'โพล'หนุนม็อบเด็ก! หวั่นชุมนุมทำบานปลาย แดงร่วมวง'ลานคนเมือง'


เพิ่มเพื่อน    


    โพลชี้การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่กังวลจะบานปลายแตกแยกรุนแรง แนะ "ประยุทธ์" รับฟังปัญหาจากผู้ชุมนุม ย้ำต้องไม่จาบจ้วงสถาบันฯ หนุนแก้ไข รธน. นายกฯ ยุบสภา-ลาออก "เอนก" สั่ง ทปอ.ติดตามประคองอย่าให้เกิดปัญหา ห่วงบูลลี่กันเอง จี้อธิการฯ เป็นไม้หลักอย่าคล้อยตามกระแส "อิสระ" จวกผู้ช่วยปลัด สธ.แนวคิดอันตราย หาว่าเด็กไม่มีอุดมการณ์ ปชต.โฆษกก้าวไกลซัดนายกฯ ปากพูดรับฟังแต่ใช้กฎหมายจัดการ  ปชช. ม็อบหน้าลานคนเมืองชู "ตีนตบ" ครึกครื้น
    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “ม็อบกลุ่มประชาชนปลดแอก” ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และวันที่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อถามถึงความกังวลว่าจะเกิดการบานปลายกลายเป็นความแตกแยกและความรุนแรงในสังคมจากการชุมนุม พบว่าร้อยละ  26.37 ระบุว่ากังวลมาก เพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น และอาจจะมีมือที่ 3 เข้ามาแทรกแซงเหมือนที่ผ่านมา และอยากให้เลื่อนการชุมนุมออกไปก่อนจนกว่าการแพร่ ระบาดโควิด-19 จะหมดไป 100% 
    ร้อยละ 34.76 ระบุว่าค่อนข้างกังวล เพราะเกรงว่าจะมีการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกลูกหลง ได้รับบาดเจ็บ,  ร้อยละ 14.18 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรับทราบถึงเหตุผล รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้, ร้อยละ 24.16 ระบุว่าไม่กังวลเลย เพราะ เป็นเหตุการณ์ปกติของการเมืองไทย
    เมื่อถามถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรดำเนินการกับการชุมนุม พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.27 ระบุว่า ควรรับฟังปัญหาจากกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยตนเอง, ร้อยละ 24.16 ระบุว่าควรยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ทันที, ร้อยละ 11.43 ระบุว่าควรประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่, ร้อยละ 11.36 ระบุว่าควรใช้กลไกรัฐสภาในการฟังปัญหาจากกลุ่มผู้ชุมนุม, ร้อยละ 9.07 ระบุว่าควรประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ 
    ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่าง 197,029 คน ระหว่างวันที่ 16-21 ส.ค.2563 พบว่า เป็นการเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย 59.11%, ต้องไม่จาบจ้วงสถาบัน 41.76%, ห่วงเรื่องความปลอดภัย/อาจมีผู้ไม่หวังดี 40.41%, ผู้เกี่ยวข้องควรรับฟัง 40.10%, มีผู้อยู่เบื้องหลัง   38.90%, เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน 33.79%, สร้างความวุ่นวาย/แตกแยก 28.64%
     ความคิดเห็นกับข้อ 3 เรียกร้อง พบว่า เห็นด้วยกับการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ”  62.84% เพราะรัฐธรรมนูญไม่เป็นกลาง เป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย, อยากให้แก้ไขในหมวดที่มาของ ส.ว., ไม่เห็นด้วย 24.85% เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมแล้ว, เป็นเพียงความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งที่เสียผลประโยชน์, ผ่านการลงมติมาแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขใหม่
     ความคิดเห็นกับข้อเรียกร้องให้ “พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาหรือลาออก” เห็นด้วย 53.88% เพราะบริหารงานล้มเหลว ประเทศชาติไม่เจริญก้าวหน้า มาจากการสืบทอดอำนาจ, ไม่เห็นด้วย 38.43% เพราะเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ ตั้งใจทำงาน มีความจงรักภักดี ยังมองไม่เห็นใครที่มีความเหมาะสมเข้ามาแทน
สิทธิเสรีภาพต้องไม่จาบจ้วง
    ส่วนข้อเรียกร้องให้ “หยุดคุกคามประชาชน” เห็นด้วย 59.47%เพราะการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน ควรเป็นไปอย่างอิสระ, ไม่เห็นด้วย 29.19% เพราะเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากปล่อยปละละเลย อาจทำให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น
    สำหรับภาพรวมการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา เห็นด้วย 53.71% เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น  เป็นการเรียกร้อง/การกล้าแสดงออกของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น, ไม่เห็นด้วย 41.17% เพราะเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นการจาบจ้วง, อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย  อาจมีเบื้องลึกเบื้องหลัง, เป็นเวลาที่ไม่เหมาะสม เศรษฐกิจประเทศชาติกำลังย่ำแย่
    ส่วนนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล  เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง เยาวชนปลดแอก กรณีศึกษา ประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศน 1,812 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-22 สิงหาคม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 ระบุความเห็นต่อเยาวชนปลดแอก ว่าควรรวมพลังปลดแอก ไม่ยอมให้ต่างชาติแทรกแซง สร้างปั่นป่วนทำคนในชาติแตกแยก รองลงมาคือ ร้อยละ 90.0 ระบุปลดแอกจากการถูกรังแก คุกคามในห้องเรียน ในโรงเรียน ในชุมชน และร้อยละ 80.6 ระบุ ร่วมกันปลดแอก แจ้ง หน่วยงานรัฐ เป็นหูเป็นตา ใช้โซเชียลเปิดโปง รักษาความมั่นคงชาติ และความสงบสุขของบ้านเมือง
    ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.1 ระบุความต้องการให้คนไทยทุกคนมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง, ร้อยละ 97.2 ต้องการให้คนไทยทุกคนมีงานทำ มีอนาคตดี มั่นคง,  ร้อยละ 96.9 ต้องการให้คนไทยสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ปกป้องเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ, ร้อยละ 96.7 ต้องการให้คนไทยเป็นพลเมืองที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีต่อกัน ใครไม่ดีต้องจัดการให้เห็น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.4 เห็นด้วยกับความต้องการกฎหมายดูแลเด็กนักเรียนตั้งแต่เข้าเรียน จนถึงมีงานทำ ในขณะที่ร้อยละ 8.6 ไม่เห็นด้วย
    วันเดียวกัน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวภายหลังการมอบนโยบายแก่ที่ประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความห่วงใยสถานการณ์บ้านเมืองเกี่ยวกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา มากับตนหลายครั้ง ตนฝากให้อธิการบดีติดตามดูแลประคับประคองอย่าให้อะไรที่ไม่ควรเกิดเกิดขึ้น สำหรับข้อเรียกร้องกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ทุกพรรคมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการให้สัดส่วนนักศึกษาเข้าร่วมด้วย ขั้นตอนการดำเนินการจะต้องมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ จากนั้นลงประชามตินำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ หากยุบสภาก่อนก็จะไม่สามารถแก้ไข รธน.ตามที่กลุ่มนักศึกษามีข้อเรียกร้องได้
    นายเอนกกล่าวต่อว่า ตนไม่ได้มีข้อห่วงใยเรื่องการจัดการชุมชนของกลุ่มนักศึกษา แต่ที่เป็นห่วงคือปัญหาการคุกคามและการบูลลี่ระหว่างผู้เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมชุมนุม แต่ได้กำชับว่าอย่าให้เกิดความรุนแรงขึ้น อย่าให้มีการกระทำอะไรที่คุกคามกัน หรืออย่าบูลลี่กัน ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องรับฟังความคิดเห็น ขอให้อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยสนใจนิสิต นักศึกษา อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตนักศึกษาเท่านั้น 
อธิการบดีต้องเป็นไม้หลัก
    "อธิการบดีควรจะถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นไม้หลักที่ปักบนดินที่แน่นหนา ไม่ใช่ไม้หลักปักขี้เลน อย่าคล้อยตามกระแสจนไม่กล้าพูดอะไร อย่ากลัวเสียความนิยมจนไม่กล้าพูดอะไร น่าจะต้องพูดว่าเราจงรักภักดี ผมห่วงการกระทำที่หมิ่นเหม่กฎหมาย อย่าให้มีการจาบจ้วงก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ผู้บริหารควรทำให้นักศึกษาทุกกลุ่มได้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์" นายเอนกกล่าว
    นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญรับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน กล่าวว่า ตนเสนอให้มีมติทำโพลโดยใช้การรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ในที่ประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ได้มีมติเห็นชอบและได้ขอความร่วมมือกับผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ ให้ช่วยประสานนำแบบสอบถามไปเผยเเพร่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนทั่วประเทศ แต่ทางผู้เเทนกระทรวงกลับบอกว่าได้หารือกับผู้บริหารเเล้วมีความไม่สบายใจที่จะส่งเเบบสอบถามออกไป เพราะรู้อยู่เเล้วว่าผลลัพธ์ของโพลจะออกมาเป็นอย่างไร อีกทั้งผู้เเทนกระทรวงคนเดิมยังพูดอย่างไม่สะทกสะท้านกลางที่ประชุมทำนองว่ารู้อยู่แก่ใจ นักเรียนไม่ได้ใสซื่ออย่างที่เราคิด
    "เป็นประโยคที่ กมธ.หลายคนฟังเเล้วส่ายหน้า รวมถึงนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ ที่เป็นประธานในที่ประชุมอยู่ ถึงกับออกปากว่าไม่สบายใจที่ผู้เเทนกระทรวงพูดในลักษณะเช่นนี้ ผมเคยเตือนผู้เเทนกระทรวงคนเดิมคนนี้ที่พูดกลางที่ประชุม กมธ.ตั้งแต่ครั้งเเรกๆ ว่าเด็กนักเรียนไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ห่วงเเต่เรื่องเรียนพิเศษ ผมคิดว่าการที่เด็กรวมตัวกันต่อต้านกระทรวง คงมีสาเหตุหนึ่งมาจากที่คนของกระทรวงมีแนวคิดอันตรายเช่นนี้ หากไม่ปรับทัศนคติก่อน คงไม่มีทางคุยกับเด็กรุ่นใหม่ได้รู้เรื่องอย่างเเน่นอน" นายอิสระกล่าว 
    นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สถานการณ์เช่นนี้หากเป็นรัฐบาลสายเลือดประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนจริงๆ คงไม่มีใครนิ่งดูดายเช่นนี้ สถานการณ์การชุมนุมทุกแห่งหนในประเทศไทยขณะนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่จริงใจ มองประชาชนเป็นคู่ขัดแย้งของรัฐบาล ตามจับทุกคนที่ร่วม ชุมนุมปราศรัยพูดความจริง สถานการณ์ไม่มีทางดีขึ้นตราบใดที่รัฐบาลยังใช้กฎโจรจัดการกับประชาชน ยิ่งเป็นระเบิดเวลาให้รัฐบาลหมดความชอบธรรม ละครกี่เรื่องกี่ฉากที่อนุมัติงบมาตบตาประชาชนว่ารัฐบาลยินดีรับฟังโกหกทั้งเพ อยากถามว่ารับฟังแบบไหน จับก่อนค่อยฟังหรือ
    นายณัฐชากล่าวต่อว่า ล่าสุดกรณีที่มีภาพนักเรียนอนุบาลที่ชู 3 นิ้วเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียถูกเจ้าหน้าที่รัฐบุกถึงบ้าน สังคมมีคำถามว่าเด็กอายุไม่เกิน 4 ขวบคือศัตรูของรัฐหรือ และไม่ควรกล่าวหาว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำของเด็กอนุบาล นายกฯ ควรรับผิดชอบกับเรื่องนี้ หยุดคุกคามประชาชนแบบหลับหูหลับตา เด็กอนุบาล 3 คงไม่ใช่ภัยความมั่นคงของรัฐบาล กลับกันคดีร้ายแรงที่สำคัญเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจกลับไม่เร่งดำเนินคดี ในทางกลับกันคดีของผู้เห็นต่างทางการเมืองกลับเร่งดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน
ปลุกต้านรัฐประหาร
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงข่าวลือเรื่องรัฐประหารว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออก เพราะถ้าเป็นทางออกวันนี้ประเทศไทยเจริญพัฒนารุดหน้าไปนานแล้ว เรามีการทำรัฐประหารบ่อยครั้งมาก วิกฤตการณ์การเมืองที่เราเผชิญมาจากการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งเรายังแก้ไม่จบกว่า 1 ทศวรรษผ่านมาแล้ว เป็นทศวรรษที่สูญหาย ที่ประเทศไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงๆ จังๆ คิดว่ารัฐประหารไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก เพราะต้นทุนที่ใช้ในการทำนั้นสูงมาก และถูกใช้ไปจนไม่เหลือแล้ว แต่ถ้าเกิดขึ้นเราก็พร้อมจะออกมาต่อต้าน และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่รักประชาธิปไตยออกมาแสดงการไม่ยอมรับพร้อมกันทั่วประเทศ
    นายรยุศด์ บุญทัน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย กล่าวว่า จากการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่มาพร้อมกับข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ทำให้สังคมแบ่งแยกความคิดออกเป็น 2  ฝ่ายอย่างชัดเจน จึงอยากให้สังคมผู้มีอำนาจและรัฐบาลเปิดพื้นที่รับฟังอย่างกว้างขวาง ขอเสนอไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ดังนี้ 1.รัฐบาลต้องเปิดเวทีอย่างเร่งด่วนและทำทันที นายกฯ ต้องเป็นเจ้าภาพเท่านั้น 2.เมื่อรับฟังข้อเสนอและข้อเรียกร้องจากผู้ชุมนุม รัฐบาลต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างชัดเจน 3.หากไม่สามารถทำได้ ตามแนวทางข้อ 1 และข้อ 2 ขอเสนอให้ท่านลาออกหรือยุบสภาให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง 
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมีบุคคลอ้างว่าเป็นทีมงานและสมาชิกพรรคหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นรูปเด็กแต่งชุดนักเรียนอนุบาลใน จ.ยโสธร พร้อมการชู 3 นิ้วขึ้นเหนือศีรษะ โดยไม่มีการปิดหน้าตา พร้อมมีข้อความว่า “#อนุบาลต้านเผด็จการ ไม่หวั่น ม.116 ภัยต่อความมั่นคง เผด็จการไดโนกะลา” ซึ่งเป็นการท้าทายกฎหมาย ไม่คำนึงถึงศีลธรรมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กที่อาจจะเสียหายเกิดขึ้นในอนาคต เป็นความเห็นแก่ตัวของผู้กระทำที่ตกต่ำถึงขั้นต้องอาศัยเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไร้จริยธรรม ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กอย่างร้ายแรง และเป็นที่แปลกใจอย่างยิ่งคือผู้ที่อ้างเป็นนักประชาธิปไตยและองค์กรยูนิเซฟ (Unicef) ที่เคยออก แถลงการณ์ปกป้องสิทธิเด็กกรณีการชุมนุมทางการเมืองกลับปล่อยให้เกิดกรณีเยี่ยงนี้ได้อย่างไร
     นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ถือเป็นการกระทำที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการฝ่าฝืน  มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 79 และยังมีความผิดตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 โดยพบว่ามีผู้แชร์รูปและข้อความดังกล่าวไปกว่า 195 คนด้วย โดยจะไปร้องเรียนกล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) วันที่ 24 ส.ค.63 เพื่อดำเนินการเอาผิดผู้ที่โพสต์รูปและแชร์รูปเด็กที่ขัดต่อกฎหมายต่อไป
    เมื่อเวลา 15.00 น. ที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สถานที่นัดหมายจัดกิจกรรม ‘เพราะทุกคนคือแกนนำ #TheNextOneMaybeYou’ โดยกลุ่มนักศึกษา 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ 1.กลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2.ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ 3.กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย (SCFD) และ 4.พะยอมเก๋า ของนักศึกษา ม.รังสิต ร่วมกันติดตั้งฉากสีดำบนลานคนเมือง เพื่อนำงานศิลปะมีเนื้อหาต่อต้านการคุกคามประชาชนและนักเรียนที่เรียกร้องประชาธิปไตยมาจัดแสดง
    เวลาประมาณ 15.40 น. ตัวแทนนักศึกษากลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย 2 ราย ขึ้นเวทีกล่าวถึง 3 ข้อหลักที่พวกตนต้องการเน้นย้ำ ได้แก่ 1.ยืนยันหลักสิทธิมนุษชน เสรีภาพในการพูดที่ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน 2.ยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1) หยุดคุกคามประชาชน 2) ยุบสภา 3) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 2 จุดยืน คือ 1) ไม่เอารัฐประหาร 2) ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ 3.ขอเป็นศูนย์กลางในการตระหนักรู้ด้านกฎหมายในอนาคต
    จากนั้นมีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยโดยนิสิต นักศึกษา และประชาชน ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ในตอนหนึ่ง นางศรีไพร นนทรีย์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษชน ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวว่า เราอยู่ในยุคทุนนิยม ที่ผ่านมาเศรษฐกิจแย่ บางคนกินข้าวไม่ได้ครบ 3 มื้อ หลังจากนั้นมีรัฐประหารในปี 2534 โดย รสช.มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแรงงาน แยกรัฐวิสาหกิจออก อำนาจการต่อรองน้อยลง กระทั่งยุคทักษิณ แม้ค่าแรงไม่ขึ้น แต่ได้ 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อมายุคอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาที่จะทำให้สังคมไทยมีความเสมอภาค
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานดังกล่าวกลุ่มเสื้อแดงต่างนำอุปกรณ์ตีนตบขึ้นมาชูและเขย่าส่งเสียงเชียร์การปราศรัยและการแสดงต่างๆ อย่างครึกครื้น
    ทั้งนี้ ในการชุมนุมยังมีการนำศิลปะแบบเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ในชื่อจงตื่นรู้ โดยศิลปินหญิงอิสระแม่มดสีน้ำเงิน มาสะท้อนข้อเรียกร้องทางการเมืองและความไม่เท่าเทียมในสังคมด้วย ซึ่งสร้างความฮือฮาให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมพอสมควร
    ต่อมาในเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม พิธีกรบนเวทีได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของทางกลุ่ม ซึ่งเนื้อหาระบุให้รัฐบาลยุติการคุกคามประชาชน พร้อมทั้งยังยกตัวอย่างการชุมนุมวันนี้ ที่ถือเป็นการออกมาเรียกร้องแบบไม่ต้องมีผู้นำ ดังนั้นหลังจากการชุมนุมนี้ หากมีใครถูกจับขอให้คนอื่นลุกมาทำหน้าที่แทนทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"