นกัน
ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้จึงมีความสำคัญต่อชาวโลกอย่างแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |