ประธานวิปรัฐบาลเผย 9-10 ก.ย.นี้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ คาดได้ถกแก้ รธน. 23-24 ก.ย. "รังสิมันต์" ยัวะเพื่อไทยยื่นญัตติอภิปรายโดยไม่ปรึกษาก่อน ชี้เป็นการหยิบยื่นเวทีให้รัฐบาลแก้ตัว "ดร.เหลิม" เสนอวิธีฝ่าวงล้อมมรดกเลือด เอารัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้แล้วยกร่างฉบับใหม่
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยระหว่างประชุมคณะทำงานพิจารณาโครงสร้างสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะยื่นญัตติเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงร่างเดียว ซึ่งเป็นเนื้อหาที่มาจากตัวร่างของแต่ละพรรคการเมือง โดยหลังจากนี้จะหารือให้ได้ข้อสรุปถึงรายละเอียดในการแก้ไขอื่นๆ รวมถึงการพิจารณาคุณสมบัติและอายุของผู้ที่จะมาสมัครเป็น ส.ส.ร. รวมถึงคุณสมบัติอายุของผู้มีสิทธิ์เลือก ส.ส.ร.จังหวัด
นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงโครงสร้าง ส.ส.ร.ที่กำหนด ส.ส.ร.เลือกตั้งจากจังหวัด 150 คน และอีก 50 คนมาจากการแต่งตั้งนักวิชาการโดยคณบดี อธิการบดี นักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จำนวน 10 คน ตัวแทนนักเรียน นิสิต นักศึกษา 10 คน ส่วนที่เหลือจะมาจากตัวแทนรัฐสภาหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะสรุปกันอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าญัตติจะเป็นรูปเป็นร่างและพร้อมที่จะยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายวิรัชยังกล่าวถึงกำหนดการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 1 ก.ย.นี้ว่า มีวาระกฎหมายสำคัญและพิธีสาร ขณะเดียวกันวันที่ 9-10 ก.ย.อาจเป็นวาระการอภิปรายรัฐบาลทั่วไปโดยไม่ลงมติของฝ่ายค้านตามมาตรา 152 จากนั้นวันที่ 16-18 ก.ย.จะเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564
เขากล่าวว่า การพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญคาดว่าจะเข้าที่ประชุมรัฐสภาประมาณวันที่ 23 และ 24 ก.ย.นี้ ก่อนปิดสมัยประชุมแน่นอน ซึ่งเชื่อว่าในระยะเวลาทั้ง 2 วัน สมาชิกรัฐสภาจะได้ใช้เวลาอภิปรายอย่างเต็มที่ ซึ่งหลังจากนี้ประธานสภาจะเรียกหารือเพื่อกำหนดวันประชุมอีกครั้ง เนื่องจากจะต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาร่วมประชุมด้วยอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเฉพาะต้องใช้เสียง 84 เสียงของ ส.ว.ในการโหวตรับหลักการญัตติเพิ่มเติมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าวุฒิสภาจะพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมของสภาผู้แทนราษฎรก่อนจะตัดสินใจถึงแนวทางดำเนินการต่อไป
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อยากให้ทุกคนย้อนไปดูตั้งแต่วันก่อนที่จะร่วมรัฐบาล ได้มีการพูดคุยชัดเจน พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่มีความชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคพูดชัดเจนว่าเราขอแก้มาตรา 256 และนั่นเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่เราได้พูดกับพรรคร่วมรัฐบาลและแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ว่าถ้าพรรคเข้าร่วมรัฐบาล หนึ่งในเหตุผลนั้นคือจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์แทบจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ซึ่งรัฐบาลได้นำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
'รังสิมันต์' ข้องใจเพื่อไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการแก้ไขบทเฉพาะกาลและที่มาของ ส.ว. นายเฉลิมชัยตอบว่าเป็นการประชุมร่วมกัน ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองมีแนวทางที่จะนำไปเสนอ แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องนำไปเสนอในที่ประชุมของพรรคร่วมรัฐบาล ว่ามีความเห็นอย่างไรก็เสนอไป ดังนั้นจึงต้องรอฟังความเห็นของที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในวันนั้นว่าจะแก้กันอย่างไร แต่จะต้องแก้แน่นอน พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมาพูดคุยกันก่อน เพื่อนำเสนอความเห็นของแต่ละพรรคมารวมกันและหาจุดที่ลงตัวในการนำเสนอ พรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอของพรรค พรรคอื่นๆ ก็คงมีประเด็นของพรรคตน แต่ทั้งหมดจะต้องเป็นร่างที่นำเสนอเข้าสภา
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ว่า แนวทางการทำงานที่ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ใช้ ส.ส.ร.น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้นรายละเอียดเราจะเสนอเป็นประเด็นเข้าไป โดยให้ ส.ส.ร.เป็นผู้พิจารณา ทั้งกรณีของ ส.ว. การลงคะแนน วิธีการเลือกตั้ง แต่ย้ำว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ใครจะมีแนวคิดอะไรก็แล้วแต่ แต่พรรคถือว่าหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญสำคัญที่สุด
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า วันที่ 25 ส.ค.ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านพูดคุย 2 ประเด็น คือ 1.กรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้เป็นการยื่นร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ในทางปฏิบัติจะกลายเป็นเพียงการหยิบยื่นโอกาสให้รัฐบาลได้หาข้อแก้ตัวให้การกระทำของตัวเอง โดยที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถใช้อำนาจที่มีในการลงโทษรัฐบาลได้เลย ดังนั้นจึงต้องหารือว่า เพราะเหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงรีบเข้าชื่อเสนอการอภิปรายทั่วไปขนาดนี้ ไม่ปรึกษาพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ดีก่อนถึงผลดีผลเสีย
และ 2.ทวงถามความชัดเจนในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 มาตรา 272 ที่กำหนดให้ ส.ว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลมีอำนาจในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นผู้ริเริ่มในการจะเสนอญัตติดังกล่าว และเคยมีการหารือในที่ประชุมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านมาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องเข้าชื่อโดย ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร คือ 98 คน แต่พรรคก้าวไกลมี ส.ส.เพียง 54 คน จึงต้องอาศัยการร่วมเข้าชื่อจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จึงจะสามารถเสนอญัตติดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาได้
ฝ่าวงล้อมมรดกเลือด
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การแก้ไข รธน.ส่วนใหญ่มักจะเกิดเรื่องตามมาทุกครั้ง ดังนั้นการแก้ไข รธน.2560 แทบต้องโละเพื่อสร้างใหม่ แต่การแก้ ม.256 ยังยากอยู่ และวันนี้ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองรับปากแล้วจะได้อย่างเรียบร้อย เพราะเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เกิดขึ้นก็มาจากการรับปากแล้วเบี้ยวกัน จึงเกิดการชุมนุมกระทั่งมีคนตายและบาดเจ็บร่วม 80 ชีวิต จึงสามารถแก้ไข รธน.ได้ฉบับ 2540 มา
"ดังนั้นหากไม่เบี้ยวกัน แล้วลงมือแก้กันก่อนเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็ไม่มีความตายบาดเจ็บเกิดขึ้น แต่การแก้ไขครั้งนี้ดูเสมือนว่าง่าย แต่ผมยังไม่เชื่อ เพราะเชื่อว่ายังยากอยู่ แต่ฝ่ายประชาชนต้องกุมความชอบธรรม นักการเมืองต้องไว้วางใจประชาชน ให้รัฐธรรมนูญมีประชาชนเป็นเจ้าของ และไม่แตะหมวด 1-2"
นายจตุพรกล่าวว่า ในการต่อสู้เรียกร้องนั้นตนยังยืนยันเสมอว่า 3 ข้อเรียกร้องของนักศึกษามีความสำคัญที่ตนเห็นชอบด้วย ที่สำคัญคือในขณะนี้ต้องฟังกัน เห็นต่างสามารถอธิบายกันได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของประชาธิปไตยที่สวยงาม และความแตกต่างเป็นคุณสมบัติติดตัวของมนุษย์
"ต้องถามพรรคก้าวไกลว่า ที่ต้องการแก้ไขหมวด 1-2 นั้นแก้เรื่องอะไร ทำให้เป็นจริงได้อย่างไร ถามแค่ 2 ข้อเท่านั้น เพราะผมคิดแล้วทำไม่ได้ ถ้าอธิบายว่าทำได้ก็อธิบายมา แต่ถ้าทำไม่ได้แล้วยังอธิบายทั้งที่ทำไม่ได้ ต้องการอะไร เราต้องการประชาธิปไตยหรือต้องการให้เกิดเรื่อง" ประธาน นปช.กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุถึงหลักการและเหตุผล 12 ข้อของการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที เพื่อเป็นการ "ฝ่าวงล้อมมรดกเลือด อันจะเป็นการหาทางออกให้ประเทศไทย" โดยเนื้อหาน่าสนใจดังนี้
"ตามที่ข้าพเจ้าได้เสนอทางออกประเทศไทยด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วนำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาใช้บังคับทันที แล้วยุบสภาเลือกตั้งภายใน 60 วัน ปลายปีนี้ ผลปรากฏว่าได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากและตามคาดหมายคือ กลุ่มพิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาคัดค้านว่าข้อเสนอของข้าพเจ้าไม่เป็นไปตามกฎหมาย ข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงและเสนอหลักการและเหตุผลของการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที เพื่อเป็นการ 'ฝ่าวงล้อมมรดกเลือด อันจะเป็นการหาทางออกให้ประเทศไทย' ดังนี้
ที่ว่าตกหลุมพราง เพราะรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลจะพร้อมใจกันประกาศว่า เปิดรับ ยินดี ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ใช้แรงงานทันที หรือเพียบพร้อมถ้วนหน้าภายในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้อย่างแน่นอน วิธีนี้คือ การบล็อกกลไกหรือสร้างเวทีหลุมพรางให้ทุกฝ่ายต้องเดินทางตามวิธีการหรือหมากกลที่ 'ผู้มีอำนาจ' ได้สร้างไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียกมันคือ 'มรดกเลือด'
เป็นที่ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกติกาหรือบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดไว้จะเป็นเพียงปาหี่หรือละครหลอกลวง เพราะนอกจากการแก้ไขจะต้องใช้เวลาประมาณ ๓-๔ ปีแล้ว ผลการแก้ไขก็จะเป็นไปเช่นเดิม เพราะขั้นตอนวิธีการเสียงของ ส.ว. และการต้องจัดรับฟังประชามติ ล้วนถูกออกแบบไว้แล้วว่าทุกอย่างทุกประการรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจจะคุมได้แบบเบ็ดเสร็จ แม้แต่จะยกเลิก ส.ว. หรือจำกัดอำนาจ ส.ว. ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น และนี้คือ 'มรดกเลือด' ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในชาติไทย
ที่ว่า 'มรดกเลือด' เพราะในที่สุดแล้วประชาชนจะถูกแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงใหม่ กับฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญเดิม และจะเดินไปสู่ความขัดแย้งถึงปะทะกัน แล้วฝ่ายถืออาวุธก็จะออกมาปราบปรามฆ่าประชาชนอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะเลวร้ายกว่าที่เคยปรากฏมาก่อน
การล้างมรดกเลือด ครั้งนี้มีทางเดียวคือ ต้อง 'ไม่เล่นตามเกมของผู้มีอำนาจ' ต้องไม่ต่อสู้หรือชกบนเวทีที่เขาสร้างไว้ เพราะเราไม่มีวันชนะ แต่เราต้องเปิดเกมใหม่หรือสร้างเวทีใหม่ ข้าพเจ้าจึงเสนอวิธีการที่เรียกว่า 'คิดใหม่หรือคิดนอกกรอบ' เพื่อสร้างโอกาสใหม่ เพื่อประชาชนเจ้าของแผ่นดินจะได้มีโอกาสชนะ และ 'ผู้มีอำนาจ' ไม่สามารถรักษามรดกเลือดไว้ได้อีก
หลักการและเหตุผลสำคัญ คือ ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทันที นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 (ซึ่งเรายอมรับว่าดีที่สุดกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ประเทศไทยเคยมีมา) มาบังคับใช้แทนทันที เป็นการชั่วคราว แล้วประกาศยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน โดยการเลือกตั้งใหม่จะเป็นไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่อย่างใด จากนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
นี่คือวิธีเดียวเท่านั้นที่จะล้าง 'มรดกเลือด' เพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยในวันนี้ และต้องทำทันทีก่อนการล่มสลายของชาติบ้านเมือง".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |