เมืองเก่าอุทัยธานี 1 ใน 3 เมืองเป้าหมายประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าเพิ่มเติม
ไทยมีการประกาศขอบเขตเมืองเก่าแล้ว 32 เมือง กระจายทุกภาค และยังมีเมืองเก่าที่ทรงคุณค่าต่อคิวรอการประกาศขอบเขตว่าเป็นเมืองเก่าอีกหลายเมือง ทั้งนี้ เพื่อลดการทำลายคุณค่าเมืองเก่า ที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ ในทุกๆ วัน และยังเป็นการหาแนวทางร่วมกันผลักดันให้เมืองเก่าทำหน้าที่อุ้มชูสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของผู้คนหรือชุมชนในเขตพื้นที่นั้นๆ ด้วย
การคุกคามเมืองเก่านั้นมีทุกรูปแบบ ทั้งการเป็นเมืองไร้การวางแผน ถูกใช้เพื่อธุรกิจอย่างเกินพอดี การท่องเที่ยวที่ล้นเกิน หรือมีการเร่งให้มีการรื้อถอนอาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีการก่อสร้างใหม่ๆ ที่ลดทอนเอกลักษณ์เมืองเก่าลง ตลอดจนมีการสร้างขยะมากกว่าปกติ การจราจรแออัด ก่อเกิดมลพิษอากาศ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่เว้นแม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเมืองเก่าด้วยเช่นกัน
เมืองเก่าฉะเชิงเทรา ควรค่าแก่การอนุรักษ์และพัฒนา
ในเร็วๆ นี้ จะมีการประชุมใหญ่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าทั้ง 32 เมือง ชุมชนท้องถิ่นในเมืองเก่า และ 4 เมืองเป้าหมาย ภายใต้ชื่อ "เชื่อมเมืองเก่าสู่โอกาส : การสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาสู่เมืองเก่าวิถีใหม่และความยั่งยืน" ในวันที่ 31 สิงหาคม–1 กันยายนนี้ ณ ห้องประชุมทรูไอคอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เวทีนี้มีผู้เข้าประชุมกว่า 500 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยเปิดโอกาสให้ข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า รวมทั้งเสนอปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เพื่อนำข้อเสนอแนะเป็นแนวทางผลักดันให้แต่ละเมืองได้ดำเนินการตามกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าให้ได้ผลเป็นรูปธรรม โดยจัดประชุมตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า มิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ สผ.ต้องดูแลเมืองเก่า นอกจากด้านมลพิษและดำเนินการตามวาระ Green Agenda ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ยังมีมิติสิ่งแวดล้อมสำคัญเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก ที่จะต้องส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่สำคัญระดับชาติที่ สผ.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแล คือ พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า สำหรับพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ คนส่วนใหญ่ทราบความสำคัญกันดี แต่เรื่องเมืองเก่าต้องขับเคลื่อนมากขึ้น
ขณะนี้มีเมืองเก่าที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าแล้ว 32 เมือง และอยู่ระหว่างการพิจารณาประกาศ 1 เมือง คือ เมืองเก่าร้อยเอ็ด นอกจากนี้ มีเมืองเป้าหมายที่ต้องประกาศเพิ่มเติมอีก 3 เมือง ได้แก่ เมืองอุทัยธานี เมืองตรัง และเมืองฉะเชิงเทรา งานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่านับเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นมรดกของชาติแล้ว ยังเป็นต้นทุนทางสังคม เศรษฐกิจ ที่สำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. ชวนระดมสมองหาทิศทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเ่ก่า
การวางแผนพัฒนาเมืองเก่า เพื่อรับมือปัญหาที่รุมเร้าหลายด้าน อาจารย์ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าฯ กล่าวว่า การเชื่อมเมืองเก่าสู่โอกาสเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะต้องสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาสู่เมืองเก่าวิถีใหม่ วิสัยทัศน์โครงการจะปลดภาพลักษณ์เมืองเก่าที่คนมองเป็นภาระ ต้องลงเงินจำนวนมากเพื่อดูแลรักษา ให้เป็นเมืองเก่าที่ศักยภาพ สร้างงาน สร้างรายได้ และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ทุกฝ่ายร่วมขับเคลื่อน ไม่ใช่ภาครัฐมีบทบาทขับเคลื่อนฝ่ายเดียว
“ เมืองเก่าต้องกินได้ ยาไส้ ยาใจ หากเมืองเก่าประสบปัญหาเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ หรือวิกฤติโควิด จะลุกขึ้นมาแข็งแรงเหมือนเดิมได้อย่างไร เรามองเมืองเก่าแบบมีพลวัต มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ต้องสร้างความเคลื่อนไหวให้เมืองมีชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ดึงผู้คนร่วมอนุรักษ์พัฒนาเมืองให้ดี มีกรณีตัวอย่างเมืองเก่าเชียงใหม่ ก่อนโควิดนักท่องเที่ยวล้น เดินกันขวักไขว่ ตอนนี้กลายเป็นเมืองร้าง ผู้ประกอบการ ร้านค้า ลูกจ้างรายวันเดือดร้อนจากการเศรษฐกิจตกต่ำ ท่องเที่ยวหยุดชะงัก กลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาปรับพื้นที่รกร้าง สร้างพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ ทำสวนผักคนเมือง ช่วยจุนเจือผู้คน สร้างกลไกจ้างงาน และจะต่อยอดให้เกิดการรวมกลุ่มต่อไป อีกมิติสร้างอากาศสะอาดให้เมือง พื้นที่เมืองเก่าต้องมีบทบาทประคองผู้คนฝ่าวิกฤต" อาจารย์ ดร.เกรียงไกร กล่าว
อาจารย์ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ หน.โครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าฯ
นอกจากนี้การเชื่อมเมืองเก่าสู่โอกาสเป็นอีกประเด็นจะชวนขบคิด หัวหน้าโครงการกล่าวว่า เมืองเก่าเป็นต้นทุนสำคัญ โลกหลังโควิดทำให้คนกลับไปอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน เมืองเก่าที่เคยเงียบครึกครื้นขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศในพื้นที่เมืองเก่าเติบโตขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะกลับมาปีหน้า ถ้าไม่ระบาดซ้ำ ฉะนั้น มีการมองเมืองเก่ากับทิศทางการท่องเที่ยว นี่คือโอกาสและความท้าทาย ซึ่งเรามีบทเรียนจากหลายเมืองเก่าที่เน้นท่องเที่ยวเชิงปริมาณ ไร้การวางแผน กระทบระบบนิเวศ มีการแย่งชิงทรัพยากรและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มีจำกัดจากคนในพื้นที่เพื่อบริการนักท่องเที่ยว สุดท้ายกระทบพื้นที่รุนแรง จึงจำเป็นต้องการกลไกบริหารจัดการเมืองเก่าบนฐานอนุรักษ์และพัฒนาที่สมดุล ช่วยสภาพแวดล้อมเมืองเก่าไม่ให้เสื่อมโทรมลง
“การพัฒนาเมืองเก่าต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชน ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งคนรุ่นใหม่เป็นอีกพลังสำคัญ ชวนคิด ตั้งคำถาม และหาโอกาสจากเมืองเก่าในรูปแบบต่างๆ เมืองเก่าไม่ใช่เรื่องของอดีต แต่คือต้นทุนการเดินก้าวไปสู่อนาคต พัฒนาเมืองเก่าให้เป็นมรดกวัฒนธรรมสืบทอดต่อไป นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาครัฐเรื่องการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำเป็นต้องมีผังเมืองเฉพาะไว้ใช้พัฒนากิจการที่เกี่ยวข้องในเมือง เป็นประโยชน์ในการสร้างเมืองใหม่ หรือการฟื้นฟูเมือง มีการควบคุมกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่เมืองเก่า แต่กลไกกฎหมายไม่ได้ดีที่สุดในการป้องกันคุณค่า ต้องสร้างแรงจูงใจพัฒนาเมืองเก่าแบบแนวทางการมีส่วนร่วม รวมถึงมาตรการภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สำหรับในไทยต้องมีการศึกษาแนวทางที่เหมาะสม หารือความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และขับเคลื่อนสู่การวางนโยบายของชาติ" อาจารย์ ดร.เกรียงไกรกล่าว
สำหรับการประชุมวิชาการเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าที่ไอคอนสยาม มีหลายหัวข้อน่าสนใจ วันที่ 31 ส.ค. เวลา 10.45 น. ฟังการบรรยาย "การสื่อความหมายทางประวัติศาสตร์และมรดกเมืองในบริบทร่วมสมัย” ผ่านมุมมองท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่มีความรู้ ความสนใจด้านประวัติศาสตร์ เวลา 11.15 น. “เมืองเก่ากับทิศทางการท่องเที่ยว : โอกาส และความท้าทาย" โดยนายภราเดช พยัฆวิเชียร ประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานพื้นที่เมืองเก่า จากนั้นเวลา 13.00 น. หัวข้อ "เมืองเก่ากับโอกาสและความท้าทายในการวิจัยระดับพื้นที่” ปิดท้ายวันแรกกับเวทีเสวนา "ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจ หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า"
วันที่ 1 กันยายน เวลา 10.30 น. หัวข้อ "สองทศวรรษการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า” ต่อด้วย "จากเมืองเก่าสู่เมืองสร้างสรรค์ การต่อยอดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองเก่า ช่วงบ่ายโมงฟังโมเดลสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ฝ่าวิกฤติโควิด โดยศุภวุฒิ บุญมหาธนากร บริษัทสถาปนิกคนใจบ้าน และหัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง เมืองเก่าเชียงใหม่ ก่อนจะมาเจาะลึกแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดย ศ.ดร.วรรณศิลป์ พีรพันธุ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยการประชุมทั้งสองวันจะมีการสรุปประเด็นและนำมาสู่การวางแนวก้าวต่อไปของเมืองเก่า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |