“ห้องเรียนพ่อแม่”รู้เรา-รู้ลูก รับมือปัญหาสังคมก้มหน้า


เพิ่มเพื่อน    

 ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะบ้านไหนที่พ่อแม่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น ทั้งเรื่องการสื่อสารไม่เข้าใจกัน เนื่องจากลูกเริ่มโตขึ้นมักจะเริ่มต่อต้านสิ่งที่ผู้ปกครองแนะนำ รวมถึงปัญหาลูกติดเกม กระทั่งลูกเริ่มเป็นวัยรุ่นและเริ่มคบเพื่อนต่างวัย สิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคหนึ่งในการเลี้ยงดูบุตรหลาน

เพื่อส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้าใจในความต่างระหว่างกันทั้งลูกหลานและผู้ปกครองที่เลี้ยงดู ท่ามกลางสื่อออนไลน์และปัจจัยกระตุ้นที่สถาบันครอบครัวเริ่มมีรอยร้าว หรือสื่อสารกันไม่เข้าใจ กิจกรรมเวิร์กช็อปดีๆ อย่าง “ห้องเรียนพ่อแม่” จึงเกิดขึ้น ณ อาคารไทยใส่ใจเพื่อสังคม (องค์กรสาธารณประโยชน์) 

โดย 2 กระบวนกรอย่าง ครูยุ้ย-ปรัญญา พันธุ์หอม และ ครูธี-ธีรชาติ พันธุ์หอม 2 อดีตข้าราชการที่ศึกษาเกี่ยวกับแนวคิด “จิตตปัญญาศึกษา” หรือการศึกษาที่ทำให้เข้าใจด้านในของตัวเอง รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น ณ เสม สิกขาลัย พร้อมกับนำประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงดูลูกสาววัย 24 ปีที่ติดเกมสมัยวัยรุ่น แต่เรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย กระทั่งนำความรู้มาถ่ายทอดและแชร์ประสบการณ์ร่วมกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เพื่อนำไปปรับในการออกแบบการดูแลบุตรหลานให้เหมาะกับแต่ละครอบครัว เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างสมาชิกในบ้าน ผ่านการบอกเล่าประสบการณ์ตรง ในการรับมือกับปัญหาช่วงวัยรุ่นที่เกิดขึ้นกับลูกสาวติดเกม พร้อมทำกิจกรรมเวิร์กช็อปที่สะท้อนความเป็นพ่อแม่และการเลี้ยงดูควบคู่กันไป

กิจกรรมในงานเริ่มจากการ ครูยุ้ย-ปรัญญา พันธุ์หอม คุณแม่ลูกสาววัย 24 ปี ที่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ตรงถึงการเป็นผู้ปกครองยุคโซเชียลที่โลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็กๆ ยุคนี้ และที่ผ่านมาในช่วงที่ลูกสาวกำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่นนั้นติดเกม ประกอบกับตัวเองเป็นคุณแม่ที่ค่อนข้างเคร่งครัดกับการเลี้ยงลูก โดยช่วงแรกได้พูดคุยและทำการตกลงกับบุตรว่า หลังจากเลิกเรียนและทำการบ้านแล้ว ลูกสามารถเล่นเกมได้กระทั่งถึงเวลา 3 ทุ่ม แต่ลูกสาวไม่ยอมเลิกเล่นเกม ประกอบกับตัวเองนั้นใช้วิธีดึงปลั๊กสัญญาณไวไฟออกด้วยอารมณ์โกรธ กระทั่งลูกสาวไม่พอใจและเกิดการโต้เถียงกัน คุณพ่อธีใช้ความเป็นคุณพ่อหมีที่เน้นความสุขุมและคิดอย่างเป็นระบบ (การจัดกลุ่มการเลี้ยงลูก 4 ทิศ 4 สไตล์ เลียนแบบชาวอินเดียนแดง ประกอบ หมี, อินทรี, หนู, กระทิง) กระทั่งคุณแม่และคุณลูกจับมือกันอีกครั้ง

“ประสบการณ์ที่ผ่านมาสำคัญอีกเรื่อง คือการที่ลูกเข้า ม.1 และเริ่มมีแฟน โดยความเป็นแม่นั้นเราก็กลัวไปสารพัด ประกอบกับที่ตัวเองเป็นแม่ที่ค่อนข้างเข้มงวด ลูกจึงโกหกเรื่องการมีแฟน กระทั่งลูกขอไปอ่านหนังสือกับเพื่อน ครูยุ้ยก็ไปนั่งเฝ้า แต่นั่งห่างๆ กัน กระทั่ง 4 โมงเย็นจึงกลับบ้าน หลังจากนั้นลูกก็ขอไปอ่านหนังสืออีก ก็เลยใช้วิธีให้พ่อลาพักร้อนไปเฝ้าลูก แต่ครูยุ้ยได้กลับมาคิดว่า แล้วเราจะลางานเพื่อไปเฝ้าลูกได้อีกกี่วัน ตรงนี้จึงทำให้เราปรับเปลี่ยนการเลี้ยงลูกใหม่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว กระทั่งเริ่มสนใจเกี่ยวกับกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา (การศึกษาที่ทำให้เข้าใจด้านในของตัวเอง รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น) ส่วนหนึ่งเพื่อให้ตัวเองเป็นพ่อแม่ที่เข้าใจตัวเองก่อน ก่อนที่จะนำไปใช้เลี้ยงลูกอย่างถูกต้อง ผ่านการดูแลบุตรสาวที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างพ่อกับแม่ เพราะถ้าหากเราดูแลลูกให้มีความสุข พ่อแม่เองก็จะไม่เครียด เพราะอย่าลืมว่าบางครั้งนั้นเราเลี้ยงลูกด้วยความคาดหวัง

ถามว่าครูยุ้ยรับมือกับการที่ลูกสาวเริ่มมีแฟนอย่างไร ต้องบอกก่อนว่าตอนแรกที่รู้ว่าลูกมีแฟน เราห้ามลูก นั่นจึงทำให้เขาเริ่มโกหกเรา กระทั่งครูยุ้ยเองเริ่มกลับมาคิดว่า นี่แม่กำลังสร้างนักโกหกมืออาชีพ เพราะถ้าเรายิ่งห้ามเขา เขาก็จะโกหกมากเรื่อยขึ้นไปอีก และสุดท้ายลูกอาจจะเป็นนักโกหกมืออาชีพก็เป็นได้ สุดท้ายครูยุ้ยก็ยอมให้ลูกสาวมีแฟนตอนเขาอยู่ ม.1 แต่ตกลงกันว่าลูกจะต้องพูดความจริงกับพ่อแม่ และตัวเราเองก็เริ่มมีการปรับสีหน้าท่าทางการพูดให้ดูนุ่มนวลลง เช่น เคยถามลูกว่า “ไปไหน? ไปกับใคร? กลับเมื่อไร? ซึ่งถ้าลูกได้ยินคำถามนี้ เขาก็จะไม่อยากตอบเรา แต่จะใช้วิธีถามโดยเลือกใช้น้ำเสียงให้เบาลงและนุ่มนวล ใช้สายตาที่อ่อนโยนลง อีกทั้งถ้าลูกเริ่มเงียบกับคำถามของเรา พ่อแม่ก็ควรจะหยุดถามคำถามนี้ และต้องนึกย้อนเวลาที่เราเป็นวัยรุ่นว่าเราเองยังไม่บอกแม่ทุกเรื่องเลย”

บ่อยครั้งที่พ่อแม่ยุคใหม่ที่ไม่อยากมีลูก เพราะเป็นกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อาจทำให้เลี้ยงลูกได้ไม่ดี ทว่าสมาชิกที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปในครั้งนี้มีทั้งครอบครัวที่มีลูกแฝดซึ่งกำลังเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และบางครอบครัวที่กำลังมีน้องเล็กๆ ที่เพิ่งคลอด และอยู่ในวัยกำลังหัดเดิน หัดพูดคุย 2 กระบวนกรก็ได้ ให้สมาชิกทั้ง 8 คนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปในครั้งนี้ระบายสีรูปภาพที่กำหนดให้เพื่อเป็นตัวแทนของลูก และสะท้อนให้เห็นว่า “พ่อแม่มีจินตนาการเกี่ยวกับลูกๆ อย่างไร??” ซึ่งบางคนระบายสีภาพที่เป็นตัวแทนของลูกด้วยสีฟ้า สีเขียว เพราะอยากให้ลูกมีพลังเย็น หรือพ่อแม่บางคนเลือกระบายสีชมพู เพราะต้องการให้ลูกดูสดใสร่าเริง อีกทั้งพ่อแม่บางคนเลือกภาพที่เป็นรูปดอกไม้ ก็เพื่อต้องการสื่อให้รู้ว่าในชีวิตจริงของลูกนั้นจะต้องมีคนที่หลากหลายบุคลิกและความคิด ดังนั้นดอกไม้ในภาพที่ระบายจึงมีลักษณะของดอกที่แตกต่างกัน เหมือนกับเด็กที่ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนจำนวนมากอยู่รอบตัวเรา แม้แต่พ่อแม่บางคนที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่ค่อนข้างมีระเบียบ ดังนั้นจึงเลือกรูปภาพเป็นรูปดอกไม้ เพราะอยากให้ลูกเติบโตตามธรรมชาติของลูก เป็นต้น

“สมัยนี้คนไม่ค่อยอยากมีลูก เพราะพ่อแม่หลายคนกลัวว่าถ้ามีลูกแล้วอาจจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี เพราะสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่จากประสบการณ์นั้น การที่มีลูกเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญเมื่อเรามีลูกแล้ว บางครั้งการเลี้ยงดูเด็กให้อยู่ในกรอบมากเกินไปก็จะทำให้เขารู้สึกอึดอัด แต่การมีกรอบอยู่ภายนอกและปล่อยให้เด็กใช้ชีวิตแบบว่างๆ หรืออิสระภายในกรอบก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่อย่างน้อยก็ยังต้องมีกรอบอยู่ และการมีลูกเราต้องขอบคุณ เพราะลูกจะเป็นครูเพื่อให้พ่อแม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง และทำให้เรามีชีวิตคู่ที่ดีมากขึ้น เวลาครอบครัวที่ครอบครัวมีความสุขมันจะลงตัวมาก ดังนั้นการมีลูกจึงเหมือนของขวัญที่พ่อแม่ได้มา และสิ่งสำคัญการที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกตั้งแต่เล็กกระทั่งโตที่มาพร้อมกับการคาดหวังก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่สุดท้ายแล้วต้องประคับประคองให้อยู่ในแนวทางที่ดีและสมดุล หรืออยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่เข้มงวดจนเกินไป”

เข้าสู่กิจกรรมที่สองอย่างการเลือกลักษณะคำที่ตรงกับบุคลิกนิสัยของเราคนละ 5 ใบ เพื่อดูว่าเราเป็นคนแบบไหน ซึ่งสามารถนำไปใช้กับการเป็นพ่อแม่ได้เช่นกัน ซึ่งหลังจากที่สมาชิกเลือกบัตรคำแล้ว ก็จะนำไปเทียบกับลักษณะการเลี้ยงลูก 4 ทิศ หรือ 4 สไตล์ ที่จำลองมาจากการชาวอินเดียนแดง โดยแบ่งพฤติกรรมของมนุษย์ออกเป็น 4 ทิศ ซึ่งแต่ละทิศจะมีตัวแทนเป็นสัตว์ตามทิศ เช่น “ทิศเหนือ” คือสัญลักษณ์ของ “กระทิง” (เป้าหมายมีไว้พุ่งชน, กระฉับกระเฉง ว่องไว, ดุ, ห้วน, ขี้หงุดหงิด, เป็นผู้นำ, รักพวกพ้อง ขณะที่ “ทิศใต้” สัญลักษณ์คือ “หนู” (ขี้กลัว, ขี้ตกใจ, รู้จักแคร์ผู้อื่น, ไม่กล้าปฏิเสธผู้อื่น, พูดจาอ้อมๆ, ชอบอยู่กับคนจำนวนมาก, ไม่กล้าแสดงออก, ยอม, ช้า, เวลาทำงานชอบทำหลายๆ คน, เป็นกำลังใจที่ดี) ส่วน “ทิศตะวันออก” สัญลักษณ์คือ “นกอินทรี” (เป็นคนมองทุกอย่างภาพรวม, มีความคิดสร้างสรรค์, ชอบทำโปรเจ็กต์ใหม่ๆ, ทำงานได้ไม่นาน, ขี้เบื่อ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ, กฎมีไว้แหก) ส่วนทิศสุดท้ายคือ “ทิศตะวันตก” สัญลักษณ์คือ “หมี” (ช้าแต่ชัวร์, รอบคอบ, มีตรรกะหรือทำทุกอย่างแบบมีเหตุและผล, ใส่ใจข้อมูล, ใส่ใจรายละเอียด, ไม่ชอบเปลี่ยนแปลงตัวเอง, ทำอะไรซ้ำๆ ได้, กฎมีไว้ทำตาม)

หลังจากที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลือกบัตรคำและเช็กว่าตัวเองเป็นพ่อแม่และเลี้ยงดูลูกอย่างไร ตามลักษณะของสัตว์ประจำทิศทั้ง 4 แล้ว กระบวนกรทั้ง 2 คนได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 8 คนเขียนจดหมาย 1 ฉบับ เพื่อชื่นชมสัตว์ทั้ง 4 ทิศที่เป็นเพื่อนเรา (กระทิง, หนู, นกอินทรี, หมี) พร้อมกับเขียนจดหมายอีก 1 ฉบับเกี่ยวกับการขอร้องบางสิ่งบางอย่างกับทั้ง 4 ทิศ

“สำหรับเวิร์กช็อปนี้จะมีประโยชน์ในแง่ของการสะท้อนให้ผู้ปกครองรู้ว่า เราเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกเป็นแบบไหน โดยจำลองเป็นตัวแทนของสัตว์ประจำทั้ง 4 ทิศ ตามแบบศาสตร์ของคนอินเดียนแดง ซึ่งจะช่วยให้เราเรียนรู้และรู้จักการปรับตัวเองในการดูแลบุตรหลานได้อย่างถูกต้อง เพราะอย่าลืมว่าการที่ลูกกำลังเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นนั้น เขามักจะชอบอะไรที่แปลกใหม่และติดเพื่อน หรือต้องการมีสังคมของตัวเอง ซึ่งจะไปตรงกับสัตว์ที่ไม่ชอบมีกรอบ หรือไม่ชอบอยู่ในกรอบอย่างนกอินทรี”

อีกหนึ่งศาสตร์การเลี้ยงดูลูกหลานที่สำคัญในยุคที่โลกโซเชียลกลายเป็นเพื่อนลูก หรือแม้หากเราต้องการเช็กว่าเด็กในปัจจุบันจะเติบโตไปในทิศทางไหน ก็สามารถดูจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ โดยย้อนกลับไปดูสมัยพ่อแม่อยู่ในวัยเยาว์ได้เช่นกัน เพราะบางครั้งตอนที่ผู้ปกครองยังเล็กนั้นมักจะได้รับการอบรมและเลี้ยงดูในครอบครัวที่แตกต่างกัน โดยอาศัย “การฟัง” ที่จะไม่เพียงช่วยให้ผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมได้ระบาย แต่ทว่ายังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นพ่อแม่ย้อนมองการเลี้ยงลูกในยุคนี้เช่นกัน ทั้งนี้ ครูยุ้ย และ ครูธี ได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่กัน เพื่อบอกเล่าชีวิตในช่วงวัยเยาว์ของตนว่าถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร ซึ่งให้เวลาในการผลัดกันเล่าคนละ 10 นาที โดยที่อีกฝ่ายให้นั่งฟังอย่างเดียวโดยไม่ต้องแสดงความคิดเห็น

“การที่เราได้ระบายความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตในวัยเยาว์จะทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญการที่เราไม่ถามเพื่อนขณะที่เรากำลังฟังเพื่อนเล่าชีวิตนั้น ไม่เพียงทำให้อีกฝ่ายพูดไปในทิศทางหนึ่ง ซึ่งเป็นมุมที่เขายังไม่ได้ระบาย หรือไม่เคยระบายให้ใครฟัง ทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายหรือคลายปมในชีวิตที่ผ่านมา อีกทั้งทำให้เรารู้จักเพื่อนมากขึ้นจากสิ่งที่เขาเล่ามา อีกทั้งการที่เราตั้งใจฟังเพื่อนโดยไม่ถามนั้น ไม่เพียงทำให้เรารู้ว่าคุณค่าการฟังเป็นอย่างไร แต่การฟังโดยไม่แสดงความคิดเห็นจะทำให้ผู้เล่ามีคำตอบจากปมหรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตได้เอง และทำให้เราเห็นแง่มุมของชีวิตและนำไปใช้ในการเลี้ยงดูบุตรหลานได้”

ครูธี-ธีรชาติ บอกอีกว่า สำหรับทฤษฎีของการฟังนั้นมีด้วยกัน 4 ระดับ เริ่มจาก 1.I in me หรือการฟังแบบตัดสินผู้พูดหรือผู้เล่า 2.I in it คือระดับของการฟังที่ดีขึ้น แต่ผู้ฟังจะเทียบเคียงเรื่องที่ฟังจากประสบการณ์ของตัวเอง 3.I in you คือการฟังแบบจมอยู่กับความทุกข์ โดยผู้รับฟังจะเป็นทุกข์ร่วมกับผู้เล่าไปด้วย 4.I in you now คือการฟังด้วยสติสัมปชัญญะ หรือเมื่อฟังแล้วจะรู้สึกว่าเราจะหาวิธีช่วยผู้เล่าอย่างไรดี (เป็นระดับการฟังที่มีคุณภาพ และทำให้ผู้ฟังอยู่กับคนตรงหน้าได้ดียิ่งขึ้น หรือทำให้ผู้เล่าระบายความทุกข์ในใจออกมาได้เป็นอย่างดีเช่นกัน)”

“ช่วงเวลาทองที่สำคัญในการพูดคุย สื่อสาร ทำความเข้าใจกับลูก เวลาที่เขาออกไปเรียนหรือไปพบเจอสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน คือเวลาหลังเลิกงาน หรือหลังเลิกเรียน โดยการใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีในการพูดคุยกับลูก (สังเกตอย่างง่ายว่าลูกวางมือถือแล้วหรือไม่ หรือให้ผู้ปกครองถามก่อนว่าลูกพร้อมพูดคุย หรือมีกิจกรรมอย่างอื่นที่ต้องทำหลังเลิกเรียน เลิกงานหรือไม่) แต่หากลูกยังไม่พร้อมที่จะเล่า ก็แนะนำว่าให้หาเวลาที่พร้อมกันทุกคู่ จึงค่อยทำการพูดคุย เล่าและแลกเปลี่ยนเรื่องที่ได้พบเจอกับลูก

อย่าลืมว่าถ้าหากลูกพร้อมเล่า พร้อมคุย แต่พ่อแม่ไม่พร้อมฟัง เด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่มีพื้นที่ให้เขา และเด็กก็จะไปอยู่กับสิ่งอื่น เช่น มือถือ เกม เป็นต้น ที่สำคัญเวลาพูดคุยสื่อสารกับลูกนั้น การใช้อวัจนภาษา หรือสีหน้า ท่าทาง แววตา ที่นุ่มนวล เบาลง หรือทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่พร้อมจะฟังที่สิ่งลูกพูดจริงๆ เด็กจะกล้าเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นและพบเจอให้ฟัง เพราะอันที่จริงแล้วคำว่าการสื่อสารนั้นไม่ได้หมายถึงคำพูดอย่างเดียว เพราะคำพูดหรือเนื้อหาที่พูดนั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่อีก 93 เปอร์เซ็นต์ คือทางท่า สีหน้าและแววตา ที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้การพูดคุยสื่อสารทำได้ดีและเข้าใจกันมากขึ้น”.

 

 

 

 

อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจในช่วงบ่าย โดย 2 วิทยากรได้ทบทวนเรื่องราวในวัยเด็กของผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมตามสัตว์ทั้ง 4 ทิศ (กระทิง หนู อินทรี หมี) ที่ควงกันมาเป็นคู่สามีภรรยา และคู่แม่ลูก โดยการตั้งคำถามเกี่ยวกับในช่วงวัยเด็กของพ่อแม่ (ตั้งแต่เด็กจนถึงอายุ 10 ปี) ว่า “อยากได้พ่อแม่แบบไหน?” เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ในปัจจุบันเมื่อมีลูกแล้วพ่อแม่ยุคใหม่ดูแลลูกของตัวเองอย่างไร และช่วยให้เข้าใจว่าเด็กยุคใหม่นั้นก็มีความต้องการที่ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะหากว่าตัวผู้ปกครองมีต้นแบบที่ดีตั้งแต่เด็กอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งคำตอบก็จะค่อนข้างมีหลากหลาย เช่น “พ่อแม่กลุ่มกระทิง” อยากได้ผู้ปกครองที่มีส่วนร่วมในการช่วยตัดสินใจหรือช่วยพิจารณาอนาคตต่างๆ ของลูกหลาน ทั้งการเรียนและการทำงาน หรือ “พ่อแม่กลุ่มหมี” อยากได้พ่อแม่ที่พาไปเที่ยว ตามใจ ซื้อของให้ และอยากให้พ่อแม่รักกันมากขึ้น กระทั่ง “พ่อแม่กลุ่มหนู” ที่ไม่อยากให้พ่อแม่เป็นห่วงตัวเองมากเกินไป ฯลฯ

“เนื่องจากวัยเด็กนั้นเป็นเรื่องของการพึ่งพิง ดังนั้นสิ่งที่สรุปได้จากความต้องการของพ่อแม่ในแต่ละกลุ่มนั้น เพื่อสะท้อนไปสู่การเลี้ยงดูลูกในปัจจุบัน อีกทั้งทำให้เข้าใจลูกหลานได้มากขึ้น คือ เมื่อครั้งที่พ่อแม่ยังเป็นวัยรุ่นก็มักจะต้องการพื้นที่ส่วนตัว, ไม่อยากให้พ่อแม่เป็นห่วงมากเกินไป, เป็นเพื่อนรับฟังปัญหา, ช่วยวางแผนและเป็นที่ปรึกษาอนาคตของลูกโดยไม่กำกับ, ไม่เปรียบเทียบลูกตัวเองกับผู้อื่น, ไม่ห้ามเรื่องการมีแฟน

สิ่งสำคัญหากเราตั้งคำถามในการเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างไรนั้น?? ให้ลองนึกภาพของการหาความรู้จากอดีตสู่ปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันเราอาจจะหาความรู้ได้จากอินเทอร์เน็ต ฟังพอดแคสต์ ดูยูทูบ ถามผู้รู้หรือกูรูต่างๆ หรือลงมือทำด้วยตัวเองเพื่อหาประสบการณ์ แต่ในอดีตนั้นความรู้ที่เราจะได้ก็มักจะมาจากการอ่านหนังสือ เข้าห้องสมุด อ่านการ์ตูน อ่านหนังสือเรียนนอกเวลา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเราต้องการความรู้อะไรสักอย่างก็จะมีวิธีในแบบของแต่ละคน และเป็นไปตามช่วงสมัยของตัวเอง

แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้คือการไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ เพราะถ้าเรายึดติดกับความคิดหรือความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งของสมาชิกในบ้าน เช่น ถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่งในบ้าน เช่น ลูกชอบนอนอ่านนิยายที่บ้าน แต่พ่อบอกว่าชอบไปเที่ยวเขาใหญ่ ส่วนแม่อยากทำสปา แต่ถ้าหากตกลงกันด้วยการเลือกใช้ทางสายกลาง โดยบอกว่าถ้าไปเที่ยวเขาใหญ่ ลูกก็จะได้เปลี่ยนที่อ่านหนังสือ และแม่ก็จะได้ทำสปาที่พักในเขาใหญ่ด้วย ก็จะทำให้การใช้ชีวิตของสมาชิกลงตัว ไม่เกิดความขัดแย้ง ซึ่งก็คล้ายกับการเลี้ยงลูกหลานในปัจจุบัน ที่ต้องเป็นไปด้วยความเข้าใจเขา และก่อนที่จะเข้าใจลูก พ่อแม่เองก็ต้องเข้าใจตัวเอง และย้อนคิดไปถึงอดีตเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองชอบและไม่ชอบด้วยเช่นกัน เพื่อนำมาบริหารจัดการทุกอย่างได้แบบลงตัว”.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"