นักศึกษาเรียนจบปีหน้าอาจตกงานถึง 5 แสนคน และในภาพรวมอาจจะต้องเตรียมตั้งรับคนไม่มีงานทำกว่า 6 แสนคน
นั่นคือตัวเลขคาดการณ์จากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเรื่องแรงงานที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง...หากไม่มีมาตรการชัดเจนที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาคนว่างงานจะแปรเป็นปัญหาสังคมในวงกว้างอย่างไม่ต้องสงสัย
เมื่อสัปดาห์ก่อน กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เผยแพร่รายงาน "ระบบเตือนภัยด้านแรงงาน" ฉบับประจำเดือน มิ.ย.63 แจ้งว่า
การจ้างงานแรงงานในระบบประกันสังคม (ผู้ประกันตน ม.33) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
และคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือเดือน ก.ค.-ก.ย.63 การจ้างงานจะลดลง 994,997 คน จากเดือน มิ.ย.63 ที่มีผู้ประกันตน ม.33 จำนวน 11.29 ล้านคน
ขณะที่การว่างงานยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในเดือน ก.ค.-ก.ย.63 คาดว่าผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจะเพิ่มขึ้นอีก 600,301 คน
แบ่งเป็นเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 202,233 คน หรือเพิ่มขึ้น 105.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 199,005 คน หรือเพิ่มขึ้น 107.98%
และเดือน ก.ย.ว่างงานเพิ่มขึ้น 199,063 คน หรือเพิ่มขึ้น 115.46% เทียบกับข้อมูลจริงในเดือน มิ.ย.ที่มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 395,693 คน หรือเพิ่มขึ้น 120.42%
รายงานนี้บอกว่าการเลิกจ้างในเดือน ก.ค.-ก.ย.63 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
โดยคาดว่าจะมีการเลิกจ้างแรงงานประมาณ 263,388 คน
แต่เป็นจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมีอัตราชะลอตัวลง แบ่งเป็นเดือน ก.ค.เลิกจ้าง 116,698 คน เดือน ส.ค.เลิกจ้าง 90,798 คน และเดือน ก.ย.เลิกจ้าง 55,892 คน
การคาดการณ์เช่นนี้มาจากการวิเคราะห์ตัวชี้นำด้านเศรษฐกิจ 26 ตัว ซึ่งมี 11 ตัวชี้นำที่มีการแจ้งเตือนหรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือเข้าขั้นวิกฤติ (crisis)
ได้แก่ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม อัตราการใช้กําลังการผลิต ปริมาณการใช้ไฟฟ้า การส่งออกสินค้าทั้งหมด ดัชนีปริมาณการนําเข้า ปริมาณการจําหน่ายเบียร์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีชี้นําภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G7 และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ
สำหรับ 10 อุตสาหกรรมที่ต้องเฝ้าระวังการว่างงานและการเลิกจ้างในปี 63 ประกอบด้วย กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง มี 6 อุตสาหกรรม ได้แก่
1.ธุรกิจท่องเที่ยวและการจัดนําเที่ยว 2.ที่พักแรม 3.กิจกรรมบริการส่วนบุคคลอื่นๆ เช่น สปา การบริการลดน้ำหนัก และการดูแลความงาม 4.ขนส่งทางน้ำ 5.ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 6.การบริการอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ร้านอาหาร การจัดเลี้ยง
ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงจากโควิด-19 และสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน มี 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย 2.การผลิตเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 3.อสังหาริมทรัพย์ และ 4.การผลิตยางและพลาสติก นอกจากนี้จะต้องมีการเฝ้าระวังการว่างงานและการเลิกจ้างในภาคเกษตรกรรม ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรงและยาวนานมาตั้งแต่ปลายปี 62 จนถึงปัจจุบัน
รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า สถานการณ์แรงงานในเดือน มิ.ย.63 นับได้ว่าเป็นเดือนที่เกิดวิกฤติจ้างงานเดือนที่ 2 เนื่องจากการจ้างงานผู้ประกันตน ม.33 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหาร ที่พักโรงแรม และภาคการผลิต และยังเป็นเดือนที่เกิดวิกฤติการว่างงานและเลิกจ้างติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากการว่างงานและเลิกจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ภาคการผลิตและภาคการค้า
คุณสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน บอกว่าบัณฑิตจบใหม่ในปี 2564 จำนวน 493,875 คน อาจจะเข้าสู่
"การว่างงานแบบถาวร"
เหตุเป็นเพราะการจ้างงานในประเทศน้อยลง ส่งผลให้ตลาดแรงงานไม่พอรองรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่
เพราะนายจ้างมีปริมาณงานลดลง ปิดกิจการ ลดขนาดองค์กร สถานประกอบการหลายแห่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานจากเต็มเวลา เป็นการจ้างงานแบบ Part-time ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปรับงานอิสระที่สามารถกำหนดเวลาการทำงานได้เป็นบางช่วงเวลา งาน Part-time จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
ขณะนี้ได้รับแจ้งตำแหน่งงาน 2,396 อัตรา อาทิ งานด้านการผลิต งานจัดส่งสินค้า เจ้าหน้าที่เก็บเงิน แคชเชียร์ พนักงานขายทอดตลาด เจ้าหน้าที่สินเชื่อ เจ้าหน้าที่การเงิน
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว
ที่น่าเป็นห่วงจริงๆ คือไม่มีใครรู้ว่า "อนาคตของงาน" ที่เปลี่ยนไปอย่างถาวรนั้นคืออะไร
เมื่อไม่รู้ว่ามันคืออะไร และยังไม่เห็นความพยายามที่จะเข้าใจและปรับยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อตามให้ทัน ก็ยิ่งมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |