ย้อนดูคดี “คนอยากเลือกตั้ง” ข้อหายุยงปลุกปั่น ก่อนดูปัจจุบัน “คณะประชาชนปลดแอก”


เพิ่มเพื่อน    

     ขบวนการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ตั้งแต่สมัยที่เป็นรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกระทั่งเป็นรัฐบาลในนามพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าแรกเริ่มจะมีจำนวนไม่มาก ต่อมานานวันปัญหาที่สะสมทำให้จำนวนของผู้ชุมนุมเริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับดังที่ปรากฏ รวมถึงตัวแกนนำและผู้ปราศรัย ซึ่งมีทั้งคนหน้าเดิมและคนหน้าใหม่เข้ามาเสริมทัพ เปลี่ยนชื่อกลุ่มนำการชุมนุมไปหลายชื่อ และยังมีชื่อกลุ่มย่อยอื่นๆ ตามมหาวิทยาลัยอีกมากมาย แต่สิ่งที่คงเดิมตั้งแต่สมัยการชุมนุมไล่รัฐบาลในนามกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” จนมาถึง “คณะประชาชนปลดแอก” คือการที่แกนนำและผู้ปราศรัยถูกตั้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตาม ป.อาญา มาตรา 116 จากเจ้าหน้าที่รัฐ

            ในสมัย คสช. เมื่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดชุมนุมครั้งใด สิ่งที่ได้ตามมาคือคดีอยู่เสมอไป อย่างข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หรืออาจรวมถึงข้อหาผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่ง 2 ข้อหานี้มักจะถูกตั้งให้ทั้งตัวแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม ในส่วนของผู้ร่วมชุมนุมเวลานั้นยังมีจำนวนไม่มาก จึงง่ายต่อการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทราบชื่อแล้วนำมาสู่การตั้งข้อหา ส่งสำนวนให้อัยการและส่งฟ้องต่อศาลในที่สุด คดีของผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจำนวนมากถูกฟ้องไปยังศาลแขวงดุสิต และต่อมาศาลได้พิพากษาไปแล้วบางคดี เช่น คดีผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุด ARMY57 จำนวน 44 คน กรณีชุมนุมเดินขบวนไปหน้ากองทัพบก พิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2562 ยกฟ้องผู้ชุมนุม ยกเว้น “ชลธิชา แจ้งเร็ว” ผู้จัดการชุมนุมที่ถูกปรับเพียง 1,000 บาท

            ส่วนของแกนนำ จะถูกตั้งข้อหาตาม ป.อาญา มาตรา 116 “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าข้อหายุยงปลุกปั่น มีอัตราโทษหนักทำให้ถูกนำมาฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งต่อมาศาลก็ได้พิพากษาไปแล้วบางคดีเช่นกัน

            คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้งที่พิพากษาแล้ว คือ กรณีชุมนุมบนถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2561 ชุด RDN50 พิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2562 ยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน ซึ่งศาลได้พิเคราะห์เหตุผลในการชุมนุมของพวกจำเลย ที่มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง เป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พวกจำเลยได้ปราศรัยกับผู้ชุมนุมจะไม่ขัดขวางละเมิดสิทธิของผู้อื่น ใช้สันติวิธี ไม่หยาบคาย ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องการให้ชุมนุมตามกฎหมาย มีจุดประสงค์ต้องการให้จัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2561 ให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ไม่เลื่อนการเลือกตั้ง เพราะผู้ชุมนุมไม่เชื่อคำพูดของหัวหน้า คสช. หลังมีการเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง

            ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความถึงผู้ชุมนุมว่า เดินทางมาเองตามการเชิญชวนเปิดเผย ไม่ได้จัดตั้ง ใช้ความสงบไม่รุนแรง ไม่มีอาวุธ ไม่มีการยุยงให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือทำลายทรัพย์สิน จึงเห็นว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ขณะนั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับแล้ว แต่ คสช.ยังมีอำนาจปกครอง และเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง พวกจำเลยมองว่ามีการยืดเวลาการเลือกตั้งออกไป เนื้อหาหลักจึงเป็นการเรียกร้องจัดการเลือกตั้ง ส่วนที่จำเลยได้พูดถึง พล.อ.ประวิตร เกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องยืมนาฬิกาเพื่อน และการตรวจสอบการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ ก็ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนรับทราบทั่วไปและวิจารณ์ติชมได้โดยสุจริต

                “จึงเห็นว่าจำเลยทั้งหกชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2561 ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และหลังมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว พวกจำเลยก็ไม่เรียกร้องอีก การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่ยุยงให้ปั่นป่วนกระด้างกระเดื่อง เมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์และหลักการตรวจสอบแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชมรัฐบาลตามหลักประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พิพากษายกฟ้อง” รายงานข่าวที่สรุปคำพิพากษาระบุ

            คำพิพากษานี้ จึงเป็นตัวอย่างในการรับรองว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงไม่ผิดข้อหายุยงปลุกปั่น ตาม ป.อาญา มาตรา 116 ซึ่งเมื่อมองต่อมายังสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือคณะประชาชนปลดแอก ก็ได้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลเช่นเดียวกัน และโดนตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นเช่นเดียวกัน ทั้งที่ศาลเคยมีบรรทัดฐานในการพิพากษายกฟ้องมาแล้ว

            การตั้งข้อหาที่มีอัตราโทษหนักกับแกนนำและผู้ปราศรัยกลุ่มปลดแอก พร้อมทยอยจับกุมดังที่ปรากฏในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น หากอนาคตเมื่อคดีถึงที่สุด ผลที่ออกมาศาลอาจจะยกฟ้อง แต่เริ่มต้นวันนี้ก็เป็นภาระกับจำเลย เป็นภาระกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานทั้งในสถานีตำรวจและศาลที่ต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัย จนถึงผู้พิพากษาที่ต้องพิจารณาการฝากขังและประกันตัวด้วย ขณะที่ตำรวจก็ติดลบไปแล้ว จากการถูกมองว่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในที่สุด.

                                                                                               

  นายชาติสังคม

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"