25 ส.ค. 2563 นายปรีดี ดาวฉาย รมว.การคลัง ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Navigating through global uncertainties: Thailand's opportunities for transformation" ในงาน "Thailand Focus 2020 : Resiliency to Move Forward" ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเลวร้ายที่สุดที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2563 เป็นช่วงที่มีการเติบโตต่ำที่สุด และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนอีกครั้งในปี 2564 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 4-5%
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังกล่าว ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี และด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมาแม้ประสบปัญหา แต่ก็ไม่หดตัวมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นการฟื้นตัวกลับมาอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง
“การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงอยู่ ผมเชื่อว่าการควบคุมวิกฤตการระบาดนั้น ผู้สร้างนโยบายระดับประเทศจะต้องมองไปข้างหน้า รวมทั้งประเมินสถานการณ์ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครสามารถจะยืนยันได้ว่าวัคซีนจะสามารถนำออกมาใช้ได้เมื่อใด ดังนั้น จนกว่าจะถึงวันนั้น เศรษฐกิจโลกก็น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น เราจึงได้แต่ยอมรับและเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงที่มองไม่เห็น" นายปรีดี กล่าว
นายปรีดี กล่าวอีกว่า หัวใจสำคัญการเติบโตและฟื้นตัวอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจก็คือการคงไว้ซึ่งวินัยทางการเงินการคลัง การเผชิญหน้ากับโควิด -19 ทำให้งบประมาณที่จะใช้จ่ายมีข้อจำกัด จึงต้องใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบด้านความยั่งยืนทางด้านการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แม้จะมีการจัดสรรงบประมาณด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจสูงเป็นประวัติการณ์ แต่สถานะการเงินการคลังของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง ขณะนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำกว่า 60% แม้จะมีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทก็ตาม
“แม้จะมีข้อกำจัดด้านงบประมาณ แต่ก็สามารถที่จะใช้กลยุทธ์ในการกู้ยืมภาครัฐมาเป็นทางออกได้ เราอาจจะต้องหันไปพึ่งการกู้ยืมเมื่อจำเป็น อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือการมีมาตรการเศรษฐกิจโดยไม่สละซึ่งวินัยทางการเงินการคลัง เพื่อที่จะทำเช่นนั้น เราจำเป็นจะต้องทำให้แน่ใจว่ามาตรการต่าง ๆ นั้นสามารถส่งผ่านไปยังโครงการที่มีประสิทธิภาพและเป็นโครงการที่เราต้องการอย่างแท้จริง รวมทั้งส่งความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายได้อย่างแท้จริง” นายปรีดี กล่าว
สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ ภาครัฐจะเร่งผลักดันนโยบายต่าง ๆออกมาอย่างชัดเจน และเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณมากขึ้น เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเป็นปัจจัยหลักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับการส่งเสริมภาคท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวขึ้น โดยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมากจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่หายไป ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กลับมา
ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ และทำให้ผู้ประกอบการจากต่างชาติที่มองการลงทุนในประเทศไทยมีความมั่นใจในศักยภาพของการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รองรับการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายที่เน้นการสร้างประสิทธิภาพและยกระดับให้ประเทศไทยก้าวหน้ามากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน ทำให้ประเทศมีความน่าสนใจที่จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ในส่วนผลกระทบของโควิด-19 ในภาคสังคม เศรษฐกิจ และกลุ่มที่ความเปราะบางเป็นหัวใจสำคัญของการกำหนดนโยบายของภาครัฐและผู้มีส่วนร่วมเพื่อให้สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตและรับประกันว่าไม่มีผู้ใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และเราจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |