ทัพเรือเฮ ซื้อเรือดำน้ำจากจีนอีก 2 ลำ 22,500 ล้านบาทฉลุย แต่เกือบไปไม่ถึงฝั่ง หวุดหวิดจมกลางสภาฯ อนุ กมธ.งบปีกรัฐบาลผนึกเสียง ลงมติ 5 ต่อ 4 ผ่านหืดขึ้นคอ หลังฝ่ายค้านขวางสุดตัวแต่ไม่สำเร็จ
การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือจากประเทศจีน ตามกรอบวงเงินงบประมาณตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 จำนวน 2 ลำ มูลค่ารวมทั้งหมด 22,500 ล้านบาท สุดท้ายก็ฝ่าด่านความเห็นชอบเบื้องต้นจากฝ่ายนิติบัญญัติมาได้ ด้วยคะแนนเสียงแบบเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 หลังต้องมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวถึง 2 รอบกว่าจะเสร็จเรียบร้อย
เรื่องดังกล่าวมีการแถลงข่าวไว้เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 64 ที่แถลงว่า คณะอนุ กมธ.มีการพิจารณางบจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนของกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ภายหลังจากที่ครั้งแรก ทางคณะอนุ กมธ.แขวนไว้ เพราะยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้ซื้อหรือไม่ โดยทางกองทัพเรือได้ให้เหตุผลต่อที่ประชุมอนุ กมธ.ว่าต้องซื้อเรือดำน้ำ เพราะไทยได้ลงนามในเอ็มโอยูกับจีนไว้แล้วว่าต้องซื้อ 3 ลำ โดยลำแรกได้จัดซื้อไปแล้วด้วยงบประมาณปี 60 ซึ่งจะได้รับเรือในปี 2567 อย่างไรก็ตาม อีก 2 ลำที่จะใช้งบปี 64 นั้น ทางอนุ กมธ.สอบถามว่ายังไม่ซื้อได้หรือไม่ จะถูกฟ้องร้องหรือไม่
นายยุทธพงศ์กล่าวอีกว่า กองทัพเรือได้นำเอ็มโอยูซื้อเรือลำน้ำลำแรกมา ปรากฏว่าในเอ็มโอยูไม่ได้เขียนว่าไทยจะต้องซื้อลำที่ 2 และลำที่ 3 ไม่ได้ผูกพันกันไว้ มีแต่เพียงระบุว่าถ้าเกิดปัญหาในข้อตกลง หรือเกิดความขัดแย้งให้เจรจากันอย่างฉันมิตร ไม่มีการขึ้นศาลหรือคดีต่อกัน นี่คือเอ็มโอยูที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เซ็นไว้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศจีน
“ผมอยู่ในฝั่งที่ไม่ให้ซื้อ โดยบอกว่าเมื่อไม่ได้มีข้อตกลงให้ซื้อลำสองลำสาม ทางกองทัพอ้างอย่างเดียวว่าเพื่อความมั่นคงทางทะเล ทางผมสู้ว่ามีปัญหาด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลกู้จนเต็มเพดาน ประชาชนเดือดร้อน สังคมมีปัญหาอาชญากรรม เพราะคนตกงานไม่มีอันจะกิน ทาง กมธ.ในส่วนที่ไม่ให้ซื้อ บอกว่ายังไม่จำเป็นต้องซื้อในปีนี้ ให้เลื่อนออกไปก่อน” รองประธานคณะอนุ กมธ.กล่าว
นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ที่ประชุมตกลงกันไม่ได้ ทำให้ นายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.สั่งพักการประชุม และเริ่มอีกครั้งในเวลา 14.15 น. พร้อมสั่งให้ลงมติ โดยในฝั่งที่ลงมติไม่ให้จัดซื้อเรือดำน้ำ ประกอบด้วย ตนเอง, นายเรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และ น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ส่วนผู้ที่โหวตให้ผ่าน ได้แก่ นายชยุต ภุมมะกาญจนะ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยาว์ พรรคพลังประชารัฐ และนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีเสียงเท่ากัน สุดท้ายประธานคณะอนุ กมธ. (สุพล ฟองงาม) ออกอีกเสียงหนึ่งเห็นชอบให้ซื้อเรือดำน้ำ เป็นอันว่าประเทศไทยซื้อเรือดำน้ำจีนอีก 2 ลำ ในภาวะที่คนไทยกำลังอดอยาก จึงขอคัดค้านการซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นในการซื้อ อีกทั้งลำที่หนึ่งที่ได้ซื้อไปแล้วยังไม่ได้ของ ซึ่งกว่าจะได้ก็ปี 2567 เรื่องนี้นายกฯ ต้องเลือกระหว่างซื้อเรือดำน้ำกับความอดอยากของประชาชน ชาวบ้านบอกให้ช่วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด รัฐบาลบอกไม่มีเงิน เห็นเรือดำน้ำสำคัญกว่าชีวิตประชาชนได้อย่างไร
ด้านนายครูมานิตย์ย้ำว่า ไม่มีความจำเป็นในการจัดซื้อเมื่อเทียบกับความอดอยากของประชาชน เราไม่ได้คัดค้านไม่ให้ซื้อ แค่อยากให้ชะลอไว้ก่อน ถ้าประชาชนไม่อดอยาก จะซื้อ 4-5 ลำก็ซื้อไป แต่ช่วง 4-5 ปีมานี้ทหารใช้งบประมาณแทบจะมากกว่าทุกกระทรวงอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การลงมติดังกล่าวของอนุ กมธ.เป็นการประชุมครั้งที่ 2 หลังก่อนหน้านี้ คณะอนุกมธ.เคยมีการพิจารณางบจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำดังกล่าวแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่หาข้อยุติไม่ได้ จนที่ประชุมมีมติให้แขวนงบไว้ก่อน และให้กองทัพเรือไปนำเอกสารมาชี้แจงว่าในสัญญาจะสามารถเลื่อนการจัดซื้อได้หรือไม่ จนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา อนุ กมธ.มีการนำงบดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งในที่ประชุม ตัวแทนกองทัพเรือยืนยันต่ออนุ กมธ.ว่าไม่สามารถเลื่อนการจัดซื้อได้ เพราะเป็นการจัดซื้อแบบจีทูจี หากเลื่อนไปจะทำให้เกิดความเสียหายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศจีน จนสุดท้ายที่ประชุมต้องมีการลงมติ หลังอนุ กมธ.มีความเห็นไม่ตรงกัน จนได้ข้อสรุปเป็นมติ 5 ต่อ 4 คือเห็นชอบโครงการดังกล่าวของกองทัพเรือ
มีรายงานด้วยว่า ก่อนเริ่มประชุมอนุ กมธ.ดังกล่าว นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์และแสดงความเห็นว่า การจัดหาเรือดำน้ำตามกระบวนการได้มีการอนุมัติเรือลำแรกผ่านไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่จำเป็น ไม่ควรจัดซื้อตั้งแต่แรก แต่เนื่องด้วยไม่สามารถย้อนอดีตได้ จึงขอว่า ในปี 2564 นี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ จนต้องมีการกู้เงินทั้งสองปีงบประมาณ เป็นเงินสูงถึง 2 ล้านล้านบาท ประชาชนกำลังลำบาก จึงขอว่าให้เลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวไปก่อน เพื่อนำงบประมาณที่จะจ่ายค่างวดไปใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น แต่ทางตัวแทนกองทัพเรือได้ยืนยันว่าไม่สามารถเลื่อนการจัดซื้อได้
ขณะที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาทบทวนงบประมาณในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในกลุ่มกิจกรรมมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทยระหว่างประเทศ วงเงินเกือบ 30 ล้านบาท หลังได้ใช้สิทธิ์การเป็น กมธ. ขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปรับลดงบประมาณดังกล่าวทั้งหมด เนื่องจากไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนในภาวะของสถานการณ์โควิด-19 เพราะการให้งบประมาณสมาชิกรัฐสภาเดินทางไปต่างประเทศของกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาไทยเป็นการขัดต่อนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งขัดต่อนโยบายของประธานรัฐสภา ควรนำงบประมาณดังกล่าวไปกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศหรือช่วยเหลือประชาชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |