“บิ๊กตู่” ไฟเขียวแก้ รธน. โยนเป็นเรื่องพรรคร่วมรัฐบาล ข้องใจประเทศไทยไม่ควรมีวุฒิสภา ให้ไปเปรียบเทียบในอดีต ชี้อย่ามองแค่เลือกนายกฯ "พีระพันธุ์" ส่งรายงานถึงมือประธานสภาฯ 31 ส.ค. "ชินวรณ์” แจงพรรคร่วมเสนอร่างเดียว ตั้งส.ส.ร. 200 คน ดึง นศ.ร่วมด้วย ขีดเส้นทำงาน 240 วัน ส่งรัฐสภาโหวตเห็นชอบ พท.ร้อนใจแถลงเคลียร์ปมไม่ชงปิดสวิตช์ ส.ว. ยันแก้ ม.256 นำร่องค่อยดัน ม.272 "ปิยบุตร" เตือนขัดใจม็อบระวังเจอยกระดับชุมนุม
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังพรรคประชาธิปัตย์เตรียมเสนอร่างของพรรคแยกออกจากพรรคร่วมรัฐบาลในสัปดาห์หน้าว่า เรื่องนี้เคยพูดไปแล้ว เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ต่างคนต่างทำ แยกกันไป ทำนองนี้ แล้วแต่พวกท่าน จะแก้อย่างไรก็แก้มา แต่อย่าลืมว่าขั้นตอนของกฎหมายว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น
“อย่างไรเสียถ้ายังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญเก่า ต้องไปดูว่าจะแก้กันอย่างไร ถ้ามันแก้ผิดวิธี มันก็วุ่นไม่เลิก ต้องแก้อยู่อย่างนี้ แก้จนกว่าใครจะได้ประโยชน์ละมั้งผมว่า วันนี้ต้องดูว่าเขาแก้เพราะอะไร มีการกันอะไรไว้หรือเปล่า ไม่ได้ทำเพื่อผมหรอก พูดกันไปกันมาเรื่อยเปื่อยว่าทำเพื่อผม ความจริงบอกแล้วว่าที่ผมอยู่ทุกวันนี้คือความรับผิดชอบของผม จนกว่าที่ผมจะไม่ได้อยู่” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเสนอแก้ไขอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะเสนอไปได้อย่างไร เป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาลก็เสนอแยกกันไป แต่ละพรรคก็ไปชนกันข้างบนในสภาก็ไปเจอกัน ต้องไปถกแถลงและลงมติกัน ต้องไปดูว่าประชามติจะทำอย่างไร ต้องทำหรือไม่ ใช้เวลาเท่าไหร่ จะไปลบทั้งหมดไม่ได้ เพราะเป็นกลไกของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่
เมื่อถามว่า ส.ว.ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามกลับว่า ประเทศไทยไม่ควรมี ส.ว.อย่างนั้นหรือ ในส่วนของอำนาจที่มีการเรียกร้องกันอยู่ในขณะนี้ก็ต้องมีการไปหารือกัน ไม่มีใครอยากโดนว่าหรือถูกตำหนิทุกวัน เพราะทุกคนตั้งใจทำงาน แล้วบ้านเมืองมีความสงบสุขหรือไม่ ขอให้ไปดูตรงนั้น ที่ผ่านมาเคยมี ส.ว.อีกประเภทหนึ่งแล้วเป็นอย่างไร ลองเปรียบเทียบดู อย่ามามองประเด็นเดียวว่าเขาสนับสนุนให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ประเด็นอื่นก็มีอีกเยอะแยะ ปัญหาเกิดขึ้นมากมายหลายประการ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นนโยบายเร่งด่วน ข้อที่ 12 หน้า 33 แต่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะร่วมกันทำเป็นร่างของพรรคร่วม อาจจะมีวิธีทำได้ดีกว่ารัฐบาล เพราะหากรัฐบาลทำต้องเอาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้กำหนด ซึ่งอาจจะไม่ค่อยสบอารมณ์พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ เขาอาจจะอยากมีมาตรานั้นและไม่เอามาตรานี้ ได้ยินว่าตกลงกันเรียบร้อยแล้ว มีการส่งร่างมาให้ตนแล้ว แต่ยังไม่ได้ดู
ที่รัฐสภา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า รายงานของคณะกรรมาธิการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าวันที่ 31 ส.ค. จะยื่นรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป สำหรับเนื้อหารายงานไม่ได้เป็นลักษณะข้อสรุป เพราะคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ทำหน้าที่ศึกษาพิจารณาทั้งข้อดีข้อเสียและแง่มุมต่างๆ ทั้งที่มีความเห็นตรงกันว่าให้แก้ไขและไม่ให้แก้ไข หรือแก้ไขในวิธีการที่ต่างกัน บางคนเห็นตรงกันในหลักการ แต่ละรายละเอียดต่างกัน ซึ่งจะนำเสนอความคิดเห็นแง่มุมต่างๆ ให้ครบถ้วนเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไป จึงไม่ได้มีแต่เรื่องการเมืองและการเลือกตั้ง เพราะหัวใจรัฐธรรมนูญคือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ส่วนเรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่หลายพรรคเห็นตรงกันว่าควรยกเลิกนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ความเห็นด้านนี้ก็มีในรายงาน แต่ความเห็นด้านที่เห็นว่าแบบเดิมเหมาะสมแล้วก็มี ซึ่งจะมีการใส่หลักการและเหตุผลในรายงาน คนที่นำไปศึกษาจะได้เห็นเหตุผลและพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ขอย้ำว่าในรายงานไม่ได้มีบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แต่ศึกษาว่าบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ถูกต้องเหมาะสมไว้หรือไม่ ใส่ความเห็นทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย ซึ่งเป็นเอกสารทางวิชาการมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ตามระบบเมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว จะส่งรายงานฉบับนี้ไปที่รัฐบาล โดยหลักการรัฐบาลควรที่จะต้องเอารายงานนี้ไปศึกษาประกอบด้วย แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ อยู่ที่ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ต่อไปว่าจะให้ความสำคัญกับรายงานของคณะกรรมาธิการฯ แค่ไหน ซึ่งก็ไม่ได้มีบทบังคับไว้
รบ.ชงแก้รธน.ร่างเดียว
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า รัฐบาลมีมติจะเสนอในนามของพรรคร่วมรัฐบาลเพียงร่างเดียว โดยยึดหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งองค์ประกอบของ ส.ส.ร. มีข้อยุติชัดเจนว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรง 150 คน รวมทั้งจะมาจากการเลือกของส.ส. 10 คน มาจากการเลือกของ ส.ว. 10 คน และมาจากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ และประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน 20 คน และเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษามีส่วนร่วมจำนวน 10 คน โดยเป็นเลือกกันเอง ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์
ทั้งนี้ เมื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ให้ทำงานแล้วเสร็จภายใน 240 วัน จากนั้นเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและประกาศใช้ต่อไป แต่ถ้าหากว่ารัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ จะต้องทำประชามติ ทั้งหมดนี้คือหลักการของร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน แต่แตกต่างกันในรายละเอียดที่เพิ่มองค์ประกอบของ ส.ส.ร.เข้ามา
เมื่อถามว่า หากรัฐสภาเห็นชอบแล้วจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า จะทำประชามติเฉพาะที่ในรัฐสภาไม่เห็นชอบเท่านั้น ซึ่งคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อรัฐสภาเห็นชอบจะประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบจะต้องทำประชามติ ทั้งนี้ แนวความคิดของพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญร่วมกัน คือต้องการให้การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญแก้ไขได้จริง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่เป็นประเด็นกำลังมีการถกเถียงกัน เช่น บทเฉพาะกาลหรืออำนาจของส.ว. เป็นเรื่องที่ทาง ส.ส.ร.จะไปดำเนินการพิจารณาแก้ไขต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ความเห็นชอบเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ไปถึงขั้นตอนการทำประชามติ ได้มีการพูดคุยกับ ส.ว.หรือไม่ รองประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า มีอยู่ 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกเป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.ประเด็นนี้ต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะใช้องค์ประกอบในการลงประชามติตามรัฐธรรมนูญ 2560 และต้องดำเนินการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) เข้าใจว่าที่ประชุมร่วม 3 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าน่าจะได้มีการรับฟังความคิดเห็นจาก กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ จึงกำหนดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังรายงานของ กมธ.ชุดดังกล่าวในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 ก.ย.
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มติวิปของพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงร่างเดียว จึงจำเป็นต้องนำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ขึ้นมาหารือกับที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอความเห็นชอบในการผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 272 ในนามพรรค ซึ่งนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ได้เตรียมการยกร่างญัตติในเรื่องนี้แล้ว และจะนำเสนอในที่ประชุม ส.ส.ของพรรคในวันที่ 31 ส.ค.นี้ และเมื่อญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกร่างเสร็จแล้ว จะเปิดให้มีการลงชื่อในญัตติดังกล่าวจนครบจำนวน 98 คน ซึ่งในขณะนี้มี ส.ส.ในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านหลายคน ได้แสดงความประสงค์ที่จะขอลงชื่อในญัตตินี้ด้วย และจะยื่นต่อประธานสภาฯ ภายในสัปดาห์หน้า
พท.โร่เคลียร์ปมโละ ส.ว.
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน, นายโภคิน พลกุล และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงกรณีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรรมนูญในส่วนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งผลักดันให้แก้มาตรา 256 โดย น.อ.อนุดิษฐ์ อ่านแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย จำนวน 8 ข้อ มีเนื้อหาสรุปว่า จะเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ตามร่างเดิมเพียงประเด็นเดียวก่อน เพื่อให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนเรื่องอำนาจของ ส.ว. ที่มาของ ส.ว. และมาตรา 279 นั้น อยู่ในวิสัยที่จะร่วมปรึกษาหารือ และสร้างความเห็นพ้องร่วมกันต่อไปในห้วงเวลาที่เหมาะสม
นายสุทินกล่าวว่า อาจมีความเข้าใจที่ไขว้เขวอยู่ว่า เราไม่ร่วมปิดสวิตช์ ส.ว. ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ยืนยันว่าพรรคเห็นว่าการคงไว้ซึ่งอำนาจ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งพรรคได้รับผลกระทบมากกว่าพรรคอื่นด้วย ซึ่งเห็นด้วยที่จะแก้มาตรา 272 เพื่อลดอำนาจ ส.ว. แต่ต่างกันนิดเดียวว่าจะให้ใครแก้ แก้เมื่อไหร่เท่านี้เอง โดยเรามีความเห็นว่าควรให้ ส.ส.ร.แก้ เพราะ ส.ส.ร.คือข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ให้ประชาชนมาเขียน แล้วให้ ส.ส.ร.เป็นคนตัดอำนาจ ส.ว. ซึ่งมีส.ส.ร.เมื่อไหร่ เราจะรีบรณรงค์เรื่องนี้ทันที และหาก ส.ส.ร.มีท่าทีที่จะไม่ตัด เราก็พร้อมที่จะเดินหน้าแก้มาตรา 272 ในเวลานั้น เห็นต่างกับพรรคก้าวไกล เพียงแค่ต้องรอ ส.ส.ร.เท่านั้น
เมื่อถามว่า ได้มีการประสานพูดคุยกับทางพรรคก้าวไกลโดยตรงหรือไม่ นายสมพงษ์ยืนยันว่า จะมีการนัดอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยแถลงข่าวแล้วเสร็จ ระหว่างเดินออกจากห้องประชุม 309 ได้พบนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รวมทั้งนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการประชุมที่ห้อง 307 จากนั้นนายปิยบุตรให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1.ต้องมี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ต้องจำกัดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง ให้ทำใหม่ทั้งฉบับ ภายใต้กรอบการเป็นรัฐเดี่ยวภายใต้หลักการและราชอาณาจักร ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ระหว่างทางที่รอการพิจารณาในสภาฯ ว่าจะได้ ส.ส.ร.เมื่อไหร่ เราสามารถเสนอเข้าไปคู่ขนานได้ คือการเสนอญัตติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 ซึ่งเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว. รวมทั้งการยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองประกาศการกระทำของคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้
"เหตุที่ต้องเสนอคู่ขนาน เพราะว่ากว่าจะมี ส.ส.ร. กว่าจะแก้ไข จนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น อาจใช้เวลาถึง 1-2 ปี หากเกิดอุบัติเหตุการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา โดยการยุบสภาจะไม่เกิดความหมายอะไร ถ้ายังมี 250 ส.ว.ที่ยังมีอำนาจไปเลือกนายกฯ จึงได้เสนอให้มีการปิดสวิตช์ ส.ว.ไปก่อน หากยังประสงค์จะมี ส.ว.อีก ค่อยให้เข้ากลับมาตามช่องทางปกติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อย่างสง่างาม ไม่มีคำครหา ลองนึกสภาพว่า ถ้าสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนองแม้แต่เรื่องเดียว พวกเขาอาจยกระดับการชุมนุม เราคาดเดาไม่ออกว่าท้ายที่สุดจะออกมาเป็นแบบใด เรื่องใดที่พอจะผ่อนคลายสถานการณ์ลงได้ควรจะรีบทำ" นายปิยบุตรระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |