ถกบ้านพักศาลวนในอ่าง NGOบี้ทุบทิ้งสถานเดียว


เพิ่มเพื่อน    

 

คณะทำงานถกรอบ 3 สางบ้านพักตุลาการ ชงประกาศเป็นเขตอุทยาน พร้อมหาพื้นที่ใหม่ให้ศาล  ภาคประชาสังคมไม่ยอม ลั่นต้องทุบทิ้ง! ขู่ไม่รื้อจบไม่สวย เตือนนายกฯ เตรียมรับมือม็อบได้เลย "บิ๊กป้อม"  ปัดงัด ม.44 แก้ปัญหา

    ที่สำนักงานโครงการชลประทานเชียงใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 เมษายน ว่าที่ร้อยตรียงยุทธ เรืองภัทรกุล ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่, นายศิริพงษ์ นำภา ป้องกันจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยตัวแทนจากโครงการชลประทานเชียงใหม่ ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มภาคประชาสังคม นำโดยนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ, ชมรมร่มบินเชียงใหม่, เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม, ภาคีคนฮักเจียงใหม่ ได้ร่วมกันประชุมเป็นครั้งที่ 3 เพื่อสรุปหาทางออกกรณีบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชิงดอยสุเทพ ที่ถูกชาวเชียงใหม่ต่อต้าน 
    ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้ทำหนังสือถึงศาลยุติธรรมส่วนกลาง เพื่อขอเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เกิดข้อพิพาท โดยขอเข้าพื้นที่ในช่วงเวลา 10.00 น. แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากศาลเรื่องการอนุมัติให้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ทางกลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าฯ และทางคณะกรรมการฯ ได้ทำหนังสือเข้าไปตรวจสอบ แต่ถูกปฏิเสธ 
        ต่อมาคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันออกอ่านแถลงการณ์มติของที่ประชุมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ จำนวน 6 หน่วยงาน ภาคประชาชน จำนวน 6 คน ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและมีความเห็นร่วมกันดังนี้ โดยความเห็นส่วนภาคประชาชน ได้มีความเห็นให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างเหนือแนวประสีแดงขึ้นไป โดยยึดเอาตามแนวเขตป่าดั้งเดิมเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นส่วนของบ้านพักอาศัย จำนวน 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง ที่รุกล้ำเข้าไป และเห็นควรให้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณารื้อถอน วิธีการ และการปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ตลอดจนข้อบังคับต่างๆ 
    ส่วนความเห็นร่วมของที่ประชุม ได้เห็นพ้องต้องกันในหลักการ มีทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้ 1.พื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมดอยสุเทพ มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่ เห็นควรนำพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มาบังคับใช้ 2.ให้รัฐบาลจัดสรรพื้นที่แห่งใหม่และงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างในราชการสำนักงานศาลยุติธรรมทดแทน เพราะถือว่าครั้งนี้ศาลเป็นผู้เสียผลประโยชน์มากที่สุด และไม่มีความผิด สิ่งนี้ต้องช่วยเหลือให้ศาลได้กลับคืนในสิทธิที่ทดแทนกัน 
    3.ในพื้นที่ส่วนที่สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ตามข้อ 1 ให้ส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เพื่อพิจารณาอนุญาตให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้เพื่อประกาศเป็นเขตอุทยาน หรือพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป และ 4.ให้มีการประกาศเป็นทางการต่อสาธารณะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อเป็นสัญญาประชาคมว่าจะไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุที่เป็นป่ารอยต่อ ตามแนวป้องกันระหว่างพื้นราบกับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย โดยจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติคลุมลงมาให้เป็นป่าผืนเดียวกันในที่สุด
    ทั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรียงยุทธได้แจ้งในที่ประชุมว่า ได้รายงานให้ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ทราบ และจะนำบันทึกการประชุมร่วมนี้เสนอต่อผู้ว่าฯ และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เพื่อเสนอไปยัง พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ภายในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ตามกรอบที่กำหนด ซึ่งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ได้แจ้งผ่านป้องกันจังหวัดเชียงใหม่ ว่าจะเชิญตัวแทนไปชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งโดยจะทำการนัดหมายในเร็วๆ นี้
    ทางด้านกลุ่มภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์ของกลุ่มแยกมาอีก 1 ชุด โดยเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้ระบุว่า "เหตุใดจึงต้องรื้อถอนบ้านพักศาลตุลาการ ภาค 5" มาโดยตลอด กล่าวคือ เพื่อลบรอยแผลบนผืนป่าแห่งนี้ออกไปเสีย คืนพื้นที่ป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ ไม่เพิ่มมลพิษซึ่งเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงที่แห่งนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติสูง ทั้งเรื่องไฟป่า น้ำป่า และดินสไลด์ เนื่องจากการก่อสร้างขวางลำห้วยถึง 3 สาย และที่สำคัญสุดคือ การกระทบต่อความรู้สึกของชาวล้านนาที่มีต่อดอยสุเทพ ดอยอันศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเรานับถือมาอย่างยาวนานเกินกว่าพันปี พวกเราจึงไม่มีวันที่จะยอมรับได้ เมื่อเกิดการกระทำที่ผิดจารีตประเพณี และความเชื่อของเรา ทั้งๆ ที่พวกเราต่างร่วมกันคัดค้านมาตั้งแต่ต้น มันคือความเจ็บปวดเหลือเกิน เมื่อหน่วยงานที่เราศรัทธามาตลอด กลับทำร้ายจิตใจ และก้าวล่วงต่อดอยสุเทพที่เราศรัทธายิ่งได้มากถึงขนาดนี้
    ขณะนี้นายกรัฐมนตรีคือที่พึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาอันเรื้อรังนี้ได้ โดยมีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทางคือ รื้อกับไม่รื้อ ถ้ารื้อ 1.ปัญหาจะจบ ชาวเชียงใหม่จะยุติการเรียกร้อง บ้านเมืองสงบ ปัญหาไม่บานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ลุกลามเกิดเป็นเรื่องใหญ่ในภายหน้า และเมื่อรื้อถอนไปจะทำให้มีบรรยากาศที่ดีในช่วงก่อนมีการเลือกตั้งนี้ 2.เมื่อมีการฟื้นฟูป่า แม้จะใช้เวลา แต่บาดแผลอันใหญ่และลึก ทั้งบาดแผลที่เป็นป่าแหว่ง และบาดแผลบนจิตใจของชาวเชียงใหม่ และคนไทยทั้งปวง จะค่อยๆ ลบเลือนไป 3.คนรุ่นนี้ คนรุ่นปัจจุบัน จะไม่ถูกประณามจากรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะได้สู้เพื่อดอยสุเทพ 4.ชาวเชียงใหม่ คนภาคเหนือ และคนไทยทั้งประเทศ จะเกิดความศรัทธาต่อนายกฯ ประยุทธ์ว่ามีหัวใจเป็นธรรม รักสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รักษาป่า ตามนโยบายที่เคยประกาศไว้ รวมทั้งเป็นผู้ที่จริงจังน้อมนำต่อพระราชดำรัสของในหลวงในเรื่องการรักษาป่า ดูแลป่า 
    5.ทุกคนมีความสุข win win แม้จะพบกับข้อยุ่งยากด้านกฎหมายบางประการ แต่เพื่อสิ่งที่ดีงามของประเทศโดยองค์รวม ปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้อย่างบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นในเวลาภาคหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้ทางเครือข่ายได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่คัดค้านบ้านพักตุลาการ เพื่อขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จำนวนเกือบ 50,000 รายชื่อ แนบนำเสนอ พร้อมกับมติของคณะกรรมการร่วมมาด้วยแล้ว
    "ถ้าไม่รื้อ โดยอ้างว่าเสียดายงบประมาณ จะเก็บไว้ทำศูนย์เรียนรู้ แสดงว่านายกฯ ไม่เข้าใจหัวอกชาวเชียงใหม่ ไม่เข้าใจศรัทธาของคนล้านนาที่มีต่อองค์พระบรมธาตุดอยสุเทพ และครูบาศรีวิชัย การเอาไปทำอย่างอื่นที่ประชาชนไม่อยากได้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด มีแต่ความสิ้นเปลือง และปัญหาใหญ่จะตามมา เพราะท่านอาจจะต้องเตรียมรับมือจากพลังประชาชนทั้งภาคเหนือ อันเป็นพลังบริสุทธิ์ที่มีต่อความเชื่อ ความศรัทธา ที่จะไม่ให้มีใครมาลบหลู่ดอยศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เรื่องนี้จะจบไม่สวย จะบานปลาย กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า บ้านเมืองที่เพิ่งกลับมาสงบร่มเย็น ก็จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย บาดหมาง ไม่รู้จักจบสิ้น บัดนี้อยู่ที่ท่านแล้วครับว่าจะเลือกทางไหน เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกฯ จะเข้าใจถึงเหตุผลอันละเอียดอ่อน ไตร่ตรอง มองเห็นปัญหาอย่างลึกซึ้งในทุกมิติสังคม เพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นผลดีต่อส่วนรวมได้อย่างแท้จริง" เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพระบุ
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงปัญหาบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ประชาชนยืนยันให้รื้อบ้านพักจำนวน 45 หลังว่า อะไรก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับกฎหมาย หากทำได้ก็ทำ โดยคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ได้ร่วมกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเหมาะสม เพราะการร้องเรียนสามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่ต้องไปพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการก่อสร้างอาคารแล้วสามารถรื้อหรือปลูกต้นไม้เพิ่ม หรือทำเป็นอุทยานได้หรือไม่ แต่ทุกฝ่ายต้องประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออก ส่วนที่ประชาชนยืนยันว่าต้องรื้อบ้านพักเท่านั้น เป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องว่าไปตามกระบวนการ แต่คงไม่ต้องใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา 
    "ส่วนราชการและภาคเอกชนต้องจัดประชุมร่วมกันและคิดให้ดี โดยคำนึงถึงกฎหมายบ้านเมือง จะผิดจะถูกยังไงก็ต้องพิจารณาการให้ดี" พล.อ.ประวิตรกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"