"วิทัย รัตนากร"ภารกิจผลัดใบออมสิน ปรับลุคส์มุ่งสู่บทบาทธนาคารเพื่อสังคม


เพิ่มเพื่อน    

      รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 สำหรับ “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 17 อีกหนึ่งคนที่เต็มไปด้วยความสามารถ กับผลงานที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในการเป็นหัวเรือใหญ่ของหลายหน่วยงาน และพาแต่ละหน่วยงานเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอ และวันนี้กับอีกบทบาท กับภารกิจท้าทายภายใต้สถานการณ์สุดหิน จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กลายมาเป็นโจทย์สำคัญสำหรับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ กับบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน อย่างเข้าถึง และเข้าใจ ซึ่งถือเป็นโจทย์การทำงานใหญ่ที่เรียกว่า ไม่ง่ายนัก!

      “วิทัย” เปิดใจถึงก้าวต่อไปของธนาคารออมสินหลังเข้าทำหน้าที่อย่างเป็นทางการว่า จะพาออมสินกลับสู่เส้นทางที่ควรจะเป็น นั่นคือ การเป็นธนาคารเพื่อสังคมแบบเต็มรูปแบบ (Social Bank) นั่นหมายถึง ต้องเป็นธนาคารที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือฐานราก ต่อยอดไปจนถึงการช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนั่นคือการต่อยอดไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งถือเป็นปัญหากับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

      หลังจากนี้ออมสินจะต้องปรับทิศทางของตัวเอง จากการเป็นธนาคารเพื่อการพาณิชย์รายย่อย มาสู่บทบาทของการเป็นธนาคารเพื่อช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประชาชนฐานรากเป็นหลัก นั่นคือภารกิจของออมสินหลังจากนี้ เน้นการทำงานที่ต้องทำได้จริง ทำแล้วเกิดผลจริงเป็นหลัก ด้วยเพราะการพาออมสินกลับมาสู่บทบาทการเป็นธนาคารเพื่อสังคม จะก่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งจากภายนอกและภายในองค์กรเอง ซึ่งตามแผนจะใช้เวลา 6 เดือนในการปรับธนาคารออมสินให้กลับมายืนหยัดเป็นธนาคารเพื่อสังคม

      การปรับทัพองค์กร ผลัดใบเข้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม นั่นหมายถึง การทบทวนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ธนาคารเคยดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้เน้นในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ดังนั้นการทบทวนก็เหมือนเป็นการปรับปรุงให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลังจากนี้มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคารได้มากขึ้น เช่น ลูกค้ากลุ่มบัตรเครดิต อาจมีการปรับเงื่อนไขขอสินเชื่อบัตรเครดิตที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีศักยภาพ ไม่ได้ลงไปเล่นรายย่อยมาเหมือนธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องกลับมาสู่จุดสมดุล

      ธนาคารออมสินหลังจากนี้จะไม่ยึดติดว่าจะต้องมีสินทรัพย์ สินเชื่อ หรือเงินฝากมากเป็นอันดับที่เท่าไหร่อีกแล้ว ผมไม่เน้นว่าทุกอย่างจะต้องใหญ่โต แต่จะเน้นเรื่องความแข็งแรง เน้นเรื่องคุณภาพ หากจำเป็นที่ออมสินจะต้องหดตัว ตัวเล็กลง หรือไม่โตบ้าง แต่มีสินทรัพย์ที่ดี มีคุณภาพ ก็เป็นทิศทางที่คิดว่าเหมาะสมที่จะต้องเดินไป งบประมาณที่เคยใช้ในบางเรื่อง เช่น เรื่องประชาสัมพันธ์ก็อาจจะต้องปรับลดลง งบประมาณที่ใช้ในกิจกรรมบันเทิง กีฬา ดนตรี หรืองบประมาณอะไรที่เกินความจำเป็น ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจของธนาคารก็ต้องตัดออก หรือเลือกทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปเน้นในการช่วยลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้เติบโตได้อย่างแข็งแรง

      ไม่เพียงภารกิจในการปรับบทบาทของ “ธนาคารออมสิน” ในการเดินหน้าในการเป็นธนาคารเพื่อสังคมเท่านั้น แต่โจทย์หินที่ท้าทายอย่าง “โควิด-19” ก็เป็นอีกภารกิจที่ออมสินต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง โดย “วิทัย” ระบุว่า มีลูกค้ารายย่อยของธนาคารได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อยู่ไม่น้อย ซึ่งธนาคารยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมามีการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ช่วยลูกค้า 3.1 ล้านราย มูลหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งพักชำระหนี้มาตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2563 โดยธนาคารจะขยายเวลาการพักชำระหนี้ให้ต่อถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2563 โดยครั้งนี้ให้ลูกค้ามีทางเลือกจะพักหรือไม่พักการชำระหนี้ก็ได้ หากเลือกพักชำระหนี้ต่อ ก็จะมีทางเลือกให้ว่าจะพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือจะจ่ายดอกเบี้ยพักชำระเงินต้น

      การเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าก็เพื่อต้องการให้ลูกค้าเห็นว่าการเลือกแต่ละทางเลือก ผลที่จะเกิดขึ้นตามมากับตัวลูกค้าเองจะเป็นอย่างไร ซึ่งลูกค้าของธนาคารออมสินเป็นรายย่อยที่ถือว่าค่อนข้างเปราะบาง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิด

      นอกจากนี้ยังมีโครงการสินเชื่อพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ วงเงินสินเชื่อรวม 2 หมื่นล้านบาท โดยจะปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยตามเงื่อนไข รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท และไม่เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ดำเนินการปล่อยกู้ไปแล้ว 1.15 ล้านราย วงเงิน 1.42 หมื่นล้านบาท และเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินก็ได้ดำเนินการปล่อยกู้เพิ่มเติมในส่วนวงเงินที่เหลือ แต่! มีการปรับเกณฑ์เพื่อปลดล็อกให้การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่ปล่อยกู้ไปแล้วประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ทั้งให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยต่อ ปล่อยให้นอนแบงก์ และปล่อยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทของธนาคารออมสินที่เดินเคียงข้างประชาชนในยุควิกฤติ

      โจทย์การทำงานที่ท้าทาย ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์กดดันเกือบทุกด้านในขณะนี้ ถือเป็นอีกเครื่องมือในการพิสูจน์ฝีมือและความสามารถของ “วิทัย รัตนากร” กับบทบาทของผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนปัจจุบัน!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"