'ปิยบุตร' ย้ำยกเลิก ส.ว. มีโอกาสเป็นไปได้ หวังแรงกดดันนอกสภา ยันไร้บาดหมางเพื่อไทย


เพิ่มเพื่อน    

27 ส.ค.63 - ที่รัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมของ กมธ. ชุดดังกล่าว ซึ่งเป็นการพิจารณานัดสุดท้าย โดยเป็นการตรวจสอบรับรองรายงาน ก่อนนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่วันจันทร์ที่ 31 ส.ค.นี้ จะยื่นรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

นายปิยบุตร กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมองว่า 1. ต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ต้องจำกัดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง ให้ทำใหม่ทั้งฉบับ ภายใต้กรอบการเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักรตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ระหว่างทางที่รอการพิจารณาในสภาฯ ว่าจะได้ สสร. เมื่อไหร่ เราสามารถเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 269-272 บทเฉพาะกาล ส.ว. ซึ่งเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว. รวมถึงญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองประกาศ การกระทำของ คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

"เหตุที่ต้องเสนอคู่ขนานนั้น เพราะว่ากว่าจะมี สสร. กว่าจะแก้ไขกันจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา อาจใช้เวลาถึง 1-2 ปี ซึ่งระหว่างนี้ หากเกิดอุบัติเหตุการเมือง เช่น  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา การยุบสภานั้นจะไม่เกิดความหมายอะไรเลยถ้ายังมี 250 ส.ว. ที่ยังมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยอยู่ ดังนั้น จึงได้เสนอให้มีการปิดสวิตช์ ส.ว.ไปก่อน และหากยังประสงค์จะให้มี ส.ว.อีก ก็ให้กลับไปสรรหามาตามช่องทางปกติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 กำหนด ซึ่งถ้าปิดสวิตช์ ส.ว. ตรงนี้ได้ หากมียุบสภา เลือกตั้งใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ ชนะก็จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสง่างาม ไม่มีคำครหาว่ามีเสียง ส.ว.ช่วย และวันนี้เราก็เริ่มเห็นว่า ส.ว.หลายคนก็มีปฏิกิริยาที่จะยอมยกเลิกอำนาจตัวเองตามมาตรา 272 บางคนก็ไปไกลยอมถึงขั้นให้ยกเลิก 250 ส.ว.ไปเลยทั้งหมด ทำให้สถานการณ์ชุมนุมผ่อนคลายลง ลองนึกสภาพว่า ถ้าสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง ไม่ได้รับการตอบสนองแม้แต่เรื่องเดียว พวกเขาอาจยกระดับการชุมนุม เราคาดเดาไม่ออกว่าท้ายที่สุดจะออกมาเป็นแบบใด เรื่องใดที่พอจะผ่อนคลายสถานการณ์ลงได้ ควรจะรีบทำ" นายปิยบุตร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางพรรคเพื่อไทยมองว่าหนทางแบบพรรคก้าวไกล เป็นไปได้ยาก ที่ ส.ว.จะปิดสวิตช์ตัวเอง และแรงจากการชุมนุมอาจไม่สามารถกดดัน ส.ว.ได้ นายปิยบุตร กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จำเป็นต้องได้รับเสียงโหวต 1 ใน 3 จาก ส.ว. ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องใดที่ไปกระทบประโยชน์ คสช. หรือ ส.ว. ย่อมแก้ยากทุกเรื่อง เชื่อว่าพี่น้องประชาชนหรือแม้กระทั่ง ส.ส. ต่างตระหนักในเรื่องนี้ เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญยากมากหรืออาจเป็นไปไม่ได้ การจะแก้ได้หรือไม่ได้ อยู่ที่การกดดันนอกสภา และการกดดันนอกสภาที่พี่น้องประชาชน เยาวชน นิสิตนักศึกษาทำมาตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นเหตุผลหลักที่ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ทำให้รัฐบาลยอมขยับ เชื่อว่าถ้านอกสภายังกดดันเรื่องให้ยกเลิก ส.ว. ก็เป็นไปได้ที่ ส.ว.จะยอมเปลี่ยนใจ แต่ถ้าบอกว่ากำลังนอกสภายังไม่เพียงพอ เชื่อว่า หากปล่อยไปเรื่อยๆ ก็จะอ่อนแรงลง คราวนี้แม้แต่ สสร. ก็อาจจะไม่ได้ด้วย หรือแม้แต่การแก้ไขในสภาก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันฝ่ายผู้มีอำนาจจะยอม อาจจะให้ผ่านในวาระ 1 แต่อาจไปเบี้ยวในวาระ 3 ก็เป็นได้

"ที่บางฝ่ายมองว่า การยกเลิก ส.ว. ช่วงนี้ยังไม่เหมาะสม ตนเคารพการประเมินของแต่ละบุคคล แต่ในส่วนตัวเห็นว่าการเมืองคือความเป็นไปได้ ต้องเสนอรูปแบบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ทดลอง ถ้าเราคิดจากกรอบเดิม เราก็จะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แทบแก้ไขไม่ได้เลย แต่ถ้าเราคิดจากกรอบใหม่ว่าเป็นไปได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ได้ ต้องมีการกดดัน เมื่อมีการกดดันขนานใหญ่แบบนี้แล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องใช้โอกาสนี้ ในการผลักดันสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ถ้าวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกวุฒิสภาบทเฉพาะกาล หรือยกเลิกมาตรา 272 ในท้ายที่สุดหากไม่ผ่านเพราะ ส.ว.ไม่ยอม ก็ไม่เสียหายอะไร อย่างน้อยก็ได้ทดลองทำ อย่างน้อย นี่คือการตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน อย่างน้อย นี่คือ การเริ่มต้นจัดการจุดด่างดำที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนตัว ส.ว.ที่ขัดขวาง ก็จะเสื่อมความชอบธรรมลงไปอีก แล้วการเสนอปิดสวิทช์ สว ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไรต่อร่างแก้รัฐธรรมนูญให้มี สสร. เลย มันก็วิ่งกันคนละเลน คนละญัตติอยู่แล้ว ผมก็สงสัยทำไมไม่เสนอไปพร้อมกัน มันจะเสียหายทางการเมืองตรงไหน" นายปิยบุตร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ความเห็นที่ต่างกันระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย จนอาจเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเอง มองอย่างไร นายปิยบุตร กล่าวว่า ตอนนี้เป็นคนนอกแล้ว ไม่ทราบว่าเขาประชุมอะไรกันหรือมีความขัดแย้งอะไรกัน ในฐานะคนนอกที่มองเข้าไป เชื่อว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีอิสระต่อกัน มีความคิดแตกต่างหลากหลาย หากคิดเหมือนกันหมด คงเป็นพรรคเดียวกันไปแล้ว ในเมื่อเป็นคนละพรรค ย่อมคิดแตกต่างกัน จึงได้มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการขับเคลื่อน แตกต่างกัน ที่ผ่านมาคิดว่า บุคคล กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร ยังทำงานในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่สำหรับคนที่สนับสนุนบางคนอาจสนับสนุนเพื่อไทย บางคนสนับสนุนก้าวไกล หลายคนคิดว่านี่คือ "ฝ่ายประชาธิปไตย" ด้วยกัน ไม่ควรขัดแย้งกัน แต่ผมกลับมองว่า นี่คือคนละพรรคการเมือง ก็อาจมีแนวทางการต่อสู้ทางการเมือง ต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน การถกเถียงกันระหว่างผู้สนับสนุนในโลกโซเชียล ก็เป็นปกติตามแนวทางประชาธิปไตย เพราะ คนละพรรค คนละแนวคิด คนละแนวทาง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"