ถ้าเราเชื่อว่าหลังโควิด-19 จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป นั่นก็แปลว่าเราจะต้องคิดว่าสังคม เศรษฐกิจ และแม้การเมืองไทยก็ต้องผ่านการปรับเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม
ปัญหาใหญ่ของเราคือ ใครในรัฐบาลของเราคิดและทำอะไรเพื่อให้เรามี "สูตรหลังโควิด" อย่างเป็นรูปธรรมบ้าง
คำตอบคือ เรายังไม่เห็นอะไรที่พอจะให้ความหวังเราในด้านนี้แต่อย่างใด
วันก่อนผมอ่านเจอคำปราศรัยของรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ที่ออกมาประกาศต่อประชาชนความว่า
"สิงคโปร์จะไม่กลับไปสู่โลกก่อนโควิด แต่ต้องวางเส้นทางเดินใหม่"
นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ บอกว่าประเทศของเขาจะต้องวาง "เส้นทางเดินใหม่ด้วยการสร้างเศรษฐกิจใหม่" เสียตั้งแต่ตอนนี้
โดยไม่รอให้โควิดจบลงด้วยซ้ำไป
เพราะไม่มีใครรู้ว่าโควิดจะมีวันหายไปหมดหรือไม่ และหากมันยังอยู่กับเราไปอีกสองสามปีข้างหน้า หากไม่เริ่มวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ ทุกอย่างอาจสายเกินไปก็ได้
รัฐมนตรีชานบอกว่า ภาวะเศรษฐกิจซึ่งหดตัว 6.7% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และคาดว่าทั้งปีจะติดลบ 5-7%
"ความจริงที่เจ็บปวดก็คือ ประเทศจะไม่กลับไปเหมือนเดิมก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีก"
เขาบอกว่าการที่ยังมีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ แปลว่าการฟื้นตัวต้องใช้เวลา
ที่สำคัญคือการฟื้นตัวจะไม่เท่ากันในทุกภาค
ต้องยอมรับความจริงว่าบางภาคจะฟื้นตัวไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ภาคอื่นๆ อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร
นั่นหมายความว่าธุรกิจบางอย่างอาจล้มหายตายจากไปเลยก็ได้
รัฐมนตรีคนนี้บอกว่า วิกฤตินี้ไม่เหมือนวิกฤติการเงินเอเชียในปี 1998 หรือวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2009 เพราะสองวิกฤตินั้นสถานการณ์ฟื้นคืนได้พอสมควรใน 2-3 เดือน
แต่ครั้งนี้ทุกอย่างชี้ไปที่ความไม่แน่นอนและปัญหาหนักหนาที่จะลากยาวออกไปโดยยังมองไม่เห็นปลายทาง
หากมัวแต่คอยหรือรอความพร้อม สถานการณ์ก็อาจจะแย่กว่าที่เป็นอยู่
รัฐมนตรีชานยืนยันว่า
"สิงคโปร์ต้องเริ่มสร้างเศรษฐกิจใหม่เสียตั้งแต่ตอนนี้ และสร้างโอกาสการทำงานที่ดีขึ้นและมากกว่าเดิมให้คนของเรา เราจะคอยให้โควิดหมดไม่ได้"
แนวทางวิเคราะห์ของสิงคโปร์บอกว่า "โลกได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างถาวร" อย่างน้อย 4 ด้าน
สี่ด้านนี้มีผลกระทบต่อแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน สำหรับสิงคโปร์เขามองว่า
ด้านแรก สภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ได้เปลี่ยนไปแล้ว
สิงคโปร์เจริญรุ่งเรืองในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเพราะปัจจัยนั้น วันนี้ข้อได้เปรียบนั้นกำลังจะหายไปต่อหน้าต่อตา
การฟาดฟันระหว่างประเทศมหาอำนาจกำลังมีผลกระทบไม่เพียงแต่ด้านการเมืองเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงการค้า เทคโนโลยี และความมั่นคงอีกด้วย
เขายกตัวอย่างว่าเมื่อชาวสิงคโปร์ทำธุรกิจในจีน ต้องสื่อสารกับคู่ค้าผ่าน WeChat และไม่สามารถใช้บริการ WhatsApp ได้
ในสหรัฐฯ กลับตรงข้ามกัน
อีกหน่อยหากทั้งสองยักษ์แย่งชิงอิทธิพลกันในด้านนี้ โลกจะถูกแบ่งเป็นสองขั้ว ซึ่งรวมถึงด้าน app ด้วย
ประเทศเล็กๆ ต้องหลีกเลี่ยงที่จะตกอยู่ในความขัดแย้งของมหาอำนาจ
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านที่สองคือ การที่บริษัทระดับโลกปรับเปลี่ยนการผลิตและห่วงโซ่การผลิต
หลายบริษัทกำลังทบทวนความจำเป็นของการมีสำนักงานภูมิภาค และสถานที่ตั้งโรงงาน
หลายบริษัทได้ผละจากการผลิตที่เน้นประสิทธิภาพ ไปมุ่งเน้นการผลิตที่ส่งมอบสินค้าตามเวลาและปริมาณที่ต้องการ หรือ Just in time เพื่อให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้
หรือไม่ก็หันไปเน้นการจัดเก็บและกักตุนสินค้าเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า Just in case
นั่นคือยุทธศาสตร์การกระจายความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการที่ไม่ต้องพึ่งพาแหล่งผลิตใดเพียงแห่งเดียว
บางรายหันไปใช้กลยุทธ์ "จีนบวก 1" และหนึ่งประเทศที่เพิ่มมานั้นอยู่ที่อาเซียนเป็นสำคัญ
ประเทศไหนปรับตัวไม่ทันก็จะถูกข้ามหัวไป
รัฐมนตรีสิงคโปร์คนนี้บอกว่าสิงคโปร์ต้องตอกย้ำข้อได้เปรียบที่สำคัญ เช่น การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและความแน่นอนชัดเจนด้านการบังคับใช้กฎหมาย
อีกประเด็นหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดเก็บภาษี เช่น การเก็บภาษีดิจิทัล
นั่นอาจจะมีผลกดดันให้บริษัททำธุรกิจในประเทศตัวเองมากขึ้น
ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของบริษัทที่จะลงทุนในสิงคโปร์ได้เช่นกัน
ด้านที่สาม โควิดทำให้รูปแบบงานได้เปลี่ยนไป และการทำงานทางไกลหรือ Work from Home หรือการทำงานจากบ้านอาจจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่
วิถีชีวิตของคนทำงานคล่องตัวขึ้นผ่านระบบทางไกลหรือผ่านระบบอัตโนมัติและ AI
ด้านที่สี่ เมื่อเศรษฐกิจหดตัวลงจะเกิดปัญหาความแตกแยกในสังคม และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะกว้างขึ้นไปอีก
อีกทั้งอาจมีช่องว่างเพิ่มขึ้นระหว่างคนต่างชาติกับคนในประเทศ หรือแม้แต่พลเมืองกับผู้ที่อยู่อาศัยถาวรในสังคมก็ได้
พรุ่งนี้: "เศรษฐกิจใหม่" หลังโควิดจะเป็นอย่างไร?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |