ประธาน กมธ.งบฯ ส่งซิกเลื่อนโหวต 'เรือดำน้ำ' จับตาท่าที ปชป.ส่อพริ้ว-วอล์คเอ้าท์


เพิ่มเพื่อน    

26 ส.ค.63 - ที่ห้องประชุมกรรมาธิการงบประมาณ รัฐสภา มีวาระประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2564 หนึ่งในวาระที่จับตามองคือ ที่ประชุมจะมีท่าทีต่อการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 2.25 หมื่นล้านบาท ตามที่กองทัพเรือได้นำเสนอมาอย่างไร โดยจะโหวตเห็นชอบ ตามความเห็น คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ หรือ จะโหวตในทิศทางตรงกันข้าม

แต่ปรากฎว่าก่อนการประชุม นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า วันนี้อนุกรรมาธิการทั้ง 8 คณะ ได้ทยอยมาขี้แจงรายงานสรุปของแต่ละคณะ ดังนั้นจึงคิดว่าคงไม่สามารถชี้แจงได้ครบทุกคณะ โดยเฉพาะเรื่องเรือดำน้ำ ต้องให้กรรมาธิการพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านไปหารือว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร รวมถึงสอบถามกองทัพเรือด้วยว่า หลังจากงบประมาณปี 2563 ได้อนุมัติการจัดซื้อ ขณะนี้ขั้นตอนการจัดซื้อดำเนินการไปถึงขั้นไหนแล้ว จึงคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน น่าจะสามารถนำกลับมาหารือในกรรมาธิการชุดใหญ่ได้

การจัดซื้อเรือดำน้ำ กรรมาธิการทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่า มีความจำเป็น แต่เมื่อมีหลายคนมองว่า ขณะนี้ประเทศยังประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนตกงานจำนวนหนึ่ง รัฐบาลจึงต้องคุยกับกองทัพเรือว่า จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง อีกทั้ง คณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านงบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำในปี 2563 ไปแล้ว แต่ในขณะนั้น กองทัพเรือได้คืนงบประมาณมาให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แล้วค่อยตั้งงบประมาณใหม่ให้กองทัพเรือ

การยกเลิกการจัดซื้อคงไม่สามารถทำได้ เพราะได้มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว แต่ถ้าจะมีการเลื่อนการจัดซื้อ ต้องดูข้อกฎหมายก่อน ซึ่งภายในเดือนกันยายนนี้ กองทัพเรือต้องลงนามในสัญญาการจัดซื้อ ดังนั้นจะเลื่อนการเซ็นสัญญาได้หรือไม่ต้องไปศึกษาข้อกฎหมายอีกครั้ง เรือดำน้ำนอกจากจะเป็นเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพเรือแล้ว ยังใช้เฝ้าระวังทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และอากาศได้ด้วย เพราะเรือถูกออกแบบพิเศษให้อยู่ในน้ำตื้น 60-80 เมตรของอ่าวไทยได้ และยังมีเครื่องป้องกันการจับสัญญาณได้ อีกทั้งขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซียก็มี 6 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ สิงคโปร์ 4 เมียนมา 1 ลำ จึงจำเป็นที่ไทยต้องมีเรือดำน้ำ

ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าจะโหวตคว่ำนั้น นายสันติกล่าวว่า ไม่คว่ำ จะต้องมีเหตุผลเรื่องของบ้านเมือง จะมาหักแบบไม่มีเหตุผลคงไม่ได้ ทุกอย่างต้องอยู่บนหลักของเหตุผล

ต่อมา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสาร พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการ(กมธ.)ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ได้ออกมาบอกกับสื่อมวลชนว่า จะเข้าที่ประชุมงบกมธ.ชุดใหญ่ในเวลา 15.30น. แต่หากจะมีการขอเลื่อนการพิจารณาขอเลื่อนออกไปก็สามารถขอมติในที่ประชุมได้ ส่วนที่นายสันติ พร้อมพันธ์ ประธานกมธ.งบฯ จะเลื่อนงบฯเรือดำน้ำออกไปไม่ใช่เรื่องที่ประธานจะเป็นผู้กำหนด ความจริงวันนี้นัดมาลงมติแล้ว ที่จริงต้องจบตั้งแต่เที่ยงแล้วแต่มันมีความผิดปกติ ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายค้าน เพราะฝ่ายค้านพร้อมลงมติ

ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณเห็นด้วยนั้น ก็เป็นเรื่องของนายกฯ ตนไม่ได้เป็นลูกพรรคท่าน

ขณะที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ และโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพรบ.งบประมาณ2564  ออกมาเปิดเผยว่า หากพรรคแกนนำรัฐบาลจะยังให้เดินหน้า ทางกมธ.ของพรรคประชาธิปัตย์ 7 คน จะแสดงจุดยืนของพรรคที่ไม่เห็นด้วย แต่อาจเป็นงดออกเสียงหรือ วอล์คเอาท์ไม่เข้าร่วมประชุมก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะโหวตสวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"