กมธ.งบฯเด้งเชือกเลื่อนโหวตเรือดำน้ำ หลังบิ๊กตู่-บิ๊กป้อมสั่งเดินหน้า


เพิ่มเพื่อน    

          ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายกับผลการประชุมของ "คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564" เมื่อวันพุธที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถหาข้อยุติการพิจารณาวาระร้อนๆ เรื่อง "โครงการเรือดำน้ำ" จำนวน 2 ลำจากจีน มูลค่ารวม 22,500 ล้านบาทได้ ทำให้สุดท้ายต้องเลื่อนการพิจารณางบโครงการดังกล่าวออกไปเป็นวันศุกร์ที่ 28 ส.ค.นี้

                การเด้งเชือก-ซื้อเวลาการพิจารณาโครงการดังกล่าวของ กมธ.งบฯ ที่เสียงส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว เกิดจากสาเหตุทางการเมืองล้วนๆ ซึ่งมีด้วยกัน 2 ปมสำคัญที่เห็นชัดในทางการเมือง

                1.เกิดจากท่าทีของกรรมาธิการงบฯ จากฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง ที่ก็คือ กมธ.งบฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้านี้ผลการประชุมพรรคเมื่อวันอังคารที่ 25 ส.ค.มีมติให้ กมธ.งบฯ ของประชาธิปัตย์ ลงมติไปในทางไม่เอาด้วยกับโครงการดังกล่าวของกองทัพเรือ ที่หากภาพออกมาเช่นนั้นคือ กมธ.งบฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ออกเสียงไปในทางเดียวกันกับ กมธ.จากซีกรัฐบาลที่กุมเสียงข้างมากใน กมธ.งบฯ ชุดใหญ่ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องการตัดสินใจส่วนตัวและทำตามมติพรรคของ กมธ.งบฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เอาด้วยกับเรือดำน้ำ แต่ก็ทำให้ภาพที่ออกมาในทางการเมือง มันก็คือเอกภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองมีปัญหา ที่ไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพรัฐบาลแน่นอน

               อนึ่ง กมธ.งบฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าไปเป็นกมธ.ฯ ทั้งในโควตารัฐบาลและโควตาพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย 1.นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี 2.ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช 3.นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง 4.นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี 5.นางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 6.ธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี 7.จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ที่เป็นรัฐมนตรีคนเดียวของประชาธิปัตย์ที่เข้าไปเป็น กมธ.งบฯ ในโควตารัฐบาล ส่วนนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เข้าไปเป็นอนุ กมธ.ฯ กรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ที่ลงมติ 5 ต่อ 4 เห็นชอบโครงการเรือดำน้ำในโควตาพรรค

                ส่วนสาเหตุที่ 2 ที่ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาเรื่องเรือดำน้ำออกไป ก็เพราะปัจจัยจากเรื่องของกระแสสังคมที่เวลานี้แบ่งออกเป็นสองขั้ว คือ "สนับสนุน-ต่อต้าน" การจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว ซึ่งแม้หลังการเปิดแถลงข่าวของกองทัพเรือเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จะทำให้หลายคนเริ่มเห็นด้วยกับความจำเป็นทางยุทธศาสตร์การทหารและความมั่นคงทางทะเล ที่ไทยควรมีการจัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีก 2 ลำ แต่ก็พบว่าแรงต้านก็ยังมีอยู่ไม่ใช่น้อย

                จากทั้งสองปัจจัยจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ กมธ.งบฯ จากฝ่ายรัฐบาลต้องพลิกแท็กติกพอสมควรกับการดึงเวลาไม่เร่งพิจารณางบเรือดำน้ำตามคิวเดิมที่วางไว้

                เห็นได้จากที่เดิมคาดกันว่าที่ประชุมใหญ่ กมธ.งบฯ คงพิจารณางบเรือดำน้ำเสร็จตั้งแต่ช่วงเช้าหรือไม่ก็บ่าย แต่พบว่าการประชุมใหญ่ กมธ.งบฯ ผ่านไปจนถึงช่วงเย็น วาระเรื่องเรือดำน้ำก็ยังไม่ถูกนำไปพิจารณาในที่ประชุมใหญ่

                จนมีกระแสข่าวว่า มี กมธ.งบฯ จากฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าเพื่อให้เรื่องนี้ได้ข้อยุติในระดับหนึ่ง ก็ควรต้องมีการเคลียร์กันนอกรอบก่อนระหว่าง กมธ.งบฯ ฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง โดยเฉพาะในระดับคีย์แมนพรรคร่วมรัฐบาล จึงเห็นว่าควรเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไป จน กมธ.งบฯ ที่รัฐบาลคุมเสียงข้างมากอยู่ไม่ยอมนำเรื่องงบเรือดำน้ำมาพิจารณาเสียที หลังการประชุมผ่านไปหลายชั่วโมง โดยใช้วิธีการนำงบของหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสร้อนๆ มาพิจารณาคั่นเวลาไปก่อน

                ถึงขั้นระหว่างการประชุมใหญ่มีการเสนอจาก กมธ.งบฯ ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้ปิดการประชุมเมื่อวันพุธที่ 26 ส.ค.แบบเร็วผิดปกติตั้งแต่ช่วงเย็น จากเดิมที่ กมธ.งบฯ หากเป็นการประชุมช่วงวันปกติจะเลิกประชุมประมาณสี่ทุ่ม

                จนสุดท้ายหลังที่ประชุมยื้อกันหลายชั่วโมง ไม่มีการนำเรื่องโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมาพิจารณา โดยที่ฝ่ายอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 64 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีมติเสียงข้างมากสนับสนุนการจัดซื้อเรือดำน้ำ พบว่าทางอนุ กมธ.ทั้งจากรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ "ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย" ที่เป็นอนุ กมธ.เสียงข้างน้อย ที่คัดค้านการซื้อเรือดำน้ำเต็มสตรีม เตรียมข้อมูลไว้พร้อมแล้ว เพื่อรอแสดงความเห็นเต็มที่ แต่สุดท้ายจนถึงช่วงเย็น หลัง กมธ.ปีกรัฐบาลยังไม่ตกผลึกว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร สุดท้ายที่ประชุมเลยเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นศุกร์ที่ 28 ส.ค.แทน ที่ก็ไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

                ทั้งนี้ ระหว่างที่การประชุมใหญ่ของ กมธ.งบฯ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าวันพุธที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงเช้า แกนนำรัฐบาลแสดงท่าทีสนับสนุนการจัดซื้อเรือดำน้ำอย่างเต็มที่

                ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม" ที่ย้ำว่า งบประมาณที่จัดซื้อเรือดำน้ำเป็นของกองทัพเรือ โครงการอะไรก็ตามที่เป็นโครงการต่อเนื่อง มีความจำเป็นหรือไม่จำเป็นอย่างไร จะได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคณะ กมธ.งบฯ จะพิจารณา แต่ในความรู้สึกส่วนตัวคิดว่าอะไรก็ตามที่จะต้องสร้างความมั่นคงปลอดภัยของพวกเรา ตรงนี้ไม่ใช่เพื่อใครทั้งสิ้น แต่เพื่อประเทศไทยและคนไทย

                "โลกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ความขัดแย้งอะไรต่างๆ มีเยอะหรือไม่ ไม่ได้มีไว้ไปรบหรือสู้กับใคร แต่เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ วันหน้าทุกคนก็ต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด หากเกิดอะไรขึ้นคงไม่ใช่เฉพาะผมคนเดียว เป็นเรื่องมติของคนหลายคน หลายพรรคด้วยกัน" พลเอกประยุทธ์แสดงท่าทีไว้ชัดเจนแบบไม่ต้องตีความใดๆ

                ขณะที่ "บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี-หน.พรรคพลังประชารัฐ" ที่ผลักดันให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำมาตั้งแต่สมัยเป็น รมว.กลาโหม ย้ำว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ยุทธศาสตร์กองทัพเรือเขาเตรียมการมานานแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็มีกันทั้งสิ้น

      เส้นทางเรือดำน้ำจากจีนที่ซื้อเพิ่มอีก 2 ลำ อันเป็นการจัดซื้อจัดจ้างการต่อเรือเรือดำน้ำชั้น S26T Yuan Class เรือดำน้ำพลังดีเซลไฟฟ้า ซึ่งมีจุดเด่นคือระบบ AIP (Air Independent Propulsion) ที่เป็นระบบขับเคลื่อนเรือโดยไม่ใช้อากาศภายนอก ทำให้เรือสามารถปฏิบัติการอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 21 วัน โดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมารับออกซิเจนธรรมชาติเหนือน่านน้ำ โดยมีความเร็วสูงสุด 20 นอต และตัวเรือ สามารถบรรทุกจรวดตอร์ปิโดได้ 16 ลูก บรรทุกทุ่นระเบิดได้ 30 ลูก

            สุดท้ายแล้ว เรือดำน้ำทั้งสองลำจะได้แล่นออกจากจีนเข้ามายังประเทศไทยหรือไม่ ตามข้อตกลงที่กองทัพเรือทำไว้ก่อนหน้านี้ หรือจะต้องถูกชะลอไว้ก่อน รอลุ้นกันอีกรอบศุกร์ 28 ส.ค.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"