ยืดจ่ายตังค์เรือดำนํ้า ‘บิ๊กป้อม’ชี้ช่องทร./กมธ.งบ64ลากโหวต28ส.ค.


เพิ่มเพื่อน    

  “บิ๊กตู่” ย้ำเรือดำน้ำจำเป็นด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ดักทาง กมธ.งบฯ ที่พรรคร่วมฯ นั่งอยู่ วันข้างหน้าเกิดอะไรขึ้นต้องรับผิดชอบด้วยกันหมด เตือนอย่าเอาชนะทางการเมืองจนแผ่นดินลุกเป็นไฟ "บิ๊กป้อม” ลั่นไม่ทบทวน แต่ชะลอการจ่ายเงินอย่างเดียว "จุรินทร์" แจง ปชป.ยังไม่โหวตคว่ำ โยนให้คุยใน กมธ.ก่อน ขณะที่ กมธ.งบประมาณฯ ชุดใหญ่ยังไม่เคาะ ลากเวลาพิจารณาเรื่องอื่นยืดยาว อ้างต้องเรียกกองทัพเรือมาแจงอีกนัด   โหวต 28 ส.ค "โจ้" เย้ยรัฐบาลตกลงกันเองไม่ได้

    เมื่อวันพุธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 7 คนของพรรคลงมติไม่เห็นชอบให้จัดซื้อเรือดำน้ำในชั้นกรรมาธิการว่า เป็นเรื่องของกรรมาธิการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นต่างในจัดการซื้อนั้น ไม่รู้ เป็นเรื่องของพรรคที่จะว่ากันไป แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ กมธ.จะว่าอย่างไร ซึ่งมีหลายพรรคร่วมอยู่ สิ่งสำคัญสุดได้อธิบายไปหมดแล้วถึงความจำเป็น หลักการและเหตุผล งบประมาณที่จัดซื้อก็เป็นของกองทัพเรือ และเราได้แก้ปัญหาปี 63 ไว้แล้วส่วนหนึ่ง ฉะนั้นโครงการอะไรก็ตามที่เป็นโครงการต่อเนื่อง มีความจำเป็นหรือไม่จำเป็นอย่างไร จะได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ กมธ.ที่จะพิจารณา  
    “แต่ในความรู้สึกส่วนตัว ผมคิดว่าอะไรก็ตามที่จะต้องสร้างความมั่นคงปลอดภัยของพวกเรา ตรงนี้ไม่ใช่เพื่อใครทั้งสิ้น แต่เพื่อประเทศไทยและคนไทย ทรัพยากรของชาติของแผ่นดิน จะทำอย่างไร และโลกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ความขัดแย้งอะไรต่างๆ มีเยอะหรือไม่ ไม่ได้มีไว้ไปรบหรือสู้กับใคร แต่เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ คงเข้าใจกันว่ามันเป็นอย่างไร ข้อสำคัญงบประมาณเป็นของกองทัพเรือ เป็นงบของกระทรวงกลาโหม ฉะนั้นสุดแล้วแต่ กมธ.จะพิจารณาออกมาอย่างไร วันหน้าทุกคนก็ต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด หากเกิดอะไรขึ้นคงไม่ใช่เฉพาะผมคนเดียว เป็นเรื่องมติของคนหลายคนหลายพรรคด้วยกัน ก็สุดแล้วแต่"
     ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกระทบความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คิดว่าการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นไปด้วยดี อย่ายกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น เป็นเรื่องภายในที่จะต้องบริหารกันเองให้ได้ พรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยกัน ก็สุดแล้วแต่  ตนไม่พูดตรงนี้ โอเคนะ ประเทศไทยเราผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งเยอะแยะ ข้อสำคัญคือความรักความสามัคคีของคนในชาติ เอานู่นมาตีกันไปมาจนล้มไปหมดทั้งระบบมันได้หรือไม่
    นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้มาดูเรื่องงบประมาณฝ่ายความมั่นคงกันอีกเป็นหลัก เพื่ออะไรก็แล้วแต่ ตนไม่รู้ความตั้งใจของท่าน แต่สิ่งสำคัญที่สุดงบประมาณกระทรวงอื่นท่านก็ตัดของเขาอีก ทั้งที่กระทรวงเหล่านั้นเขาดูแลประชาชนใช่หรือไม่ ไปตัดของเขา ทำไมไม่ให้ความสำคัญบ้าง งบหลายกระทรวงแล้วก็มาจ้องงบนี้เข้าไปด้วย สรุปว่าประเทศเดินหน้าไม่ได้ทั้งหมด แล้วรู้หรือไม่งบประมาณตัดแล้วไปไหนจะเอาไปทำอย่างอื่นได้หรือไม่ กฎหมายเขียนว่าอย่างไร มันก็ตกหมด ไม่ใช่ว่าจะมาอยู่งบกลางได้ หรือไม่ก็ต้องไปทำโครงการของเจ้ากระทรวงเดิมที่ผ่านมานำขึ้นมา  ส่วนเรื่องการทุจริตโปร่งใส ก็ติดตามทำอย่างเต็มที่ ยืนยันไม่มีนโยบายทุจริตกับใครทั้งสิ้น พรรคร่วมรัฐบาล เราก็ประกาศเจตนารมณ์ไปแล้วว่าจะต้องไม่มีการทุจริต จะต้องทำให้ได้
     “ที่ผ่านมาหลายคนมองว่าผมมาแบบนี้ แบบเผด็จการอะไรต่างๆ มันต้องมองย้อนกลับไป ไม่ได้อยากให้ทุกคนถือว่าเป็นบุญคุณ มันไม่ใช่ ผมเห็นชาติเป็นอย่างนี้ไม่ปลอดภัย ผมก็ต้องเข้ามา แล้ววันนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ท่านลืมหมดแล้วหรืออย่างไร ผมเข้ามาด้วยอะไร เพราะอะไร ทำไมถึงต้องเข้ามา อย่าลืมสิ แล้ววันนี้สิ่งที่ผมทำมีความก้าวหน้าบ้างหรือไม่ หลายๆ อย่างดีขึ้นมาโดยตลอด เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคใหม่ 4.0 แล้วใครเป็นคนทำ ผมเป็นคนทำมาทั้งนั้น นโยบาย ยุทธศาสตร์ เดินหน้ามาตามกรอบกติกาจนถึงวันนี้ ถ้าไม่ทำวันนั้น วันนี้ก็ไม่เกิด เพราะมัวสาละวนแก้ปัญหาอยู่อย่างนี้ การเมืองบ้างอะไรบ้าง แต่ตัวผมไม่มีการเมือง แต่ก็ต้องทำงานร่วมกับการเมืองเขา ฉะนั้นก็ต้องไปด้วยกันให้ได้ ประเทศไทยเราเป็นประชาธิปไตยที่มีรูปแบบของเรา เราไม่ได้มีจากที่อื่น ทำไมต้องทำเหมือนคนอื่นเขาหมด แล้วความเป็นไทยของเราหายไปไหน ถ้าจะเอาชนะคะคานทางการเมือง ผมว่าประเทศชาติมันล่มสลาย ถ้ามันเกิดอย่างนั้นจริงก็รอดูก็แล้วกัน แล้วทุกคนจะต้องอยู่บนแผ่นดินนี้ที่ร้อนระอุ ลุกเป็นไฟ ก็ว่ากันไปแล้วกัน ผมก็สุดกำลังสติปัญญาของผมแล้ว ถ้าจะถึงตอนนั้นอีกก็โอเคนะ”
    เมื่อถามว่าดูเหมือนนายกฯ ไม่ค่อยสบาย พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า เหนื่อยสิ ทำงานติดต่อกันหลายวันไม่ได้พัก
ไม่ทบทวนแต่ชะลอจ่ายเงิน
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่สนับสนุนการจัดซื้อเรือดำน้ำในชั้น กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2564 ว่าเป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ อย่ามาถามตน ให้ไปถามพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนของพรรค พปชร.ก็แล้วแต่คนที่เป็นกรรมาธิการ เรื่องซื้อเรือดำน้ำความจริงมันดำเนินการไปหมดแล้วทางด้านเอกสาร สื่อว่าควรซื้อหรือไม่ มันเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้มีการเปิดเผยหนังสือมอบอำนาจของทางรัฐบาลที่ให้ไปเซ็นสัญญาจีทูจี พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เปิดได้อยู่แล้ว เอกสารต่างๆ มีทั้งหมด
    เมื่อถามว่า ไม่จำเป็นต้องทบทวนชะลอเรื่องนี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ชะลอเรื่องการจ่ายเงินอย่างเดียว เพราะเรื่องยุทธศาสตร์กองทัพเรือเขาเตรียมการมานานแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็มีกันทั้งนั้น
    เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะเข้าใจ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องไปถามพรรคประชาธิปัตย์ และมองว่าจะไม่เป็นปัญหาในพรรคร่วม
     นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่โหวตผ่านงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เพราะเป็นเรื่องของ กมธ.งบประมาณฯ
    เมื่อถามว่ามีการหยิบยกเรื่องเรือดำน้ำไปเปรียบเทียบกับกรณีเมื่อปี 2541 สมัยที่นายชวนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการยกเลิกการจัดซื้อเครื่องบิน F18 นายชวนกล่าวว่า ต้องไปศึกษาข้อมูลแต่ละเรื่อง เพราะสมัยนั้นเป็นข้อมูลที่ต่างกัน ซึ่งกรณีนั้นได้ขอให้ทางสหรัฐอเมริกาซื้อแทนเรา และสหรัฐขอให้เราเป็นประเทศแรกและประเทศสุดท้ายที่ทำเช่นนี้ เพราะสมัยนั้นไทยไม่มีเงินจ่าย ค่าเงินเปลี่ยน สมัยนั้นทำสัญญาผูกมัดเอาไว้พอสมควร ซึ่งต่างกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งคนละอย่างคนละแบบ
    “สมัยนั้นสหรัฐยอมยกเลิกสัญญาและไม่คิดค่าปรับ เพราะมีเจตนาจะช่วย รวมทั้งวันสุดท้ายผมได้ขอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ขอคืนมัดจำประมาณ 3,000 ล้านบาท จากราคานับหมื่นล้านบาท ไม่มีเงินจ่ายก็บอกไปตรงๆ ว่าเราไม่มีเงินจ่าย ตอนนั้นเขาช่วยเหลือเราที่เจอปัญหาแบบนี้" นายชวนกล่าว
     นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณี ปชป.มีมติไม่สนับสนุนการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า ในชั้น กมธ.เขาคงต้องหารือกัน และ กมธ.ของ ปชป.ก็จะไปพูดคุยหาข้อยุติในที่ประชุม กมธ.น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด จุดยืนของ ปชป.ที่มีการพูดคุยกันเมื่อวันที่ 25 ส.ค. เห็นว่าเรื่องความมั่นคงและเศรษฐกิจก็มีความสำคัญทั้งสองส่วน จะสร้างสมดุลอย่างไรในภาวะวิกฤติปัจจุบัน นั่นคือสิ่งที่ กมธ.ของพรรคจะไปหารือ ตนขอให้ได้คุยกันก่อน เชื่อว่าน่าจะมีทางออก
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ส.บางคนของพรรคออกมาระบุว่าในการพิจารณาวาระ 3 ปชป.อาจจะโหวตสวน นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะยังอยู่ในวาระ 2 ยังเชื่อว่าจะมีทางออก ส่วนการแถลงมติของพรรคเมื่อวันที่ 25 ส.ค. เป็นสิ่งที่แถลงออกไป ขอนับหนึ่งจากขั้นแรกก่อน ให้ กมธ.ของพรรคไปคุยกับที่ประชุมกมธ. ถ้าได้ข้อยุติ จะทำให้การดำเนินการขั้นต่อไปสะดวกขึ้น เพราะหลังจากพ้นวาระ 2 จะมีการนำไปพิจารณาในที่ประชุมสภาอีกครั้งก่อนเข้าสู่วาระ 3 และเรื่องนี้ตนยังไม่ได้คุยกับนายกฯ  
พท.จี้ ทร.ให้ทบทวน
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกองทัพเรือแถลงตอบโต้พรรคเพื่อไทยที่ตรวจสอบงบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นการหวังผลทางการเมืองให้สะเทือนไปถึงรัฐบาลว่า การแถลงของกองทัพเรือเป็นการนำกองทัพมาเล่นการเมืองแบบเต็มตัวเสียเอง ในประเทศที่กองทัพเป็นทหารอาชีพ มี ระเบียบวินัย จะไม่นำเกียรติภูมิของกองทัพมาแลกกับการแก้ไขวิกฤติศรัทธาของรัฐบาล กองทัพต้องปรับทัศนคติตัวเองให้มากๆ อย่ามองฝ่ายที่เห็นต่างเป็นศัตรู ต้องการโจมตีรัฐบาล เพราะรัฐบาลบริหารผิดพลาดหลายเรื่อง จนทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองลงทุกวันอยู่แล้ว ประชาชนมีสิทธิ์สงสัย ไม่ว่าจะซื้อแบบไหน ซื้อ 2 ลำแถม 1 ลำ หรือซื้อแยก 3 ลำ อย่างไรก็ต้องได้ใช้งบประมาณ 36,000  ล้านบาท ขาดบาทเดียวไม่ได้ เพราะมีกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดที่รับรู้ตกลงส่วนแบ่งรายได้กันไว้แล้วหรือไม่
    "สถานการณ์เศรษฐกิจวิกฤติหนักขนาดนี้ การมีเรือดำน้ำที่จะเข้าประจำการ 1  ลำในปี 2567 ถือว่าควรแก่เหตุ วิกฤติโลกซ้อนวิกฤติประเทศ ควรนำงบประมาณไปใช้ แก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชนจะเกิดประโยชน์มากกว่า ถ้ารัฐบาลยังคงเดินหน้าซื้อเรือดำน้ำ จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ประชาชนจะไม่ทนรัฐบาล และจะออกมาขับไล่รัฐบาลแบบมืดฟ้ามัวดิน" นายอนุสรณ์กล่าว
     นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบังลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ  กล่าวว่า ประชาชนเข้าใจดีในหน้าที่หลักของกองทัพเรือ เพื่อ ป้องกันประเทศทางทะเล สำหรับการจัดหาอาวุธเพื่อป้องกันประเทศทางทะเลนั้น จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในมิติต่างๆ ให้รอบคอบอย่างมีเหตุผลและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง  โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างซบเซามายาวนาน และผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และยังไม่รู้ว่าสถานการณ์นี้จะจบสิ้นเมื่อใด ประชาชนตกอยู่ในสภาพทำมาหากินลำบาก รัฐบาลต้องแบกรับภาระด้านงบประมาณที่ขาดดุลต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี ถ้าเรามีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีเงินไม่จำกัด เราอยากซื้ออะไรมากน้อยแค่ไหนก็ทำได้ แต่ถ้าฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย การใช้จ่ายเงินเกินตัวอาจเป็นอันตรายต่อฐานะทางการเงินของประเทศ การซื้อเรือดำน้ำที่ต้องผูกพันงบประมาณหลายปี ย่อมส่งผลกระทบความต่อการบริหารงบประมาณของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะงบประมาณของกองทัพเรือเอง
    นายไชยากล่าวว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนในครั้งนี้อาจไม่เหมาะที่จะใช้งานในอ่าวไทย เพราะเรือต้องการความลึกที่ ปลอดภัยในระดับ 50 เมตรขึ้นไป ในขณะที่พื้นที่อ่าวไทยมีความความลึกเฉลี่ยประมาณ  44 เมตรเท่านั้น ถ้าจำเป็นที่ต้องจัดหาในอนาคต ควรเป็นเรือที่ปฏิบัติการใต้น้ำได้ทั่วทั้งอ่าวไทยและนอกอ่าวไทย ที่เรียกว่าเรือดำน้ำชายฝั่ง (coastal submarine) และเรือดำน้ำจิ๋ว (midget submarine) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและประหยัดงบประมาณกว่า อีกทั้งในโลกสมัยใหม่การสร้างดุลอำนาจทางการเมืองและทางการทหาร ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครมีอาวุธเหนือกว่าใคร แต่อยู่ที่การสร้างดุลอำนาจบนโต๊ะเจรจาทางการทูตมากกว่า จึงอยากให้รัฐบาลและกองทัพเรือรับฟังด้วยเหตุผลโดยปราศจากการมีอคติกับคนที่เห็นต่างในเรื่องนี้
รมช.คลังชี้ยกเลิกจัดซื้อไม่ได้
    ขณะเดียวกัน  เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมกรรมาธิการงบประมาณ รัฐสภา มีวาระประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 หนึ่งในวาระที่จับตามองคือ ที่ประชุมจะมีท่าทีต่อการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2ลำ มูลค่า 2.25 หมื่นล้านบาท ตามที่กองทัพเรือได้นำเสนอมาอย่างไร โดยจะโหวตเห็นชอบตามความเห็นคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ หรือจะโหวตในทิศทางตรงกันข้าม
    แต่ปรากฏว่าก่อนการประชุม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า วันนี้อนุกรรมาธิการทั้ง 8 คณะได้ทยอยมาชี้แจงรายงานสรุปของแต่ละคณะ ดังนั้นจึงคิดว่าคงไม่สามารถชี้แจงได้ครบทุกคณะ โดยเฉพาะเรื่องเรือดำน้ำ ต้องให้กรรมาธิการพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านไปหารือว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร รวมถึงสอบถามกองทัพเรือด้วยว่า หลังจากงบประมาณปี  2563 ได้อนุมัติการจัดซื้อ ขณะนี้ขั้นตอนการจัดซื้อดำเนินการไปถึงขั้นไหนแล้ว จึงคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน น่าจะสามารถนำกลับมาหารือในกรรมาธิการชุดใหญ่ได้
       นายสันติกล่าวว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำ กมธ.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็น แต่เมื่อมีหลายคนมองว่าขณะนี้ประเทศยังประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้ เศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนตกงานจำนวนหนึ่ง รัฐบาลจึงต้องคุยกับกองทัพเรือว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง อีกทั้งคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านงบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำในปี 2563 ไปแล้ว แต่ในขณะนั้นกองทัพเรือได้คืนงบประมาณมาให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แล้วค่อยตั้งงบประมาณใหม่ให้กองทัพเรือ
     "การยกเลิกการจัดซื้อคงไม่สามารถทำได้ เพราะได้มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว แต่ถ้าจะมีการเลื่อนการจัดซื้อ ต้องดูข้อกฎหมายก่อน ซึ่งภายในเดือนกันยายนนี้ กองทัพเรือต้องลงนามในสัญญาการจัดซื้อ ดังนั้นต้องไปศึกษาข้อกฎหมายอีกครั้ง เรือดำน้ำนอกจากจะเป็นเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพเรือแล้ว ยังใช้เฝ้าระวังทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และอากาศได้ด้วย เพราะเรือถูกออกแบบพิเศษให้อยู่ในน้ำตื้น 60-80 เมตรของอ่าวไทยได้ และยังมีเครื่องป้องกันการจับสัญญาณได้ อีกทั้งขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซียก็มี 6 ลำ, มาเลเซีย 2 ลำ, สิงคโปร์ 4 ลำ, เมียนมา 1 ลำ จึงจำเป็นที่ไทยต้องมีเรือดำน้ำ"
     ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าจะโหวตคว่ำนั้น นายสันติ  กล่าวว่า ไม่คว่ำ จะต้องมีเหตุผล เรื่องของบ้านเมือง จะมาหักแบบไม่มีเหตุผลคงไม่ได้ ทุกอย่างต้องอยู่บนหลักของเหตุผล
     ต่อมานายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ใน กมธ.งบประมาณฯ ปี 2564 ได้ออกมาบอกกับสื่อมวลชนว่า จะเข้าที่ประชุมงบ กมธ.ชุดใหญ่ในเวลา 15.30 น. แต่หากจะมีการขอเลื่อนการพิจารณาออกไป ก็สามารถขอมติในที่ประชุมได้ ส่วนที่นายสันติ จะเลื่อนงบฯ เรือดำน้ำออกไปไม่ใช่เรื่องที่ประธานจะเป็นผู้กำหนด ความจริงวันนี้นัดมาลงมติแล้ว ที่จริงต้องจบตั้งแต่เที่ยงแล้ว แต่มันมีความผิดปกติ ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายค้าน เพราะฝ่ายค้านพร้อมลงมติ ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณเห็นด้วยนั้น ก็เป็นเรื่องของนายกฯ ตนไม่ได้เป็นลูกพรรคท่าน
    ขณะที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ และโฆษก กมธ.งบประมาณฯ เปิดเผยว่า หากพรรคแกนนำรัฐบาลจะยังให้เดินหน้า ทาง กมธ.ของพรรค ปชป. 7 คนจะแสดงจุดยืนของพรรคที่ไม่เห็นด้วย แต่อาจเป็นงดออกเสียงหรือวอล์กเอาต์ไม่เข้าร่วมประชุมก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะโหวตสวน
กมธ.ดึงเกมนัดลงมติ 28 ส.ค.
     ในการประชุมช่วงบ่าย ที่ประชุม กมธ.งบประมาณฯ ที่ยังไม่เข้าวาระการโหวตเรื่องเรือดำน้ำ เนื่องจากมีการพิจารณารายงานของอนุ กมธ.ฝึกอบรมสัมมนา ประชาสัมพันธ์ฯ ในส่วนของงบกองทุนประกันสังคม 15,000 ล้านบาท ตามที่สำนักงานประกันสังคมยื่นอุทธรณ์ โดยใช้เวลาเนิ่นนาน แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากกังวลว่าห ากพิจารณาให้ผ่านงบดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 โดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ปรึกษากรรมาธิการฯ เสนอให้อนุ กมธ.กลับไปทบทวนรายงานใหม่ แล้วนำกลับมารายงานต่อที่ประชุมพร้อมกับ กมธ.ที่เหลือ จากนั้นจึงเสนอญัตติให้ปิดประชุมทันที ทำให้นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ในฐานะรองประธานอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ สวนกลับทันทีว่า การจะขอเลื่อนการพิจารณาต้องมีเหตุผล ปกติการประชุมจะเลิกเวลา 22.00 น. ขณะนี้เพิ่งพิจารณาไปไม่ถึงครึ่ง มีเหตุผลอะไรให้เลื่อน อย่าใช้เสียงข้างมากลากไป ขอเสนอญัตติให้ประชุมต่อ บรรยากาศที่ประชุมเริ่มตึงเครียด ทำให้นายวราเทพ รัตนากร ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ไกล่เกลี่ยว่า ถ้าจะให้เลื่อนการประชุม ควรเลื่อนเฉพาะรายงานของ อนุ กมธ.ที่มีปัญหาอย่างเดียว ไม่ควรใช้วิธีปิดประชุม จากนั้นนายวราเทพขอพักประชุม 10 นาที ในเวลา16.25 น.
    ช่วงพักการประชุม นายยุทธพงศ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถตกลงเรื่องเรือดำน้ำได้ จึงใช้วิธีเลื่อนประชุมออกไป กมธ.ซีกฝ่ายค้านในวันที่ 26 ส.ค. ยืนยันว่าจะต้องมีการลงมติ รัฐบาลจะกลัวอะไร การสั่งเลื่อนประชุมอาจจะมีใบสั่งมาจากเรื่องเรือดำน้ำ อนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ 10 คน พร้อมรอชี้แจงอยู่แล้ว มีเหตุอะไรจะให้เลื่อนประชุมออกไป ไม่ต้องให้กองทัพเรือมาชี้แจง เพราะในชั้นอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีการซักถาม และกองทัพเรือก็ชี้แจงหมดแล้ว ในการประชุมจึงเหลือเพียงแค่ว่าจะโหวตยืนตามเสียงอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ ให้ซื้อเรือดำน้ำหรือจะกลับมติ
    ภายหลังกลับมาประชุม นายสัมพันธ์กล่าวว่า หากที่ประชุมยังจะประชุมต่อ จะไม่ขออยู่ร่วมประชุมด้วย ขอถอนญัตติที่เสนอปิดประชุมเพื่อจะได้ไม่ลงมติ ทำให้ที่ประชุมยังดำเนินการพิจารณารายงานของอนุ กมธ.ฝึกอบรมสัมมนา ประชาสัมพันธ์ฯ แต่เปลี่ยนหัวข้ออุทธรณ์เรื่องประกันสังคมที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ มาเป็นการอุทธรณ์ของมูลนิธิปิดทองหลังพระแทน โดยยังไม่สามารถเข้าสู่วาระการพิจารณารายงานของ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ ที่จะพิจารณาเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ
    ต่อมาเวลา 17.40 น. นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการงบประมาณฯ กล่าวว่า คงพิจารณาเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ทันในวันที่ 26 ส.ค. เนื่องจากมีวาระค้างอยู่จำนวนมาก อีกทั้ง กมธ.หารือนอกรอบแล้วเห็นว่าเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำมีความสำคัญจำเป็น ต้องเรียกกองทัพเรือมาชี้แจงให้ข้อมูลเพิ่มในวันที่ 28 ส.ค. ทั้งประเด็นเศรษฐกิจและความมั่นคง คาดว่าหลังจากที่ได้ซักถามข้อมูลเพิ่มเติมจากกองทัพเรือในวันที่ 28 ส.ค.แล้ว จะลงมติเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"