ซัด‘รัฐบาลพรรคคสช.’ประยุทธ์นายกฯคนใน


เพิ่มเพื่อน    

  "ประยุทธ์" ญาติดีกับนักการเมือง ยันไม่รังเกียจ ชี้ส่วนใหญ่เป็นคนดี แบะท่าพร้อมทำงานร่วมกับทุกคนที่มีอุดมการณ์ "วิษณุ" ย้ำเดือน มิ.ย.นายกฯ จะมีความชัดเจน ขณะที่นักการเมืองรุมยำ คสช. เปลี่ยนบทจากกรรมการเป็นผู้เล่นตั้งพรรคในทำเนียบฯ “อนุทิน” ท้าลาออกตั้งพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง “จุรินทร์”เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "รัฐบาลพรรค คสช." ขณะที่ "จาตุรนต์" ฟันธง "บิ๊กตู่" เปลี่ยนแผนไปอยู่ 1 ใน 3 บัญชีพรรคการเมือง ส่งผลต้องดูด ส.ส.เพื่อรวมกับ ส.ว.ให้ได้เสียงเกิน 376 หวังโหวตให้ได้เป็นนายกฯ ก่อน "อนาคตใหม่" เชื่อ คสช.ไม่ขวางหลัง กกต.รับรอง 

     เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า "ขอย้ำอีกครั้งว่า ผมไม่ได้รังเกียจอะไรนักการเมือง พรรคการเมือง เพราะส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ผมไม่อาจยอมรับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ผู้ที่ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม หรือผู้ที่ต่อต้านอำนาจรัฐ และผมพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกคนที่มีอุดมการณ์รักชาติ และทำเพื่อความสุขของพี่น้องประชาชน" 
    "ผมมองว่าปัญหาไม่ได้หมายถึงความขัดแย้ง แต่ปัญหาคือจุดเริ่มต้นของความสามัคคี เพราะคนที่มีอุดมการณ์เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนด้วยกัน เมื่อได้ร่วมงานกัน ก็ย่อมจะยอมสละผลประโยชน์ส่วนตัวได้นะครับ แล้วก็ร่วมกันแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพื่อชาติบ้านเมือง โดยยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าว ไม่อยากให้ฟังการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง จากบางกลุ่มบางฝ่ายที่อาจจะไม่หวังดีนะครับ แล้วก็มองเป็นเรื่องของการเมืองไปเสียทั้งหมด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว  
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุจะมีความชัดเจนเรื่องการเมืองในเดือน มิ.ย.ว่า รู้กันอยู่ทั้งประเทศอยู่แล้ว แต่ไม่ถึงขนาดทั้งหมด เพียงแต่มันจะเกิดความเข้าใจชัดเจน จนเห็นภาพที่สื่อไล่จี้ถามกันอยู่ทุกวัน มันจะเป็นคำตอบในตัวมันเองในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ เพราะพูดกันมานานแล้ว
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ "การพัฒนาพรรคการเมืองในบริบทการเมืองไทย" นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เรื่องการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ทำได้ยาก เพราะหากมีการเลื่อนโรดแมปจะทำให้เกิดความเสียหายนานัปการจนหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อีกทั้งรัฐบาลและ คสช.จะต้องพยายามรักษาโรดแมปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลและผู้นำรัฐบาลจะรักษาคำมั่นสัญญา อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรไปกำหนดว่าจะต้องมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.62 เท่านั้น เพราะอาจจะยืดหยุ่นออกไปนิดหน่อยได้ แต่หากภายในปี 62 ไม่มีการเลือกตั้ง อนาคตข้างหน้าก็จะมีแต่ความมืดมิดแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
    "หากอยากช่วยเหลือบ้านเมืองจริงๆ ควรลาออกตอนนี้ แล้วตั้งพรรคการเมืองเพื่อมาลงเลือกตั้ง แข่งกับพวกผมเลย ซึ่งเชื่อว่ากรอบเวลาที่เหลืออยู่นี้ยังทัน แต่หากยังอยู่ใน ครม.แล้ว และมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้น ก็จะทำให้พรรคการเมืองอื่นเสียเปรียบ แต่หากลาออกแล้ว มาตั้งพรรคการเมืองตอนนี้ก็จะไม่มีใครมีแต้มต่อมากกว่าใคร" นายอนุทินกล่าว
รัฐบาลพรรค คสช.
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุผลที่การรัฐประหารของ คสช. ที่ต้องบอกว่าปฏิรูปในทุกด้าน ในวันนี้ผ่านมาเกือบ 5 ปีแล้ว เราได้แค่หัวข้อว่าจะต้องปฏิรูปเรื่องอะไร และบางหัวข้อก็ยังไม่เสร็จ ต้องกลับไปปฏิรูปนับหนึ่งใหม่ เช่น ปฏิรูปตำรวจ 4-5 ปี เราถือว่าวันนี้เสียโอกาสพอสมควร   ยิ่งการปฏิรูปการเมืองเหมือนเป็นการย้อนยุค เรื่องพลังดูดไม่ใช่เรื่องใหม่ที่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว มีการตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมารองรับอำนาจรัฐประหาร ตนไม่ตำหนินักการเมือง เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะตัดสินใจว่าจะเดินการเมืองแบบไหน ถึงเวลาการเลือกตั้งประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบ 
    "ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีข้อดีเหมือนกัน อย่างน้อยประชาชนที่เคยฟังคำตำหนินักการเมืองมาเยอะจะได้เห็นว่า ยิ่งกว่านักการเมืองเป็นอย่างไร และการปฏิรูปการเมือง ที่นอกจากจะปฏิรูปนักการเมืองแล้ว จะต้องปฏิรูปใครอีกหรือไม่ ส่วนการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน กติกา ผู้เล่น และกองเชียร์ ต้องเจือสมไปด้วยกัน แต่สถานการณ์ปัจจุบัน นับตั้งแต่มีการประกาศตัวเป็นนักการเมือง สะท้อนว่ากรรมการได้เปลี่ยนเป็นผู้เล่นเต็มตัว การประกาศตั้งพรรคในทำเนียบฯ สะท้อนว่าที่เราใช้ว่ารัฐบาล คสช. อาจต้องเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพรรค คสช. ซึ่งมีนัยที่แตกต่างกัน และอาจจะสะท้อนให้เราเห็นกลายๆ ว่าผู้เขียนกติกาพร้อมที่จะมาเป็นผู้เล่น ร่วมผู้เล่นอื่นๆ ที่ไม่เคยเป็นกรรมการ" นายจุรินทร์กล่าว 
     ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มองว่าระบบไพรมารีโหวตตามกฎหมายใหม่มีความยุ่งยาก ไม่เป็นผลดี ทำให้เกิดปัญหาภายในพรรค ส่วนการห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมนั้น มองว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องห้ามเลย เพราะขณะนี้กฎหมายพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับแล้ว ก็ควรปล่อยให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
    นายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์กรณี ครม.แต่งตั้งแกนนำพรรคพลังชลเข้าร่วมงานรัฐบาลว่า สะท้อนถึงพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังตั้งพรรคการเมืองในทำเนียบแล้วดึงนักการเมืองเข้าทำเนียบฯ เพื่อร่วมมือกัน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปหลังการเลือกตั้ง สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และพวกต้องทำให้ได้คือ ต้องมีเสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 251 เสียงในสภา เมื่อมองแล้วว่ายังไม่มีพรรคการเมืองเดิมรับปากชัดเจน จึงต้องหาวิธีใหม่ทำให้พรรคการเมืองเก่าอ่อนแอลง และบีบให้บางส่วนต้องไปร่วมมือด้วย เป็นส่วนหนึ่งของแผนทั้งหมด 
    “เขาเริ่มคำนวณแล้วว่าการเป็นนายกฯ คนนอกมันยากกว่า คือต้องรวบรวม ส.ส.ให้ได้ 251 เสียงขึ้นไปเพื่อรวมกับ 250 ส.ว. จึงเปลี่ยนมาให้มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไปอยู่ใน 1 ใน 3 รายชื่อของพรรคการเมืองแล้ว ขอแค่ได้ ส.ส.มากกว่า 126  เสียง เพื่อรวมกับ 250 ส.ว. เป็น 376 เสียง ให้ได้เกินครึ่งของสมาชิกสองสภา 750 คน เพื่อใช้ในการโหวตนายกฯ ให้ได้ก่อน หลังจากนั้น การดึงดูดนักการเมืองเข้ามาร่วมสนับสนุนรัฐบาลให้ได้ ส.ส.เกิน 250 เสียง ก็จะเป็นการหาทางออกที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ได้ง่ายขึ้น”  
เปลี่ยนแผนดันบิ๊กตู่นั่งนายกฯ
    นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำๆ อยู่ตอนนี้ก็เพียงแค่เปลี่ยนแผนจากเดิมที่คิดว่าจะได้เป็นนายกฯ คนนอกได้ง่ายๆ เป็นนายกฯ ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง  และการตั้งพรรคกันในทำเนียบฯ โดยมีรองนายกฯ มีรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค มันก็เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อสร้างความนิยมให้กับพรรคการเมืองของตนเอง ที่จะช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ทั้งหมดนี้จึงไม่มีเหตุผลและไม่มีความชอบธรรมทั้งสิ้น จะปู้ยี่ปู้ยำบ้านเมืองทำลายพรรคการเมืองยังไงก็ได้ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์กับพวกได้สืบทอดอำนาจยาวๆ ไปเท่านั้นเอง เป็นเรื่องน่าละอายมาก
    นายจาตุรนต์ยังปฏิเสธกรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยไปเล่นกอล์ฟกับตระกูลสะสมทรัพย์ว่า ไม่มีนัยทางการเมือง หรือเพื่อไปดึงไปเจรจาความทางการเมืองอะไร เพียงแต่โดนขู่ว่าอาจจะมีเรื่องทำผิดกฎหมาย ให้ไปดูว่ามีการดำเนินคดีหรือไม่ หลายคนที่ตอนแรกว่าจะไม่ไปเล่น ก็เลยไปเล่นกอล์ฟกันมากขึ้น เพื่อพิสูจน์ว่าประเทศนี้ไม่มีกฎหมายห้ามคนไปเล่นกอล์ฟ 
    ด้านนายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ถึงโอกาสเข้าร่วมงานกับรัฐบาล คสช.ว่า ปัจจุบันทางพรรคได้ให้ความร่วมมือ ในการทำงานและทำประโยชน์ให้กับประเทศ โดยไม่ต้องมีการต่อรอง หรือมีประโยชน์ใดเข้าแลก ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมไปประชุมที่ จ.บุรีรัมย์ ในฐานะที่จังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทย ตนต้องเข้าไปนำเสนอ หรือพาชาวบ้านไปนำประเด็นปัญหาไปแจ้งให้กับ ครม. ส่วนโอกาสที่จะร่วมเป็นรัฐบาล คสช. ภายหลังการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันหลังเลือกตั้งและได้เสียง ส.ส.เข้าสภา
    "ไม่เชื่อว่าการให้ตำแหน่งตอนนี้แล้วจะกลายเป็นการสนับสนุนใครหลังเลือกตั้ง เพราะอย่าลืมว่าต่อให้ได้ตำแหน่ง ทุกคนต้องผ่านการเลือกตั้ง ลงสนามเลือกตั้งอยู่ดี หากผ่านการเลือกตั้งแล้ว เห็นยอด ส.ส.แล้วค่อยมาคุยกัน ปัจจัยชี้ขาดได้คือการได้ ส.ส.เข้าสภา การเสนอบุคคลที่พรรคจะสนับสนุนเป็นนายกฯ นั้น พรรคภูมิใจไทยจะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเพียงชื่อเดียว" นายอนุทินกล่าว
    ขณะเดียวกัน สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง โดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ร่วมสัมมนาวิชาการเรื่อง "พัฒนาการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 60" โดยมีนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐธรรมนูญ และนักการเมืองเข้าร่วม ซึ่งภาพรวมของเนื้อหาที่นำเสนอ ย้ำถึงการทำรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองที่ผ่านมา โดยสร้างระบบการเมืองแบบประนอมอำนาจ ขณะที่ฝ่ายการเมืองมองว่า ระบบการเมืองดังกล่าว ที่ถูกเขียนพ่วงให้มีบทเฉพาะกาล ที่รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ว.จากการแต่งตั้ง 250 คน ร่วมเลือกนายกฯ และให้รัฐสภาเลือกนายกฯ ที่อยู่นอกบัญชีของพรรคการเมืองได้ อาจเกิดปัญหาเดดล็อกและการแทรกแซงเลือกนายกฯ ได้ในที่สุด
กกต.รับรองอนาคตใหม่
    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต. รักษาการแทนเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เปิดเผยว่า กกต.ได้ออกหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง (แบบ พ.ก.7/2) ให้เป็นพรรคการเมืองเพิ่มเติมอีก 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอนาคตใหม่ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ยื่นคำขอ กลุ่มพลังลูกหนี้ไทย ที่นายวิชิต ชนะพันธ์ ผู้ยื่นคำขอ, กลุ่มพลังปวงชนชาวไทย ที่นายพันธุ์ศักดิ์ ซาบู ผู้ยื่นคำขอ, กลุ่มประชาธรรมไทย ที่นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล ผู้ยื่นคำขอ และกลุ่มไทยเอกภาพ ที่นายโสรัจจ์ ดาศรี ผู้ยื่นคำขอ ซึ่งรวมยอดกลุ่มที่ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 20 กลุ่ม จากทั้งหมด 99 กลุ่ม หลังจากนี้ทางกลุ่มที่ผ่านการรับรองต้องเข้าสู่กระบวนการจัดประชุมผู้ก่อตั้ง เพื่อดำเนินการขั้นตอนทางธุรการตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด และยื่นกลับมายัง กกต. เพื่อจดจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์ต่อไป
     "การจัดประชุมดังกล่าว ต้องรอให้ คสช.พิจารณาอนุญาตอีกครั้ง ซึ่ง กกต.ได้ส่งเรื่องไปยัง คสช.ให้พิจารณาแล้ว การขออนุญาตดังกล่าวทางกลุ่มการเมืองสามารถยื่นเรื่องให้ กกต.เพื่อส่งต่อไปยัง คสช.ได้ก่อนการประกาศรับรองจาก กกต. ส่วนการอนุญาตตามคำขอหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คสช. ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนประกอบ เช่น สถานที่จัดงาน วัน และเวลา เป็นต้น" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว และว่า ล่าสุดมีกลุ่มการเมืองที่รับการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองแล้ว 1 พรรค คือ พรรคทางเลือกใหม่ ที่มีนายราเชน ตระกูลเวียง เป็นหัวหน้าพรรค
    ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่ กกต.ออกหนังสือรับแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง ให้เป็นพรรคการเมืองแก่พรรคอนาคตใหม่ โดยนายปิยบุตรกล่าวว่า ถือว่าเป็นข่าวดีข่าวแรก ตั้งแต่ที่กลุ่มอนาคตใหม่ได้เริ่มก่อตั้งมา ซึ่งก็เป็นไปตามขั้นตอนที่ได้ดำเนินการ ขั้นตอนต่อไปตามกฎหมายพรรคการเมือง จะต้องจัดการประชุมครั้งที่ 1 เพื่อรวบรวมสมาชิกให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 คน และระดมเงินทุนตั้งต้น 1 ล้านบาท พร้อมทั้งเลือกหัวหน้า เลขาธิการ กรรมการบริหาร เหรัญญิก นายทะเบียนพรรค และโหวตข้อบังคับ อุดมการณ์ของพรรค ก่อนจะนำเสนอให้ กกต. เพื่อการจัดตั้งพรรคให้เสร็จสิ้นเต็มรูปแบบ ขณะนี้ยังมีคำสั่งคสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองอยู่ ซึ่งพี่น้องอนาคตใหม่ทั้งหลายที่อยากจะมาเข้าร่วมสมาชิกพรรค หรืออยากเข้ามามีบทบาท เข้ามาบริจาค ก็ยังไม่สามารถทำได้ 
    เมื่อถามว่า กระบวนการจัดตั้งพรรคหลังจากนี้จะราบรื่นหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาหรือกฎหมายที่ทำให้สะดุด การตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งมี กกต.ทำหน้าที่ในการตรวจเอกสาร ตรวจชื่อ ตรวจข้อบังคับไม่ให้ผิดข้อกฎหมาย ดังนั้นที่คนบอกว่าพรรคจะโดนยุบนั้น ไม่มีอะไรเลยที่จะเป็นปัญหา เพราะหากพรรคเกิดขึ้นแล้วไปทำผิดกฎหมายก็ค่อยว่ากัน แต่พรรคนี้ยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะติดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามประชุมพรรค และต้องขออนุญาตเป็นรายไป ซึ่งทางพรรคได้ยื่นเรื่องไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เชื่อ คสช.ไม่ขวาง
    "เชื่อว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ คสช.จะปฏิเสธ เพราะได้อนุญาตไปหลายพรรคแล้ว พรรคเราจึงไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งในส่วนนี้เราได้วางกำหนดการไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงจัดสถานที่ประชุมไว้แล้ว เพราะมีการระบุไว้ว่า ให้บอกรายละเอียดว่าหากจะประชุมพรรคจะจัดที่ใด ในเมื่อ คสช.พูดมาตลอดว่าจะสนับสนุนให้การเมืองเปลี่ยนแปลง ให้มีพรรคการเมืองใหม่และคนหน้าใหม่ๆ เข้ามาเล่น จึงไม่ควรมีอะไรมาขัดขวาง เพราะพรรคการเมืองใหม่ที่เข้ามาคงไม่ใช่แค่พรรคที่สนับสนุน คสช.เท่านั้น” นายปิยบุตรกล่าว และว่า อยากเรียกร้องให้ยกเลิก ประกาศและคำสั่ง คสช.ทั้งหมดที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการพรรคการเมือง และประกาศและคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนด้วย
    เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มมีการดึงนักการเมืองจากกลุ่มต่างๆ เข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาล เช่น นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล สะท้อนความชัดเจนว่าจะมีการร่วมงานกันในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าซึ่งอาจเป็นพรรคทหารหรือไม่ นายธนาธรกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี สนับสนุนให้นักการเมืองทุกคนที่สนับสนุน คสช. เข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดความชัดเจน ประชาชนก็จะไม่สับสนว่าใครฝักใฝ่ระบบ คสช.ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และนักการเมืองคนไหนฝักใฝ่ประชาธิปไตย ประชาชนจะได้ชัดเจน ประวัติศาสตร์จะได้บันทึกไว้ว่าใครเลือกข้างไหน จึงเป็นสิ่งที่ดี และอยากเห็นความชัดเจนมากกว่านี้
    ขณะที่นายปิยบุตรกล่าวเสริมว่า ถ้าจะให้มากกว่านี้ในอนาคตอาจต้องประกาศชัดเจนว่า แต่ละพรรคจะเอานายกฯ คนนอกหรือไม่ ซึ่งหลังๆ เริ่มมีการพูดคุยว่า หากมาอยู่ในบัญชี 1 ใน 3 รายชื่อ ถือเป็นนายกฯ คนใน ดังนั้นจึงควรเรียกร้องกันต่อไปว่า พรรคแต่ละพรรคต้องประกาศให้ชัดว่าจะสืบทอดและสนับสนุนอำนาจของ คสช.หรือไม่ เมื่อชัดเจนมาถึงขณะนี้แล้วก็ต้องเอาให้ชัดถึงที่สุด แต่พรรคของเราไม่สนับสนุนแน่นอน
     นายวิรัตน์ กัลยาศิริ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกฝ่ายกฎหมายเพื่อทำคำชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 25 เม.ย.นี้ ทั้งนี้คือต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ต่อการแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญในประเด็นการกระทบสิทธิของประชาชนและสมาชิกพรรคการเมือง หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือให้ทำคำชี้แจงเพิ่มเติมและยื่นกลับไปภายในวันที่ 25 เม.ย.นี้ โดยประเด็นที่พิจารณาเตรียมทำคำชี้แจงนั้น จะมีประเด็นเพิ่มเติมคือ สถานการณ์ความเดือดร้อนของสมาชิกพรรคการเมืองและประชาชน ต่อสิทธิของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่คำสั่งดังกล่าวสร้างผลกระทบ
    "คำชี้แจงเพิ่มเติมจะมีส่วนของเอกสารและรายละเอียด ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นของสมาชิกพรรคการเมืองที่พบความเดือดร้อนต่อการยืนยันสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่วนหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร ไม่ขอก้าวล่วง แต่เชื่อว่าจะพิจารณาเฉพาะในกรอบที่มีผลกระทบต่อประชาชน และประเด็นที่ขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยไม่กระทบต่อสถานะพรรคการเมือง ที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับก่อนการแก้ไข โดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่ผูกเข้ากับการปฏิบัติ หากไม่ดำเนินการตามเวลาที่กำหนด อาจส่งผลกระทบต่อสถานะพรรคการเมือง" นายวิรัตน์กล่าว. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"