“ประยุทธ์” ย้ำไม่ขัดข้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พปชร.เคาะเวลาทำงาน ส.ส.ร. 240 วัน จ่อชงสภา 1 ก.ย.นี้ พรรคฝ่ายค้านเละเป็นโจ๊ก “เพื่อไทย” ลงมติ 99.99% ไม่ร่วมสังฆกรรมก้าวไกลปิดสวิตช์ ส.ว. “วัฒนา” เดือดซัด กก.เลิกพูดเอาหล่อเหยียบหัวเพื่อน “ประเดิมชัย” อัดรังสิมันต์กรณียื่นอภิปราย ม.152 ข้องใจรับงานใครมา แฉกลับมีซูเปอร์ดีล เตือนรักษาน้ำใจกันบ้างก่อนเหือดแห้งและหมดไปในเร็วๆ นี้
เมื่อวันอังคารที่ 25 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ถึงท่าทีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลข้อ 12 อยู่แล้ว ซึ่งสนับสนุนให้ศึกษาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ก็จะเสนอร่างแต่ละพรรคไป เพราะเป็นแนวทางที่ทุกคนมีสิทธิ์เสนอได้ ดังนั้นตรงนี้ขอให้รับฟังในขั้นตอนในการพิจารณาต่อไป ซึ่งไม่ได้มีส่วนขัดข้องอะไรตรงนี้
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงความคืบหน้าประเด็นโครงสร้างของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่าร่างเสร็จแล้ว 90% คาดว่าจะสามารถเสนอญัตติต่อสภาได้ในวันที่ 1 ก.ย. นี้ เบื้องต้นกำหนดให้ ส.ส.ร. มีเวลาในการทำงานพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน ไม่รวมเวลาทำประชามติ และยืนยันจะไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เด็ดขาด ส่วนรายละเอียดว่าจะกำหนดสัดส่วน ส.ส.ร. อย่างไรนั้น ฝ่ายรัฐบาลยังเปิดกว้างให้สภาเป็นผู้กำหนด และในวันที่ 26 ส.ค. จะนัดหารือกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับ ส.ว.ด้วย
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค ที่มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคเป็นประธาน ได้จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางออก ทางรอด ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกำหนดประเด็น ข้อเสนอและรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค กล่าวว่า การพิจารณารัฐธรรมนูญว่าจะเหมาะสมเพียงใด ควรแก่การรับหรือไม่นั้น ควรมอง 3 ส่วน คือ 1.ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2.กระบวนการจัดทำ และ 3.เนื้อหาที่ปรากฏ ซึ่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 มีอย่างน้อย 7 ประเด็นที่น่าจะนำไปสู่การพิจารณาดังกล่าว คือ 1.มีเนื้อหาที่สร้างความยุ่งยาก อาทิ การประกาศผลนับคะแนนช้า ความไม่ชัดเจนในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ฯลฯ 2.เนื้อหาเป็นการทำลายความรู้สึกของนักประชาธิปไตย ที่มีความเชื่อว่าประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง 3.ให้ความสำคัญกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะทำให้เกิดการประมูลตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง 4.การที่ระบุว่าคะแนนเสียงไม่ตกน้ำก่อให้เกิดอันตราย ทำให้ระบบการจัดสรรปันส่วนผสมนี้ซื้อเสียงแล้วไม่สูญ 5.ระบบไพรมารีโหวตที่มีการกำหนดค่าสมาชิกพรรค 6.ความยากในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนเลยที่บอกว่าแม้ได้รับคะแนนเสียงจากฝ่ายข้างมากเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขแล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนเห็นชอบด้วยจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง และยังเขียนอีกว่า ยังต้องได้รับเสียงเห็นชอบอย่างน้อย 20% ในจำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล หรือไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐสภาด้วย
“หลักอย่างนี้มันไม่ได้เดินตามหลักของประชาธิปไตยที่ว่าใช้เสียงข้างมากเป็นหลักเลย มันกลายเป็นว่าเสียงข้างมากจะมากเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเสียงข้างน้อยที่ว่านี้ไม่เห็นชอบด้วย”นายบัญญัติกล่าว และว่า 7 เนื้อหาในบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ และอื่นๆ ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าไกลประชาธิปไตยมาก
ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเสนอให้พรรคเห็นชอบนั้นมี 3 ประเด็น คือ 1.ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 2.ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มหมวดการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ 3.ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 272 ซึ่งญัตติทั้ง 3 ฉบับนี้มีแนวโน้มว่าวิปรัฐบาลเห็นชอบ และสนับสนุนใน 2 เรื่องแรก ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 ที่ลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ นั้นคงไม่เห็นชอบจากวิปรัฐบาลแน่นอน ดังนั้นจะขอใช้สิทธิ์ความเป็น ส.ส.ของพรรคเสนอให้ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคมีมติมอบหมายให้วิปของพรรคไปเจรจาขอเอกสิทธิ์ต่อวิปรัฐบาล และจะขอให้ที่ประชุม ส.ส.พรรคพิจารณาเห็นชอบต่อญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 272 เพื่อจะเสนอเป็นญัตติในนามพรรคประชาธิปัตย์
"แม้ว่าพรรคมีเสียงสนับสนุนเพียง 52 คนก็ตาม แต่พร้อมเดินหน้าขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่เห็นชอบกับการแก้ไขประเด็นนี้ ลงชื่อให้ครบจำนวน 100 คน เพื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป" นายเทพไทกล่าว
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เป็นเอกภาพว่า ไม่ว่าจะเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายใด ต่างมีหลักการตรงกันคือการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพียงแต่มีความแตกต่างในรายละเอียด ซึ่งคิดว่าสามารถพูดคุยกันในสภาได้ โดยพรรคจะมีการประชุมพรรคและมีมติในเรื่องนี้
99.99%เมินร่วมก้าวไกล
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (กก.) กล่าวถึงผลประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า พรรคได้ขอความชัดเจนจากพรรค พท. ในการยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 272 พรรคเพื่อไทยจะมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร เพราะพรรคก้าวไกลได้พูดคุยเรื่องนี้กับพรรคเพื่อไทยหลายครั้งแต่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งพรรค พท.ระบุว่าต้องหารือกันในพรรคแต่มีความชัดเจนในวันที่ 25 ส.ค.นี้
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. แถลงผลประชุมพรรคว่า ที่ประชุมพรรคได้มีการขอมติ ส.ส.ต่อประเด็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 272 ร่วมกับพรรคก้าวไกล ซึ่งที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เห็นชอบกับการแก้ไขมาตรา 256 คือการตั้ง ส.ส.ร. ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางมาตรา 272 ลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ น่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกช่วงเวลา
“ก่อนลงมติที่ประชุมได้เปิดให้ ส.ส.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และมีการเปิดโหวตโดย 1.ไม่ร่วมลงชื่อ 2.ร่วมลงชื่อ และ 3. ฟรีโหวต ผลสรุปการลงมติคือ 99.99% ไม่เข้าร่วมลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มีเพียง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ที่เห็นว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าแนวทางของพรรคคือการเปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยการเปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ตามมาตรา 256 ส่วนมาตรา 272 วันนี้ยังไม่ใช่เวลาดำเนินการ แต่ก็ไม่ได้ปิดทางที่จะพูดคุยร่วมกันในอนาคต”นายอนุสรณ์กล่าว
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตนเองและพรรคเคยประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น ระหว่างรณรงค์ประชามติถูก คสช.ส่งคนมาอุ้มตัวไปควบคุมหลายครั้ง เพราะประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังถูกดำเนินคดีทั้งที่ศาลอาญาและศาลทหาร เมื่อมีโอกาสพรรคจึงต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอาประชาธิปไตยคืนให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด แต่เนื่องจากการแก้ไขต้องได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาหรือ 375 เสียง โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.ลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 84 คน ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ด้วย หากเสนอเงื่อนไขที่เสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ยกเว้นไม่ต้องการแก้
“ที่หลายคนประณามว่าพรรคเพื่อไทยไม่สู้ ผมอยากให้คนที่พูดลองถามตัวเองว่าหากพรรคยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบที่หลายคนต้องการจะมี ส.ส.พรรครัฐบาลและ ส.ว.มาโหวตสนับสนุนหรือไม่ นั่นคือเราจะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และความเสียหายจะตกกับประชาชน การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องสู้หรือไม่สู้ แต่ต้องหวังผลให้เกิดความสำเร็จเพื่อเอาอำนาจคืนให้กับประชาชนให้มากที่สุด เลิกพูดเอาหล่อเหยียบหัวเพื่อนสร้างกระแสตีกินไปวันๆ น่ารำคาญและน่ารังเกียจ” นายวัฒนาโพสต์ทิ้งท้าย
วันเดียวกัน นายสุทินยังกล่าวถึงการยื่นญัตติเปิดอภิปรายเป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่าการยื่นญัตติครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ เพราะหากไม่เปิดอภิปรายในสมัยประชุมนี้ ก็อาจไม่ทันกับสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งพรรคก้าวไกลเขาเป็นวัยรุ่นเราเข้าใจดี ยืนยันว่าทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไม่ได้แตกกัน ยังทำงานด้วยกันได้เป็นอย่างดี เพียงแต่บางครั้งพูดคุยกันน้อย ส่วนการทำงานทุกอย่างยังเป็นไปตามปกติ
ซัดกก.แอบทำซูเปอร์ดีล
นายรังสิมันต์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ติติงการยื่นญัตติครั้งนี้ว่าไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นโอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลใช้ฟอกตัวเอง เป็นการช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาล กล่าวถึงผลประชุมพรรคฝ่ายค้านว่า พรรคเพื่อไทยได้อธิบายเหตุผลดังกล่าวว่าการยื่นอภิปรายมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์แล้ว เพราะหากไม่มีการยื่นอภิปรายทั่วไปในครั้งนี้ ก็จะไม่มีโอกาสยื่นอีกได้แล้ว ซึ่งเพื่อไทยมองว่าการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมหน้า จะทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อมูลต่างๆ ที่พร้อมมากกว่า แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าเพราะเหตุใดการยื่นอภิปรายทั่วไปจึงไม่ได้มีการแจ้งพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่นทราบแต่ประการใด
นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวโต้นายรังสิมันต์ในประเด็นนี้ว่า อยากถามนายรังสิมันต์ สิ่งที่พูดออกมาเพื่อต้องการให้คนเกลียดชังพรรคเพื่อไทยหรือต้องการอะไรกันแน่ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการนั้นเป็นไปตามมติพรรค และญัตติที่ยื่นก็เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ทุกพรรค ที่สามารถร่วมอภิปรายได้อยู่แล้ว หากพรรคก้าวไกลต้องการยื่นญัตติตามมาตรา 151 สามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน การออกมาโวยวายหาเรื่องพรรคครั้งนี้ อยากถามกลับไปว่าไปรับงานใครมาหรือเปล่า เพราะหากนายรังสิมันต์อยากโวยวาย ควรโวยกับพรรคตัวเองเท่านั้น เช่น ใครแอบไปเปิดซูเปอร์ดีลกับใคร เพื่อหลอกเพื่อนและเอาตัวรอด แล้วใครได้ประโยชน์บ้าง เรื่องแบบนี้ต่างหากที่ต้องโวยวายกันเอง ไม่ใช่มายุ่งกับสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของพรรคอื่น
“ผมอยากถามว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยปรึกษาไปหลายเรื่อง พรรคก้าวไกลเคยฟังหรือไม่ เคยให้เกียรติพรรคเพื่อไทยบ้างหรือไม่ เช่นยื่นญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันแล้ว เหลือเพียง 30 นาทีก่อนยื่น พรรคก้าวไกลขอถอนชื่อออกไปทั้งหมด ทั้งที่เราประชุมหารือและตกผลึกกันด้วยเหตุด้วยผลไปแล้ว อย่างนี้หรือคือสิ่งที่เพื่อนทำกับเพื่อน ปล่อยให้เพื่อนคนอื่นต้องกลืนเลือด แต่ตัวเองตีกินทางการเมืองยืนหล่ออยู่คนเดียว” นายประเดิมชัยกล่าว
นายประเดิมชัยกล่าวอีกว่า หากเรายื่นญัตติตามมาตรา 151เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล ถามว่ามือในสภาเราจะชนะเขาหรือไม่ เพราะมือในสภาเราน้อยลงมากหลังจากอดีต ส.ส.บางพรรคย้ายพรรคไปเป็นสิบๆ คน จึงทำให้กำลังของส่วนรวมอ่อนแอไปมาก เพราะนักการเมืองที่ไร้อุดมการณ์บางพรรคขอร้องว่า จากนี้ไปอย่าหาเสียงแบบทำลายมิตร อย่าใช้วิธีเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น พรรคเพื่อไทยเคารพและให้เกียรติทุกพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองบางพรรคทำลายจิตใจพวกเรามามาก อย่าทำให้เราต้องลุกขึ้นมาสู้กับมิตรเลย เพราะศัตรูที่แท้จริงของเราไม่ใช่คุณ ศัตรูของเราคือเผด็จการ และความเดือดร้อนของประชาชน อย่าใช้วาทกรรมทำลายกัน โปรดรักษาน้ำใจกันบ้าง มิเช่นนั้นน้ำใจของเราที่มีต่อคุณอาจเหือดแห้งและหมดไปในเร็วๆ นี้ก็ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |