ปิยบุตรยํ้าแก้ไขรธน.หมวด1-2


เพิ่มเพื่อน    

  “ชินวรณ์” ยันวิป รบ.สรุปร่างแก้ รธน. 24 ส.ค. คาดยื่น “ชวน” 26 ส.ค.นี้ "เสี่ยหนู" ลั่นแก้รัฐธรรมนูญเสร็จยุบสภาเป็นประเพณีปฏิบัติไม่เห็นแปลก ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้านเห็นพ้องตั้ง ส.ส.ร. 200 คน เพื่อไทยยอมรับ ส.ว.ถ้าไม่เอาด้วยก็เจ๊ง แต่ก้าวไกลยังดื้อปิดสวิตช์ ส.ว.ก่อน "ปิยบุตร" เพ้อหนักรื้อสถาบันพระมหากษัตริย์

    เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณายื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับวิปรัฐบาล โดยจะเสนอญัตติเป็นร่างเดียวกันในนามพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีประเด็นหลักคือแก้ไขมาตรา 256 และให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และต้องไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2
    "นอกจากนั้นประเด็นที่จะให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เรายินดีสนับสนุน โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ซึ่งขณะนี้คณะทำงานของวิปรัฐบาลได้เตรียมในการที่จะเสนอร่างเพื่อเอาข้อเสนอของแต่ละพรรคมารวมกัน เนื่องจากต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเอกภาพ และนำไปสู่การแก้ไขได้จริง และให้ ส.ส.ร.ปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติไปแล้ว"
    นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า ในวันจันทร์ที่ 24 จะเป็นการประชุมวิปรัฐบาล เพื่อจะนำร่างแก้ไขของแต่ละพรรคมาหารือร่วมกันก่อนที่จะนำเข้าหารือในที่ประชุมของแต่ละพรรคในวันที่ 25 ส.ค. หากทุกพรรคเห็นชอบ ก็จะร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติดังกล่าว และเสนอต่อประธานสภาฯ คาดว่าจะเป็นวันที่ 26 ส.ค.นี้
    ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 2 ประเด็นคือมาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. แล้วยังเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล โดยเฉพาะมาตรา 269-272 ที่เกี่ยวกับวุฒิสมาชิก ซึ่งเป็นประเด็นที่ชัดเจนที่สุดในการสืบทอดอำนาจ และเป็นที่ต่อต้านของนักศึกษา ดังนั้นการแก้เพียงสองประเด็นจึงไม่ตอบโจทย์การชุมนุมของกลุ่มนิสิตนักศึกษา ตนจึงสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะขัดต่ออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์  
    เขาบอกว่า ที่มา ส.ว.ทางพรรคได้ให้ตัวแทนของพรรคไปคุยในวิปรัฐบาลเพิ่มเติม โดยพรรคจะแสดงจุดยืนเรื่องบทเฉพาะกาลใน 1-2 วันนี้ เพื่อให้สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จะได้เข้าใจท่าทีของพรรค ทั้งนี้ตนเห็นว่าร่างของรัฐบาลต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว และต้องยื่นประกบญัตติของฝ่ายค้านให้ได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการตกขบวนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ จึงคิดว่าอย่างไรก็ต้องทัน และพิจารณาพร้อมกับญัตติของฝ่ายค้าน
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคได้จัดทำร่างฯ ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 256 และในหมวดการตั้ง ส.ส.ร.เสร็จแล้ว โดยเฉพาะการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนนั้น พรรคได้ยกร่างโดยเปิดทางให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา สามารถเป็น ส.ส.ร.ด้วย เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 และที่สำคัญที่สุดคือการทบทวนบทเฉพาะกาลทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่า การตั้ง ส.ส.ร. ที่มีเยาวชน นิสิต นักศึกษา และทุกภาคส่วนร่วมอยู่ด้วยนี้ เป็นเรื่องที่ดีที่จะได้สะท้อนทักมุมมองเรื่องที่สำคัญต่างๆ ไปพูดคุยกัน
เป็นประเพณีปฏิบัติ
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางของพรรคภูมิใจไทยที่ระบุว่า หากมีการตั้ง ส.ส.ร.และแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมให้มีการยุบสภาว่า ถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่ดำเนินการมาตลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องประกาศใช้โดยเร็วในการบริหารราชการแผ่นดิน อยากให้ลองกลับไปดูในอดีต เมื่อมีการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการเลือกตั้งไม่นานหลังจากนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยืนยันว่าแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทยไม่มีอะไรขัดแย้งกับพรรคพลังประชารัฐ
    "เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะมีร่างของรัฐบาลออกมาหรือไม่นั้น ยังไม่ได้พูดถึงตรงนั้น ตอนนี้ต่างคนต่างทำในส่วนของพรรคตัวเอง"
       นายอนุทินกล่าวว่า เมื่อพรรคภูมิใจไทยจัดเตรียมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ก็เชื่อว่าจะมี ส.ส.จากพรรคอื่นมาร่วมลงชื่อเพื่อให้ครบจำนวน 100 เสียงสำหรับเสนอญัตติได้ และยืนยันว่าท่าทีของพรรคที่ผ่านมาก็เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมรัฐบาลมาแล้ว
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ข้อเสนอการตั้ง ส.ส.ร. ควรทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกันกับรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการยกร่างใหม่ มีฉันทามติร่วมกัน หลังที่ประชุมรัฐสภารับหลักการและมีการตั้งกรรมาธิการแล้ว ควรยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 เพื่อยกเลิก ส.ว.ชุดปัจจุบัน และหาก ส.ว.จะคัดค้านเพื่อปกป้องตัวเอง คงดูไม่จืด เพราะ ส.ว.ต้องตระหนักว่าเป็นจุดด่างดำของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และหาก ส.ว. ต้องการกลับเข้าทำหน้าที่ ก็ควรเข้าสู่กระบวนการตามปกติ
     นายปิยบุตรกล่าวว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรห้าม ส.ส.ร.แก้ไขในหมวด 1-2 เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐได้ และหากมีการล็อกห้าม ส.ส.ร.แก้ไขในหมวด 1 หรือหมวด 2 ก็อาจจะเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่หลังทูลเกล้าฯ ถวายมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการแก้ไขในหมวด 2
    เลขาธิการคณะก้าวหน้ากล่าวอีกว่า อีกประเด็นสำคัญคือ ตนมองว่าการทำให้มี ส.ส.ร.ตอนนี้ยังไม่เพียงพอ เพราะเราไม่ทราบเวลาในการพิจารณาว่านานเท่าไหร่ และเมื่อผ่านวาระ 1-2 ไปอาจไม่ผ่านวาระ 3 ก็ได้ หรือเมื่อผ่านวาระ 3 ไปแล้ว อาจจะไม่ผ่านประชามติก็ได้ กว่าจะมี ส.ส.ร. กว่าจะได้ร่างใหม่ กว่าจะร่างใหม่เสร็จต้องใช้เวลากี่ปี จึงเห็นว่าระหว่างนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้คิดเรื่องการสืบทอดอำนาจแล้ว และเรากลับเข้าสู่ระบบปกติแล้ว จึงเสนอให้มีการยกเลิก ส.ว. 250 คน ตามบทเฉพาะกาลทันที ในมาตรา 269-272 เพราะเมื่อยกเลิกไปแล้ว เกิดวันหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องการผ่าทางตันทางการเมืองโดยการยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะเป็นการเลือกตั้งที่มีนัยสำคัญ เพราะไม่มี 250 ส.ว.มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว
    "ในการแก้ไขตรงนี้ก็ต้องมีเสียง ส.ว. 84 เสียงเห็นด้วย ซึ่งภาพจะดูไม่ดีอย่างมาก ถ้าเกิด ส.ว.ลุกขึ้นอภิปรายปกป้องตัวเอง และสนับสนุนตัวเองให้อยู่ต่อ ดังนั้นบรรดา ส.ว.ต้องตระหนักว่าคุณเป็นจุดด่างดำของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คุณปฏิบัติการสืบทอดอำนาจได้สำเร็จแล้ว ถ้าอยากกลับมาเป็น ส.ว.อีก ก็ให้ไปใช้ช่องทางปกติตามมาตรา 107 จะสง่างามกว่า" นายปิยบุตรกล่าว
เห็นพ้องตั้งส.ส.ร.200คน
    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเสวนา “การแก้ไขรัฐธรรมนูญและอนาคตของประเทศไทย” เพื่อร่วมเสนอแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไข รธน. กล่าวว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของนักศึกษานั้น เป็นเรื่องปกติทางการเมือง ไม่ใช่ประเด็นแปลกประหลาด แต่สะท้อนว่าในเวลานี้ประชาชนต้องการอะไรบ้าง รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้อยู่แล้ว แม้กระทั่งสหรัฐยังแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเรียกได้ว่ามากที่สุด ไม่มีรัฐธรรมนูญประเทศใดที่แก้ไขไม่ได้
    เขากล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ก็มีหลายสถานการณ์ที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้ประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และการทำงานของกรรมาธิการก็ไม่เคยพูดถึงประโยชน์ทางการเมือง มีแต่ประโยชน์ของประชาชน โดยเชื่อว่าหากทุกฝ่ายเอาประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งแล้วก็จะประสบความสำเร็จ
    นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ประธาน กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีความยุ่งยาก และเป็นไปไม่ได้เลยถ้าผู้มีอำนาจไม่อนุญาตให้แก้ไข แต่เราจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขร่วมกัน พรรคภูมิใจไทยเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งคงต้องใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 10-12 เดือน เพื่อที่จะได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเห็นว่ารัฐธรรมนูญควรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องปากท้องของประชาชนด้วย ไม่ว่าจะเป็น ลดทุนผูกขาด ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปด้านการศึกษา รัฐธรรมนูญควรออกแบบมาให้ประชาชนกินได้
    นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า มี 3 กลุ่มหลักที่เราต้องตระหนักคือ 1.กลุ่มที่อยากแก้ไขจริงๆ หวังผลสัมฤทธิ์หาทางออกให้สังคมไทย 2.กลุ่มที่แก้เพื่อลดกระแสเฉยๆ โดยไม่จริงใจ ซึ่งต้องระวัง 3.กลุ่มที่แก้เพื่อสร้างกระแสเอาใจมวลชน ซึ่งก็อันตรายเช่นกัน ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่าต้องแก้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์จริงๆ แต่มีความเสี่ยง 2 อย่างคือ ส.ว.ถ้าไม่เอาด้วยก็เจ๊ง และคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญในปี 55 ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม แต่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องปิดสองจุดเสี่ยงนี้ให้ได้
    นายสุทินกล่าวว่า เราเสนอการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จากประชาชนรวม 200 คน จากจังหวัดต่างๆ อายุตั้งแต่ 18 ปีเป็นต้นไป ส่วนเนื้อหาสาระก็ให้ ส.ส.ร.กำหนด คาดว่าได้ ส.ส.ร.ประมาณเดือน ก.พ.64 จากนั้นใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 13 เดือนไม่เกิน 15 เดือน
    ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อสภาเห็นชอบให้มี ส.ส.ร.ได้แล้ว ก็ถึงเวลาสมควรที่รัฐบาลจะต้องยุบสภา และจัดการเลือกตั้ง แต่ก่อนหน้านี้จะต้องมีมาตรการป้องกันนายกฯ คนนอก และเปิดช่องให้เลือกนายกฯ นอกแคนดิเดตได้ แต่ต้องเป็น ส.ส. และจะต้องปิดสวิตช์ ส.ว.ก่อน ดังนั้น ส.ว.ต้องไม่ทำตัวเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ยอมแก้ตามเจตนาของประชาชน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"