24ส.ค.63- สพฐ. เดินหน้า ปรับลดการบ้าน-ลดการทดสอบ และปรับวิธีวัดประเมินผล "อำนาจ"เผยการดำเนินการในรูปแบบนี้เปรียบเหมือน"ห้องเรียนกลับด้าน" ให้เด็กศึกษาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ต นอกห้องเรียน นอกเวลาเรียน ส่วนห้องเรียนจะเป็นการจัดกิจกรรมอื่นๆ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็น โรงเรียนแข่งขันสูง 281 แห่ง ที่เน้นวิชาการให้การบ้านหนัก คาดได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นส่งไม้ต่อ สพท. ขับเคลื่อน
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับเรื่องการลดการบ้าน และลดการทดสอบวัดประเมินผลของนักเรียนนั้น ขณะนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับข้อสั่งการจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และจะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเรื่องลดการบ้าน ปรับวิธีการวัดผลและประเมินผล และการลดเวลาเรียนในห้องเรียน ตนได้มอบหมายใหัสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำรายละเอียดการปรับปรุงแก้ไขแล้ว
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ระหว่างการจัดทำรายละเอียด สพฐ.ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ร่วมกับโรงเรียนอัตราแข่งขันสูง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ จำนวน 281 แห่ง เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้ จัดการเรียนการสอนเน้นหนักด้านวิชาการและให้การบ้านค่อนข้างหนัก ดังนั้น สพฐ.จะมาฟังเสียงสะท้อน ว่า หากปรับลดการบ้านโรงเรียนมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิเคราะห์ทางออกร่วมกับโรงเรียน โดยตนจะไม่สั่งการอย่างเดียว แต่จะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนด้วย อย่างไรก็ตาม สพฐ.คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ จากนั้นจะแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รับทราบสู่แนวทางการปฏิบัติต่อไป
เลขากพฐ.กล่าวอีกว่า เมื่อมีการปรับลดการบ้านและลดชั่วโมงเรียนจะต้องดำเนินการให้สอดรับกับการวัดผลและประเมินผล โดยที่เราจะจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างครบถ้วนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าการบ้านเด็กจะต้องลดลง เพราะปัจจุบันการเรียนรู้ของเด็กมีอย่างหลากหลายในการค้นหาข้อมูล หากเปรียบเทียบกับสมัยก่อนที่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้กับครูผู้สอนและหนังสือเรียนเท่านั้น สำหรับการปรับลดการบ้านเบื้องต้น เราวางโครงสร้างลักษณะอยากจะให้เด็กเรียนรู้และทำแบบฝึกหัดในห้องเรียน และมอบหมายให้เด็กไปค้นคว้าหาความรู้ เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการเรียนในวันถัดไปมากกว่า ส่วนข้อสอบจะเป็นอัตนัย และใช้การประเมินผลจากกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งการดำเนินการในรูปแบบนี้เปรียบเหมือนกับห้องเรียนกลับด้าน เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนศึกษาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ต นอกห้องเรียน นอกเวลาเรียน ส่วนในห้องเรียนจะเป็นการจัดกิจกรรมอื่นๆ แทนที่ส่งเสริมการเรียนรู้