"พาณิชย์" เผยส่งออกเดือน ก.ค.63 พ้นจุดต่ำสุดแล้วมูลค่า 18,819.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 11.37% เหตุได้รับปัจจัยบวกจากการขนส่ง-การจัดซื้อฟื้นตัว ยอดขายรถยนต์ดีขึ้น และผลดีจากการคลายล็อกดาวน์ คาดส่งออกเป็นขาขึ้นทั้งปีไม่น่าติดลบ 2 หลัก แค่ลบ 8% หรือลบ 9% TMB Analytics ประเมินสินค้าส่งออกแนวโน้มดีขึ้นในครึ่งปีหลัง 2563
เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.ค.63 มีมูลค่า 18,819.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 11.37% ซึ่งมูลค่าขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากช่วงเดือน พ.ค.และ มิ.ย.63 ที่มูลค่าอยู่ในระดับ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการขยายตัวก็ลดลงในอัตราที่น้อยลง เป็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากพ้นจุดต่ำสุดในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ส่งออกติดลบสูงถึง 23.17% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,476.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 26.38% เกินดุลการค้า 3,343.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยอดรวมการส่งออก 7 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 133,162.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 7.72% การนำเข้ามีมูลค่า 119,118.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.69% เกินดุลการค้า 14,044.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้มองว่าการส่งออกกำลังฟื้นตัวขึ้นมาจากการขนส่งที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งเที่ยวบินพาณิชย์ การใช้ท่าเรือขนส่งสินค้า ที่ผ่านจุดต่ำสุดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.63, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของโลก ทั้งยุโรปและเอเชีย เช่น จีนและไทยฟื้นตัวใกล้เคียงก่อนโควิด-19 ระบาด, ตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของโลก (Global New Export Orders) เดือน ก.ค.63 อยู่ที่ 46.9 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากเดือน พ.ค.63, สัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปตะวันตก และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ปลาทูน่ากระป๋อง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง แต่น้ำตาลทราย ยางพารา และข้าว ยังลดลงค่อนข้างมาก สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง และสินค้าเก็งกำไรและลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ทองคำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังฟื้นตัวได้ดี รถยนต์เริ่มดีขึ้น แม้จะยังไม่ฟื้นตัวเป็นบวกแต่กำลังดีขึ้น ส่วนสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์และพลาสติก ยังติดลบค่อนข้างเยอะเพราะราคาน้ำมันยังไม่เปลี่ยนแปลง
ด้านตลาดส่งออก แม้ภาพรวมจะยังคงลดลง แต่หลายตลาดเริ่มหดตัวน้อยลง สะท้อนถึงการฟื้นตัว โดยตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ เพิ่ม 17.8% เติบโตได้ดีตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ญี่ปุ่นลด 17.5% สหภาพยุโรปลด 16% ตลาดศักยภาพสูงปรับตัวลดลงน้อยกว่าเดือนที่แล้ว โดยอาเซียนเดิม 5 ประเทศลด 24.6% CLMV ลด 13.2% อินเดียลด 39% ฮ่องกงลด 8.6% เกาหลีใต้ลด 12.8% ไต้หวันลด 18.1% แต่จีน กลับมาลด 2.7% จากเดือนที่แล้วขยายตัว ส่วนตลาดศักยภาพระดับรอง มีทั้งลดน้อยลงและลดเพิ่มขึ้น โดยทวีปออสเตรเลียลด 13.5% ตะวันออกกลางลด 16.4% แอฟริกาลด 24.6% ลาตินอเมริกาลด 34.9% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) ลด 25.2% กลุ่ม CIS รวมรัสเซียลด 41.1% แคนาดาลด 12.6% สวิตเซอร์แลนด์เพิ่ม 28%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวอีกว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 ต้องถือว่าการส่งออกเป็นเครื่องหมายถูกแล้ว มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปีไม่น่าจะลบเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่น่าจะลบในช่วงลบ 8% หรือลบ 9% โดยหากการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ทำได้เฉลี่ยเดือนละ 18,681 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะทำให้ทั้งปีติดลบ 8% ถ้าทำได้เดือนละ 18,188 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะติดลบ 9% โดยมีปัจจัยที่ต้องระวังและติดตามใกล้ชิด คือเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการแพร่ระบาดรอบ 2 ความขัดแย้งจากสงครามการค้า ความผันผวนของค่าเงินบาท และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับสินค้าที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อไป เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์และสินค้าอื่นๆ ที่ใช้สำหรับการพักอาศัย
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้าในครึ่งปีหลัง 2563 จะฟื้นตัวจากกลุ่มสินค้าอาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 3 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกรวม แนะผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงมาตรฐานสินค้าไปพร้อมกับเสริมศักยภาพการผลิต หาตลาดใหม่เป็นทางเลือก และแนะภาครัฐใช้โอกาสนี้ช่วยเจรจาเปิดตลาดสินค้า อำนวยความสะดวกทางการค้าและเสาะหาตลาด ช่องทางในการกระจายสินค้าของผู้ประกอบการไทย ช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง
ในครึ่งปีแรก 2563 สถานการณ์การส่งออกของไทยที่ไม่รวมสินค้ารายการพิเศษ (ทองและอาวุธ) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนถึง 11.9% โดยลดลงมากที่สุดในไตรมาส 2 ถึง 20.9% สาเหตุเกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงต่อเนื่องมาถึงในครึ่งปีหลัง 2563 แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มจะคลี่คลายในหลายประเทศ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องต่อสู้กับการระบาดอยู่ ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของ IMF เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวลงไป 4.9% แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากตลาดจีนที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังการระบาดตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา แต่การส่งออกไทยครึ่งปีหลัง 2563 ก็ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |