ครม.ไฟเขียวงบกลาง1พันล. หนุนจุฬาฯผลิตวัคซีนโควิด


เพิ่มเพื่อน    

 ครม.อนุมัติงบกลาง 1,000 ล้าน หนุนจุฬาฯ ผลิตวัคซีนโควิด-19 เผยอีกช่องทางอาจร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะที่ ศบค.เผยพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 5 รายกลับจากต่างประเทศ ตามคาดไฟเขียวขยายระยะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จังหวัดระยอง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่า ครม.อนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,000 ล้านบาท ในลักษณะเงินอุดหนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศ ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตวัคซีนโควิด-19 และการสร้างขีดความสามารถของประเทศโดยการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
    ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังพบอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 24 ส.ค.2563 มีผู้ป่วยยืนยันกว่า 23.44 ล้านคน เสียชีวิต 800,000 คน ทั้งนี้ โรคโควิด-19 เริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.2563 มีผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้สรุปประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2563 ที่ -5.3% และสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1.11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
    ภาคธุรกิจประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการ และลดจำนวนพนักงาน ส่งผลให้มีประชาชนชั้นกลางและประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมากได้รับผลกระทบต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิต แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างดียิ่ง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดของโรคได้ในระลอกที่ 2 เนื่องด้วยยังมีผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลก หากสถานการณ์การระบาดไม่สามารถยุติได้ในระยะเวลาอันใกล้ การเปิดประเทศเพื่อเดินหน้าสู่การดำเนินชีวิต New Normal คู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเป็นไปได้ยาก และรัฐบาลยังจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อประคองกิจการต่างๆ ในประเทศให้สามารถดำเนินการต่อไปได้
    "ดังนั้น วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพ และเป็นยุทธปัจจัยที่มีประสิทธิภาพสูงที่จะเป็นคำตอบในการป้องกันควบคุมโรค และเป็นความหวังของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การเร่งรัดให้มีวัคซีนใช้ในประเทศเร็วขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ"
    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับแผน Blueprint เพื่อการเข้าถึงวัดซีนป้องกันโควิด-19 ของประชาชนไทย ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ซึ่งถือเป็นกรอบนโยบายในการบูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ การนำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดสอบในประเทศไทย และขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลาง และอีกแนวทางคือ การพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะกลางและระยะยาว ในการบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงวัคซีนให้ทันท่วงที และสร้างขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนาและผลิตวัคซีน เพื่อให้ประชาชนไทยได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด
    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ให้การสนับสนุนและสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยพัฒนา และหน่วยผลิตวัคซีนในประเทศ ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตวัคซีนใช้ได้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ นอกจากนี้ยังได้เจรจาสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งจากประเทศจีนและยุโรป ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตที่มีแนวโน้มจะได้วัคซีนมาใช้ภายในต้นปี 2564 มีความเป็นไปได้ในทางเลือกที่รัฐบาลควรลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวข้ามสถานการณ์การระบาดได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากการมีวัคซีนใช้เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 250,000 ล้านบาท และยังสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนไทยด้วย
    ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณเงินกู้สนับสนุน 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่เราสามารถดำเนินการเองได้ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กำลังดำเนินการผลิต อีกช่องทางหนึ่งคือ ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยการทำข้อตกลงเพื่อให้เขาดำเนินการจัดสรรโควตาเมื่อได้วัคซีนต้นแบบแล้ว อาจจะมีเงื่อนไขว่าให้เขาจำหน่ายให้เราในราคาต้นทุน และอีกส่วนหนึ่งคือ ไทยผลิตเอง โดยใช้งบประมาณไม่มาก ซึ่งมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ส่งเสริม
    ทั้งนี้ โดยรวมคือใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทที่ ครม.ได้อนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวข้างต้นสามารถดำเนินการไปได้ ส่วนไหนสามารถทำได้ก่อนให้ดำเนินการ ซึ่งในส่วนของไทยที่จะผลิตเองนั้นจะทำให้มีวัคซีนได้เร็วสุดปลายปีนี้ ช้าสุดกลางปี 2564 และในส่วนที่จะร่วมกับต่างประเทศเชื่อว่าจะดำเนินการได้เร็วเช่นกัน
    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.) สัญจร ว่า ครม.มีมติรับทราบและอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-30 ก.ย.นี้
    วันเดียวกัน ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 5 ราย ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,402 ราย ยอดหายป่วยสะสม 3,229 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 115 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายที่ 1 เดินทางมาจากประเทศโอมาน เป็นหญิงไทยอายุ 26 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 17 ส.ค. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 3 ราย เข้าพักสถานที่กักกันของรัฐที่ จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ
    รายที่ 2 ผู้ป่วยเดินทางกลับจากตุรกี เป็นหญิงไทยอายุ 47 ปี อาชีพพนักงานสปา เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 19 ส.ค. เข้าพักสถานที่กักกันของรัฐที่กรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยรายที่ 3-4 กลับจากอินโดนีเซีย เป็นนักศึกษาชายไทยอายุ 27 ปี และหญิงไทยอายุ 20 ปี เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 20 ส.ค. เข้าพักสถานที่กักกันของรัฐที่ จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 23 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการทั้ง 2 ราย และรายที่ 5 กลับจากสหรัฐอเมริกา เป็นชายไทยอายุ 46 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 23 ส.ค. โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่าให้ประวัติว่าเคยป่วยเป็นโควิด-19 จึงตรวจและพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ
    สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 23,809,241 ราย รักษาหายแล้ว 16,359,043 ราย และเสียชีวิต 817,005 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ วันที่ 25 ส.ค. จำนวน 386 คน จากอิสราเอล ภูฏาน และสหรัฐอเมริกา และในวันที่ 26 ส.ค. จำนวน 564 คน จากไต้หวัน กัมพูชา เอธิโอเปีย และญี่ปุ่น.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"