เหนือ อีสานระทม ฝนถล่มหนักก่ออุทกภัยใน 8 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 1 ศพ น่านเกิดน้ำป่าหลากหนักสุดใน อ.เวียงสา 700 ครอบครัวเดือดร้อนหนัก บ้านบางหลังจมน้ำกว่า 2 เมตร ส่วนที่สุโขทัย น้ำเหนือทะลักลงแม่น้ำยมเซาะพนังขาด เร่งช่วย 200 ครัวเรือน
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยเรื่อง "ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทยตอนบน" ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2563 ความว่า ร่องมรสุมกำลังแรงที่พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางพื้นที่
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนัก มีดังนี้ ในวันที่ 23 สิงหาคม 2563 ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ชัยภูมิ และขอนแก่น ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออก : จังหวัดสระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
ขณะที่ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด รวม 25 อำเภอ 88 ตำบล 382 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,858 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ได้แก่ จ.น่าน เกิดน้ำไหลหลาก ในพื้นที่ 6 อำเภอ คือ อ.เมือง เฉลิมพระเกียรติ เวียงสา ภูเพียง สันติสุข และนาน้อย ประชาชนได้รับผลกระทบ 960 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย, จ.แพร่ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง ร้องกวาง สูงเม่น สอง ลอง หนองม่วงไข่ วังชิ้น และเด่นชัย ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,585 ครัวเรือน, จ.เชียงใหม่ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ อ.แม่ออน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน, จ.ลำปาง เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ อ.เมืองปาน, จ.พะเยา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ อ.เชียงม่วน ประชาชนได้รับผลกระทบ 124 ครัวเรือน, จ.อุตรดิตถ์ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง ท่าปลา และพิชัย ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,179 ครัวเรือน, จ.ลำพูน เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ อ.บ้านธิ, จ.แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง ปางมะผ้า แม่ลาน้อย และขุนยวม ขณะที่เกิดดินสไลด์ใน จ.แม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ อ.เมือง ทั้งนี้ ปภ.และหลายหน่วย
งานได้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่เมื่อวันอาทิตย์ เกิดดินสไลด์ทับเส้นทางถนนบ้านดงสามหมื่น-บ้านแม่แดดน้อย อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขจนเปิดใช้งานได้ตามปกติ นอกจากนี้ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมด้วย นางสุดาภรณ์ สงวนสัตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ ต.ทาเหนือ อ.แม่ออน ตรวจสอบเหตุฝนตกหนักจนทำให้ลำน้ำทาเกิดน้ำเซาะเป็นสาเหตุให้สะพานขาด โดย ผบต.ทาเหนือ ได้เร่งซ่อมแซมเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนกว่า 30 ครัวเรือน สามารถสัญจรเข้า-ออกหมู่บ้านได้ตามปกติก่อน จากนั้นจะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสะพานคอนกรีตถาวรต่อไป
ลำพูน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ.ลำพูน ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์วาตภัยและดินโคลนถล่ม โดยนายพงศ์รัตน์เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในหลายพื้นที่ได้เกิดอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงกำชับให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามแนวทางแผนเผชิญเหตุ ตั้งแต่การแจ้งเตือนภัย การตรวจสอบและเสริมความมั่นคงแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับคันกั้นน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ การให้ความช่วยเหลือประชาชน
ตาก ฝนตกหนักตลอดคืนวันเสาร์ ทำให้ระดับน้ำลำห้วยแม่สอดเพิ่มสูงขึ้น น้ำกัดเซาะริมตลิ่งพังและยุบตัวลง ลึกกว่า 5 เมตร ยาวกว่า 100 เมตร จนทำให้บ้านของนางพัชณี พรมรัตน์ อายุ 63 ปี เลขที่ 208/1 ถนนอินทรคีรี ต.แม่สอด อ.แม่สอด หลังวัดมณีไพรสณฑ์ ได้รับความเสียหาย เสาบ้านด้านหลังบ้านดินเกิดทรุดตัวเหลือแต่เสา ก่อนที่บ้านจะพังทลายไปทั้งหลัง แต่นางพัชณีไม่ได้รับอันตราย
พ.อ.ประสาน เห็นประเสริฐ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด สั่งการให้ ร.อ.ศาศวัต สัตยพงษ์ ผู้บังคับกองร้อยเครื่องยิงหนัก ฉก.ร.4 นำกำลังทหารเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่หมู่ 6 บ้านแม่กุใต้ ต.แม่กุ อ.แม่สอด พร้อมเฝ้าระวังเหตุการณ์ ก่อนที่ฝ่ายปกครองจะเร่งสำรวจความเสียหายต่อไป
น่าน สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเวียงสา หลายหมู่บ้านยังไม่คลี่คลาย ระดับน้ำยังคงสูง 1-2 เมตร ทั้งหมู่บ้านต้นหนุน หมู่ 5 บ้านดอนแท่น หมู่ 2 และ 14 บ้านหนอง หมู่ 9 ต.กลางเวียง และบ้านน้ำหลง หมู่ 3 ต.เวียงสา ซึ่งหลายหน่วยงานยังต้องใช้เรือท้องแบนในการลำเลียงอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ขณะที่ พันโทบัณฑิต ชาวกัณหา ผู้บังคับหน่วยกองพันทหารม้าที่ 15 กรมทหารม้าที่ 2 นำกำลังพล พร้อมประสานรถบรรทุกน้ำจากเทศบาลตำบลกลางเวียง เร่งช่วยเหลือชาวบ้านปงสนุก หมู่ 1 ต.ปงสนุก อ.เวียงสา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ถูกน้ำป่าไหลหลาก มีเศษซากต้นไม้และวัชพืช รวมทั้งดินโคลนดินเลนทับถมตามบ้านเรือนและถนนในหมู่บ้าน
มีรายงานว่า พล.ต.ต.สัณห์ โพธิ์รักษา ผบก.ภ.จว.น่าน และคณะ ลงเรือท้องแบนสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยบ้านดอนแท่น หมู่ 2 และหมู่ 14 ซึ่งน้ำจากลำน้ำสา และลำน้ำน่าน ได้เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้าง มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 700 ครัวเรือน บางหลังน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ประชาชนที่มีบ้าน 2 ชั้น ต้องอาศัยอยู่ชั้น 2 ส่วนบ้านชั้นเดียวประชาชนต้องอพยพออกไปอาศัยชั่วคราวที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้อพยพอำเภอเวียงสา ตั้งอยู่ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงสา
สำหรับ อ.เวียงสา ประสบปัญหาน้ำท่วมมากที่สุดในครั้งนี้ ทั้งอำเภอมีผู้ประสบภัยกว่าพันครัวเรือน ประชากรกว่า 3,000 คน ได้รับความเดือดร้อน ครอบคลุมพื้นที่ 13 หมู่บ้าน 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.ไหล่น่าน กลางเวียง ปงสนุก และขึ่ง
สุโขทัย มีรายงานว่า ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลบ่าเข้าสู่แม่น้ำยมจาก อ.วังชิ้น จ.แพร่ ได้ไหลมาถึงจังหวัดสุโขทัยอย่างรวดเร็วหลังฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทั้ง จ.แพร่ น่าน และสุโขทัย มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดตั้งแต่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก สู่ อ.เมือง กระแสน้ำในน้ำแม่ยมมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกัดเซาะถนนริมแม่น้ำยมที่เป็นคันดิน ซึ่งเป็นพื้นที่กำลังก่อสร้างพนังกั้นแม่น้ำยม ระยะทางประมาณ 1,500 เมตร บางจุดเกิดพังเสียหาย น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่หมู่ 1 บ้านวังหิน และพื้นที่หมู่ 7 บ้านบางสงค์ ต.ปากแคว อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายกว่า 200 หลังคาเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่ต่ำกว่า 400 คน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นเสียหาย 1,500 ไร่
ต่อมา นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผวจ.สุโขทัย นำคณะตรวจสอบจุดที่ถูกน้ำกัดเซาะถนนริมแม่น้ำยม และเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน พบว่าน้ำกัดเซาะถนนบริเวณนี้รวม 3 จุด พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ขณะที่โยธาธิการผังเมือง ปภ. และส่วนท้องถิ่น เร่งแก้ไขจุดที่เสียหายขนย้ายประชาชนในที่เสี่ยงออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน
พิษณุโลก นายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.โครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ.แพร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้น โดยที่สถานี Y.1C บริเวณสะพานบ้านน้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ วัดปริมาณน้ำไหลผ่านได้ สูงสุด 1,252 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (23 ส.ค.63 เวลา 02.00 น.) กรมชลประทานคาดการณ์ว่าน้ำจะเดินทางถึงสถานีวัดน้ำ Y.14A อ.ศรีสัชนาลัย สุโขทัย ในเกณฑ์สูงสุดวันที่ 23 ส.ค.63 ในช่วงเวลาประมาณ 08.00-10.00 น. ที่ระดับ 9.30-9.35 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 1,050-1,060 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่าน Y.14A เมื่อเวลา 05.00 น. วัดได้ 973.60 ลบ.ม/วินาที
เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อการเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยมบริเวณเหนือประตูระบายน้ำ (ปตร.) หาดสะพานจันทร์ ด้วยการผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าสู่คลองหกบาท พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ และควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย ควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำยมไม่ให้เกิดผลกระทบจากภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ได้แก่ ปตร.วังสะตือ, คลองผันน้ำแม่น้ำยม-แม่น้ำน่าน เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา จ.แม่ฮ่องสอน ประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ เกรงว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยว
ที่สำนักชลประทานที่ 5 อุดรธานี นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |