โวเลิกพึ่งพา'ชินวัตร' นปช.ฟุ้งอุดมการณ์ฝังลึกเข้าสู่ยุคการเมือง2พรรค


เพิ่มเพื่อน    

“ประวิตร-ดอน” ประสานเสียงยังไม่รู้ “ยิ่งลักษณ์” ขอลี้ภัย รองโฆษก อสส.ชี้หากปูได้สถานะจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นรายแรกของไทยซึ่งไม่ได้เป็นภาคียูเอ็นเรื่องนี้ “บิ๊กป้อม” ลั่นไม่เดินตามรอย “บิ๊กตู่” ยอมรับเป็นนักการเมือง ประกาศปรองดองคนละส่วนกับเลือกตั้ง “นปช.” โวเลิกพึ่งพิงตระกูลชินวัตร โอ่เข้าสู่ยุค 2 พรรคการเมืองสู้เรื่องอุดมการณ์ “ไพบูลย์” ย้ำให้ลุงตู่วางตัวเป็นกลาง รอเทียบเชิญนั่ง “นายกฯ คนนอก”
เมื่อวันจันทร์ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำคุก 5 ปี ในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ไม่ระงับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) พำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรและอยู่ระหว่างทำเรื่องขอลี้ภัย
โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) กล่าวว่ายังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียด ทราบจากสื่อมวลชนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่อังกฤษ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงการต่างประเทศก็ต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)  จะเชิญนายศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือไปป์ บุตรชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์มาให้ข้อมูล พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ทราบ อย่านำเรื่องของคนอื่นมาถาม ส่วนที่นักการเมืองเดินทางไปพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ตนก็ยังไม่รู้ว่าใครไปบ้าง ฝ่ายความมั่นคงยังไม่ได้รายงานมา
“ไม่ทราบว่าการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาปรากฏตัวนั้นเป็นการแสดงสัญลักษณ์หรือไม่ ส่วนอำนาจในการติดตามตัวก็ต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมาย” พล.อ.ประวิตรกล่าว
ถามว่าหากอังกฤษให้สถานะผู้ลี้ภัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไทยจะแสดงจุดยืนอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าเรื่องยังไม่ถึงตอนนั้นก็ขอไว้ก่อน คิดว่าไม่เป็นอะไรเพราะเราก็ดำเนินการตามขั้นตอนของเรา 
เมื่อถามว่า คสช.เชื่อใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ว่าจะไม่เคลื่อนไหวให้เกิดความขัดแย้ง พล.อ.ประวิตรตอบทันทีว่า “คิดว่าไม่มีอะไร ก็ผมอยู่อย่างนี้จะมีอะไร”
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าวเช่นกันว่ายังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้
ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามในเรื่องมองประเด็นนี้อย่างไรสั้นๆ ว่า “ไม่มอง”
'ยิ่งลักษณ์' รายแรก
ด้านนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เผยว่า อังกฤษยังไม่ประสานเรื่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์มาที่สำนักงาน อสส. และหากมีการขอลี้ภัยจริงก็เป็นขั้นตอนภายในของอังกฤษที่จะใช้ดุลยพินิจ ส่วนความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเข้าเกณฑ์การลี้ภัยหรือไม่ก็เป็นอำนาจของอังกฤษพิจารณาเช่นกัน
"ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้นำคนไหนของไทยลี้ภัยไปยังอังกฤษ ถ้าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอลี้ภัยจริงจะถือเป็นรายแรกของประเทศ รวมถึงก็ยังไม่เคยมีบุคคลใดมาขอลี้ภัยที่ไทย" นายธรัมพ์ระบุ
นายธรัมพ์ยังอธิบายว่า หลักเกณฑ์การยื่นคำขอลี้ภัยในอังกฤษต้องมีเหตุผลสำคัญ ว่าการไม่สามารถเดินทางกลับประเทศของตนเองได้เพราะมีภัยคุกคาม เกรงกลัวถูกทรมาน ข่มเหง หรือมีพฤติการณ์ให้เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเป็นมูลเหตุจากเรื่องต่างๆ  อาทิ เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือสิ่งอื่นใดที่จะทำให้ผู้ยื่นคำขอลี้ภัย รวมถึงผู้ร้องขอไม่ได้ทำความผิดอาญาอย่างร้ายแรง เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และปล้นฆ่า ซึ่งไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติปี 2494 และไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพของผู้อพยพและผู้แสวงหาลี้ภัย
วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
จากนั้นเวลา 11.15 น. พล.อ.ประวิตรแถลงว่า ที่ประชุมได้หารือถึงเรื่องการปฏิบัติว่าภายใน 1 ปีนี้จะสร้างความปรองดองให้ประชาชนอย่างไร เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติ ซึ่งเราพยายามไม่ให้เกิดการแบ่งสีแบ่งพวก และยืนยันว่าการสร้างความปรองดองไม่ได้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่เป็นการทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีกเหมือนเช่นอดีต ขณะที่การเลือกตั้งก็เป็นเรื่องของการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกัน 
ปรองดองไม่เกี่ยวเลือกตั้ง
เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้อย่างไร ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศชัดเจนว่าเป็นนักการเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าเป็นเรื่องของนายกฯ แต่ในส่วนของตนเองดำเนินการเรื่องสร้างความสามัคคีปรองดอง จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องของนายกฯ ดังนั้นการที่นายกฯ ประกาศเป็นนักการเมืองจะไม่ส่งผลต่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง
ถามต่อว่าหากปรองดองไม่สำเร็จจะทำอย่างไรต่อไป พล.อ.ประวิตรย้ำว่าเราทำสำเร็จอยู่แล้ว เพราะตอนนี้ประเทศมีความสงบและสันติ เราต้องทำให้ประชาชนรับรู้และรับทราบ แต่จะไปบังคับเขาไม่ได้ 
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห.ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ ระบุว่าความขัดแย้งทางสังคมถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการปรองดองไม่ใช่เรื่องใหม่ ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ แต่ต้องอยู่ในวิถีทางประชาธิปไตยที่ใช้ระบบรัฐสภา และยอมรับด้วยกติกาและเสียงข้างมากในสภา  ซึ่งบทเรียนการทำงานทางการเมืองที่ผ่านมา ที่ไม่ยอมรับกติกา มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง มีการทุจริต หรือใช้วาทกรรมสร้างความโกรธเกลียด ปลุกเร้าประชาชน เหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก และเชื่อมั่นว่าประชาชนยอมรับไม่ได้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือหรือปรับความเคยชิน หรือลดทอนอำนาจส่วนตน แล้วยึดมั่นในผลประโยชน์ส่วนรวมให้มากขึ้น ย้ำว่าแนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางในการลดความขัดแย้ง และไม่ไปสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง
     “เหตุที่ต้องแยกเรื่องปรองดองกับการเลือกตั้งออกจากกัน เพราะไม่อยากเอาเรื่องการเมืองมาผสม  เพราะถ้าการเมืองไม่ปรองดองก็เป็นเรื่องของการเมือง เราต้องการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนเพื่อให้อยู่กันอย่างสงบสุข ซึ่งผลของการปรองดองก็จะสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการเลือกตั้งที่สงบเรียบร้อย และเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีความขัดแย้งเหมือนกับอดีตมากกว่า ถือว่าเป็นผลพวงแต่ไม่อยากให้โยงกัน” พล.ท.คงชีพระบุ
ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างมอบโอวาทแก่เยาวชนดีเด่นที่ทำเนียบรัฐบาลว่า การเข้าสู่การเมืองเราต้องทำใหม่ทั้งหมด เอาคนที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยในโลกยุคศตวรรษที่ 21 เราต้องมีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน อย่าไปรังเกียจเรื่องการเมือง  เราคือการเมือง ทุกคนมีส่วนร่วมการเมืองอยู่แล้ว ในเรื่องของการเลือกตั้ง อยากได้รัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล นักการเมืองดีๆ ก็มีอยู่ แต่เราจำเป็นที่จะต้องสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ รุ่นเก่าก็อายุมากแล้วแต่ก็มีประสบการณ์ ต้องเข้าใจในประเด็นเหล่านี้
ป้อมยันไม่ใช่นักการเมือง
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตัวเป็นนักการเมืองว่า ในส่วนของตนเองนั้นยืนยันว่าไม่ใช่นักการเมือง แต่เข้ามาทำงานการเมือง และไม่ใช่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะไม่คิดว่าจะลงเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า หากนายกฯ เป็นนักการเมืองจะสนับสนุนหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าก็จะสนับสนุนตลอด ทำไมล่ะจะสนับสนุนไม่ได้หรือ แต่ขอย้ำว่าตนเองจะไม่เปลี่ยนสถานะเป็นนักการเมือง เมื่อถามอีกว่าทำไมนายกฯ ถึงประกาศเป็นนักการเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าต้องไปถามนายกฯ อย่ามาถามตนเอง และก็ไม่ได้พูดคุยกับนายกฯ ในเรื่องนี้ด้วย
    ที่บ้านพักสวนรื่นฤดี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรองนายกฯ และ รมว.กลาโหมเปิดบ้านให้เข้าร่วมอวยพรวันเกิดครบ 81 ปี โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองปี 2561 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งปีนี้ ก็คิดว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนที่จะตั้งพรรคทหารขึ้นมานั้นยังไม่ทราบข่าว และยังไม่มีใครมาคุยเรื่องนี้ คิดว่าไม่จำเป็น ถ้าใครจะเป็นนายกฯ คนต่อไปต้องมีเสียงสนับสนุน และมีกองหนุนตามที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษได้กล่าวไว้ ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคทหาร เพียงแต่อย่าปล่อยให้เสียงสนับสนุนตกไปอยู่กับอีกฝ่ายก็แล้วกัน
“ผมสนับสนุนท่านนายกฯ เพราะท่านเป็นคนดีและเคยทำงานร่วมกัน ซึ่งท่านเป็นคนขยันและมีความซื่อสัตย์ มีความจริงใจในการทำงานมาก ส่วนผมยืนยันว่าไม่เล่นการเมืองอีกแล้ว เพราะอายุมาก  จะขอให้การสนับสนุนเป็นเบื้องหลัง ส่วนจะมีพรรคการเมืองชักชวนนั้นต้องขอดูก่อน แต่คงไม่ลงเต็มตัว  ขอเป็นแค่ที่ปรึกษาเท่านั้น” พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าว
    สำหรับกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทยจุดประเด็นให้พรรคการเมืองทุกพรรคจับมือประกาศจุดยืนไม่เอานายกฯ คนนอกนั้น นายนิสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน และผู้อำนวยการโรงเรียน นปช.แดงทั้งแผ่นดินกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองอยู่แล้ว ส่วนจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่นั้นต้องดูในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่จากประวัติศาสตร์การเมือง หลังรัฐประหารคณะที่ยึดอำนาจพยายามสร้างกลุ่มการเมืองขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จ 
      เมื่อถามว่าแนวร่วมเสื้อแดงยังยึดมั่นต่อแนวทางพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายนิสิตกล่าวว่าวันนี้ประชาชนยึด 2 หลักชัดเจน คือ 1.เลือกระหว่างประชาธิปไตยหรือเผด็จการ 2.ประชาชนได้ประสบการณ์จากรัฐประหารในช่วงสิบปีที่ผ่านมา 2 ครั้ง ยิ่งเปรียบเทียบได้ว่าการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจได้ แนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นคือประชาธิปไตย แม้อาจจะเลวร้ายก็ตามแต่ยังเป็นระบอบทำให้มีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้
โวเลิกพึ่งพา 'ชินวัตร'
      ถามถึงกระแสข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ลี้ภัยในอังกฤษจะส่งผลมาถึงพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายนิสิตกล่าวว่าไม่น่าเกี่ยวกัน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นพวกเราทราบข่าวท่านไปอยู่ที่โน่นที่นี่ แต่ข้อเท็จจริงไม่ทราบว่าพำนักอยู่ที่ใด ไม่มีใครรู้ มีแต่ข่าวลือว่าอยู่ดูไบบ้าง อังกฤษบ้าง รวมถึงลือกันไปว่าได้พาสปอร์ตจากบางประเทศแล้ว ก็ลือกันไป ไม่มีใครสามารถยืนยันได้
     รุกถามว่าในการเลือกตั้งต่อไป พรรคยังจำเป็นต้องพึ่งพาชินวัตรหรือไม่ นายนิสิตกล่าวว่า วันนี้ทางการเมืองเกิดระบบ 2 พรรคฝังรากลึกในสังคมไทยแล้ว จะมีหรือไม่มีตระกูลชินวัตรชัดเจนไปแล้ว ชินวัตรจะอยู่หรือไม่ แต่รากฐานแนวคิดอุดมการณ์มันลึกลงไปแล้ว เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะยังจะมีหรือไม่มีนายชวน นายอภิสิทธิ์ แต่ลึกลงไปแล้วพรรคการเมืองเพิ่งมีประชาชนเป็นฐานที่มั่นหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล การพัฒนาการเมืองนานๆ เข้าเป็นเรื่องของความเชื่อ อุดมการณ์ ความศรัทธาตามที่ได้ต่อสู้ สัมผัส เสียสละร่วมกันมา เกิดเป็นอุดมการณ์ร่วมกัน ที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย มีฐานที่มั่นตัวเองแน่นอน ไม่เหมือนพรรคการเมืองอื่นที่มีฐานที่มั่นลอยๆ 
      “ท่านทักษิณแม้มีส่วนที่สร้างพรรคมา ทำให้พรรคเข้มแข็ง พอสร้างเสร็จลงหลักปักฐาน เป็นเรื่องอุดมการณ์ ความเชื่อมั่น เรื่องศรัทธา เป็นการสานต่อ พรรคประชาธิปัตย์ก็สร้างมาหลายรุ่น มีฐานที่มั่นภาคใต้ ใน กทม. พรรคเพื่อไทยมีฐานที่มั่นภาคเหนือ อีสาน และกลางบ้าง ดังนั้นการเมืองต่อไปไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับบุคคล แต่เกี่ยวกับพัฒนาการมวลสมาชิกพรรคการเมือง” นายนิสิตกล่าว   
      นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าเป็นนักการเมืองแล้ว ก็ควรเปิดกว้างเสรีและเป็นธรรมต่อทุกพรรค อุปมาเหมือนเล่นฟุตบอลต้องแยกชัดเจนระหว่างกรรมการกับผู้เล่น ถ้ากรรมการจะมาเป็นผู้เล่นก็ไม่ควรเป็นผู้ออกกฎตัดสินเกม ใช่หรือไม่ มิฉะนั้นมันก็ไม่เป็นธรรมต่อผู้เล่นคนอื่น คนคนเดียวจึงไม่ควรเป็นทั้งกรรมการและผู้เล่นในเวลาเดียวกัน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปว่า ตอนนี้รวบรวมแล้วได้เกิน 500 คน แต่อยากรวบรวมให้ได้ 1,000 คน โดยวันที่ 1 มี.ค.นี้พร้อมยื่นรายละเอียดจัดตั้ง แต่ยืนยันในหลักการก่อนว่าพรรคจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความสามารถ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม
แนะบิ๊กตู่รอเทียบเชิญ
“สิ่งที่สำคัญคือการรักษาความเป็นกลาง ท่านยังต้องอยู่ในฐานะนายกฯ และหัวหน้า คสช. ก่อนการเลือกตั้งท่านไม่ควรอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรค ควรเป็นกลาง จากนั้นหลังการเลือกตั้งให้พรรคการเมืองแข่งขันกันแล้ว เมื่อเราเข้าไปอยู่ในสภาได้แล้ว ก็จะไปรวมสมาชิก ส.ส.-ส.ว.กันให้ได้ 375 คน เพื่อรอสนับสนุนท่าน เมื่อเรารวมกันได้ 375 คน อีกข้างหนึ่งก็ไม่สามารถรวมกันเสนอตั้งใครมาเป็นนายกฯ ได้“  นายไพบูลย์กล่าว
       นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวประเด็นนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถเป็นกลางได้เลย เพราะยังคงมีอำนาจและใช้อำนาจในฐานะนายกฯ และหัวหน้า คสช.ในการเดินทางไปต่างจังหวัดพบปะนักการเมืองต่างๆ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์เป็นกลางไม่ได้แน่นอน และอยากบอกนายไพบูลย์ว่าอย่าฝันให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นกลางเลย นายไพบูลย์ต้องเข้าใจธรรมชาติของการเมืองที่ไม่มีเป็นกลาง
      “ยินดีที่นายไพบูลย์ประกาศชัดตั้งพรรคการเมืองและสนับสนุนนายกฯ คนนอก ผมเองก็ชัดเจนว่าไม่เอานายกฯ คนนอก ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอยากให้พรรคนายไพบูลย์พูดให้ชัดเจนไปเลยในการหาเสียงทุกเวทีว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แล้วถึงตอนนั้นก็มานับเสียงกันดูว่าเป็นอย่างไร”  นายสมคิดกล่าว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการต้องถาม กรณีความคืบหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ว่า เบื้องต้นทีมกฎหมายของพรรคประชุม และจะยกร่างคำร้อง และยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมาย ปชป.แถลงภายหลังการประชุมทีมกฎหมายว่า มีความเห็นเบื้องต้นให้ควรส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยในช่วงบ่ายวันที่ 9 ม.ค.จะนำข้อสรุปของทีมกฎหมายเข้าหารือกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อตัดสินใจว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ โดยเบื้องต้นแล้วคิดไว้ 2 ช่องทาง คือ สามารถยื่นในนามพรรคผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามช่องทางปกติ และยื่นส่วนบุคคลต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ในกรณีของสมาชิกพรรคที่ถูกละเมิดสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้อยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะกระทบคนหมู่มาก และส่วนตัวแล้วคิดว่าจะใช้สิทธิส่วนบุคคลยื่นโดยตรงด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"