เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB), ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB), ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY), ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KKP), บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO) และบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG) ได้แจ้งผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งพบว่าภาพรวมมีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 2 ปี 2563 รวมอยู่ที่ 30,386 ล้านบาท ลดลง 41.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 51,579 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกปี 2563 อยู่ที่ 77,224 ล้านบาท ลดลง 26.9% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกปี 2562 อยู่ที่ 105,632 ล้านบาท
ปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรสุทธิลดลง ส่วนใหญ่มาจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยก็ได้ลดลง ซึ่งทั้งหมดมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจมีการหยุดชะงัก และมีการออกมาตรการพักชำระหนี้ หรือลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้า
แน่นอนประเด็นดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการดำเนินการของธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในช่วงนี้การขยายสินเชื่อใหม่ก็ทำได้ยากลำบาก และการจะอนุมัติเงินกู้ใหม่ๆ ล้วนมีความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย ส่งผลธุรกิจธนาคารเริ่มกระท่อนกระแท่นบ้างในช่วงไตรมาส 2 แต่เมื่อมองในภาพรวม หลังจากเลิกล็อกดาวน์สถานการณ์ต่างๆ ก็กลับมาดีขึ้นบ้าง แต่แน่นอนตอนนี้แบงก์ไหนที่แบกลูกค้าเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องกับส่งออก และท่องเที่ยวไว้มาก อาจจะเกิดปัญหาได้บ้าง เนื่องจากดูวี่แววแล้ว ลูกหนี้กลุ่มนี้จะยังไม่กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติง่ายๆ
ซึ่งเรื่องปัญหาหนี้เสียกำลังจะเป็นประเด็นใหญ่ในระบบสถาบันการเงิน ส่งผลให้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จัดทำโครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง (โครงการดีอาร์บิส) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายให้ได้รับการบรรเทาภาระหนี้ และให้มีกลไกในการจัดการหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่ง
"โครงการนี้จะแก้ปัญหาทั้งลูกหนี้และสถาบันการเงิน จะช่วยลดภาระการตั้งสำรองหนี้เสีย ลูกหนี้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล ซึ่งโครงการดีอาร์บิสจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงกับปัญหาแต่ละกลุ่ม โดยประเมินว่าจะมีลูกค้าที่เข้าข่ายร่วมโครงการจากหนี้ 50-500 ล้านบาท ประมาณ 8,400 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 1.2 ล้านล้านบาท" นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
โครงการดีอาร์บิสจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2563 มีระยะเวลา 2 ปี ช่วยกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีหนี้กับเจ้าหนี้หลายธนาคาร วงเงิน 50-500 ล้านบาท ต้องมีสถานะหนี้ปกติ หรือเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) กับธนาคารบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562
ขณะเดียวกัน ในส่วนที่มีนักเศรษฐศาสตร์แสดงความเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยกำลังจะประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าฐานะการดำเนินงานและเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยังมีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ได้ดี โดยตั้งแต่ต้นปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองส่วนเกินอยู่มากจากนโยบายการกันสำรองอย่างเข้มงวดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นมิถุนายน 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ระดับสูงถึง 19.2% และผลประกอบการยังมีกำไร รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินและระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสูงมากด้วย.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |