27 ส.ค.63 - ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา (ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์) คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.5/2562 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย 2 สมัย ผู้ถูกกล่าวหา เรื่องการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ตามที่เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง และลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสองและมาตรา 119 นั้น
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีคำขอท้ายคำร้องขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 และมาตรา 167 แม้ขณะยื่นคำร้องมีการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ยังกำหนดให้การจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบยังคงเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม จึงเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด กรณีจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดมาบังคับแก่คดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคหนึ่ง อันเป็นการปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง
สำหรับมาตรการบังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการบังคับทางการเมืองที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหายิ่งกว่ามาตรการบังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดมาตรการบังคับทางเมืองผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสอง เมื่อผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง กรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2557 โดยเป็นการยื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งผู้ร้องมีมติเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 อันเป็นเวลาหลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาและยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่แสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ ที่ดิน 2 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 2 หลังมูลค่ารวม 2,000,000 บาท และหนี้สินของคู่สมรส 4 รายการรวม 93,039,949 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินจำนวนมากที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงต่อผู้ร้องว่า ไม่ทราบถึงการทำธุรกรรมของคู่สมรสและเป็นความผิดพลาดของเลขานุการนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ตระหนักถึงหน้าที่ที่ตนซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้กลไกการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่เกิดประสิทธิผลต่อการตรวจสอบ ข้อแก้ตัวตามอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้อที่ง่ายต่อการกล่าวอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นผิดจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษจำคุกและปรับผู้ถูกกล่าวหา โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี เหมาะสมแก่พฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ทั้งนี้ กรณีเข้ารับตำแหน่งขาดอายุความทางอาญาแล้ว จึงไม่อาจนำมาตรการจำกัดสิทธิทางการเมืองมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ จึงแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า นางนาที รัชกิจประการ ผู้ถูกกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบเฉพาะกรณีพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32, 33, 34 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนางนาทีนั้น ครอบครัวเป็นเจ้าของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเครือพีที ซึ่งนางนาทีเคยได้รับเลือกเป็นประธานสภาพัฒนาสตรีจังหวัดพัทลุง และประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดพัทลุง เอฟซี
ด้านการทำงานทางการเมืองนั้น นางนาทีเคยเป็น ส.ว.พัทลุง ในการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2549 แล้วต่อมาได้เข้าร่วมงานการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน เคยได้รับมอบหมายหน้าที่เลขานุการประธานรัฐสภายุคนายชัย ชิดชอบ) ปี 2551-2554 ด้วย โดยนางนาที"ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ครั้งแรกปี 2554
โดยการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ครั้งแรกต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อสมัยแรก วันที่ 3 ก.ค. 2554 นั้น นางนาที แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 90,109,472.45 บาท โดยนายพิพัฒน์ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 214,379,539.25 บาท รวมทรัพย์สิน 304,489,011.70 บาท และมีหนี้สิน จำนวน 2,310,028.19 บาท
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |