เปิดเวทีขายฝันแก้รธน. 'ก้าวไกล' เฉลยเหตุแตะหมวด 1-2 เพื่อความฝันของม็อบ


เพิ่มเพื่อน    

21 ส.ค.63 - ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) จัดเสวนา “การแก้ไขรัฐธรรมนูญและอนาคตของประเทศไทย” เพื่อร่วมเสนอแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. , นายพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 , นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน , นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ประธาน กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร , นายกษิต ภิรมย์  ที่ปรึกษา ครป. ,นายชัยธวัช ตุลาธน  เลขาธิการพรรคก้าวไกล ,นายราเมศ รัตนะเชวง  โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการโดย นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.

โดย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป.ได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านนายพีระพันธุ์  พร้อมกล่าวว่า เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ของความขัดแย้ง ปัจจุบันทุกภาคส่วนรวมถึงรัฐบาล เห็นพ้องจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะเป็นแนวทางคลายปมความขัดแย้ง สามารถใช้บทบาทของสภามาลดทอนความขัดแย้งภายนอกสภาได้ ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 หลายพรรคการเมืองเห็นด้วย เพียงแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพึ่งเสียง ส.ว.ด้วย ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกัน โดยประเด็นเกี่ยวกับ ส.ว.เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้ ส.ว.สนับสนุนให้ยกเลิกไปเลย แต่มีความเป็นไปได้ที่ ส.ว.จะยอมลดอำนาจของตัวเอง เช่น อำนาจในการเลือกนายกฯ ดังนั้น จึงพอเห็นทางร่วมอยู่บ้าง

นายพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไข รธน. กล่าวว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของนักศึกษานั้น เป็นเรื่องปกติทางการเมือง ไม่ใช่ประเด็นแปลกประหลาด แต่สะท้อนว่าในเวลานี้ประชาชนต้องการอะไรบ้าง รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้อยู่แล้ว แม้กระทั่งสหรัฐฯ ยังแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเรียกได้ว่ามากที่สุด ไม่มีรัฐธรรมนูญประเทศใดที่แก้ไขไม่ได้ สำหรับประเทศไทย ก็มีหลายสถานการณ์ที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้ประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และการทำงานของกรรมาธิการฯ ก็ไม่เคยพูดถึงประโยชน์ทางการเมือง มีแต่ประโยชน์ของประชาชน โดยเชื่อว่า หากทุกฝ่ายเอาประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งแล้ว ก็จะประสบความสำเร็จ

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ประธาน กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นต่างจากนายพีระพันธุ์  เพราะสถานการณ์การชุมนุมครั้งนี้แปลกกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่คล้ายเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 โดยเป็นเหตุจากการรัฐประหาร  ประชาชนรู้สึกไม่ดีต่อรัฐบาล และการชุมนุมล่าสุดนี้ก็ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่เกิดรัฐประหารโดย คสช.แล้ว เพราะถือว่าอยู่ในอำนาจยาวนาน 5 ปี คนจึงรู้สึกว่าถูกกดทับ เพราะระหว่างการครองอำนาจก็มีหลายเหตุการณ์ที่คนรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรม เช่นกรณี นาฬิกาเพื่อน คดีเสือดำ เรือดำน้ำ คดีบอส การเลือกตั้ง บัตรเขย่ง เป็นต้น

นายภราดร กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากข้างนอกสภาแล้วนำประเด็นเข้าสู่สภา ต่างจากการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการต่อสู้กันในสภาแล้วไม่สามารถเอาชนะกันได้ เหตุการณ์จึงบานปลายสู่นอกสภา อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้เห็นพลังของเยาวชน โดยการโต้แย้งเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ยกเว้นคนที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย จึงจะมองเหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีความยุ่งยาก และเป็นไปไม่ได้เลยถ้าผู้มีอำนาจไม่อนุญาตให้แก้ไข แต่เราจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขร่วมกัน พรรคภูมิใจไทยเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งคงต้องใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 10-12 เดือน เพื่อที่จะได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเห็นว่ารัฐธรรมนูญควรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องปากท้องของประชาชนด้วย ไม่ว่าจะเป็น ลดทุนผูกขาด ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปด้านการศึกษา รัฐธรรมนูญควรออกแบบมาให้ประชาชนกินได้” นายภราดร กล่าว  

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การชุมนุมวันนี้เราไม่ควรมองข้าม ปรากฏการณ์นี้เป็นตัวกระตุ้นให้เราเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเกิดกรรมาธิการฯ ขึ้นมา ทั้งนี้ ตนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ เพื่อนำสังคมออกจากความขัดแยง ขณะเดียวกันก็สามารถนำสังคมเข้าสู่ความขัดแย้งได้เช่นเดียวกัน  ส่วนจะแก้อย่างไร มี 3 กลุ่มหลักที่เราต้องตระหนัก คือ 1.กลุ่มที่อยากแก้ไขจริงๆ หวังผลสัมฤทธิ์หาทางออกให้สังคมไทย 2.กลุ่มที่แก้เพื่อลดกระแสเฉยๆ โดยไม่จริงใจซึ่งต้องระวัง 3.กลุ่มที่แก้เพื่อสร้างกระแสเอาใจมวลชนซึ่งก็อันตรายเช่นกัน ทั้งนี้ พรรค พท.ละพรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่าต้องแก้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์จริงๆ แต่มีความเสี่ยง 2 อย่างคือ ส.ว.ถ้าไม่เอาด้วยก็เจ๊ง และคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญในปี 55 ซึ่งพรรค พท.เคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม แต่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องปิดสองจุดเสี่ยงนี้ให้ได้

นายสุทิน กล่าวว่า เราเสนอการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จากประชาชนรวม 200 คน จากจังหวัดต่างๆ อายุตั้งแต่ 18 ปีเป็นต้นไป ส่วนเนื้อหาสาระก็ให้ ส.ส.ร.กำหนด ส่วนเรื่องกรอบเวลายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาอย่างช้าประมาณ 1 ปี หากการเสนอแก้ไข ม.256 ผ่านวาระแรกได้ในเดือน ก.ย. จากนั้นเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการฯ ประมาณการว่าเมื่อแก้ ม.256 เสร็จ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการประชาชมติรวมทูลเกล้าฯ คาดว่าได้ ส.ส.ร.ประมาณเดือน ก.พ.64 จากนั้นใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 13 เดือนไม่เกิน 15 เดือน ทั้งนี้ หลายคนบอกว่ากว่าจะได้ ส.ส.ร.อาจเป็นการต่ออายุรัฐบาลนั้น ใจตนก็ไม่อยากให้เขาอยู่หรอก แต่ก็ไม่ติดใจถ้ารัฐบาลอยู่ต่อแล้วทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1.รื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ 2.ยกเลิก 269-272 ซึ่งเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว.โดยจะมีการยกเลิก ส.ว.250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 3.โล๊ะคำสั่ง คสช. ทั้งนี้ ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด ไม่ควรจะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เพราะ ส.ส.ร.แต่งตั้งอาจมีอิทธิพลเหนือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง  

“ส.ส.ร.เราเสนอให้อายุ 18 ปีขึ้นไป และเสนอว่าไม่ควรกำหนดว่า ส.ส.ร.ห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง เช่น ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 เราเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เราไม่ได้จะเอาใจมวลชน แต่การล็อกไว้แบบนี้ จะทำให้หนึ่งความฝันของผู้ชุมนุมถูกปิดกั้นโดย ส.ส.ร. และถ้าเขาเห็นว่า ส.ส.ร.ปิดกั้นในส่วนนี้ เราจะจัดการกับการชุมนุมกันอย่างไร”

นายชัยธวัช กล่าวว่า ส่วนไทม์ไลน์การเมือง เห็นว่าเมื่อสภาเห็นชอบให้มี ส.ส.ร.ได้แล้ว ก็ถึงเวลาสมควรที่รัฐบาลจะต้องยุบสภา และจัดการเลือกตั้ง แต่ก่อนหน้านี้จะต้องมีมาตรการป้องกันนายกฯคนนอก และเปิดช่องให้เลือกนายกฯนอกแคนดิเดตได้ แต่ต้องเป็น ส.ส. และจะต้องปิดสวิตช์ ส.ว.ก่อน ดังนั้น ส.ว.ต้องไม่ทำตัวเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ยอมแก้ตามเจตนาของประชาชน

นายราเมศ รัตนะเชวง  โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง คะแนนตกน้ำ ปัญหาปากท้อง ปัญหาการถ่วงดุล มีช่องโหว่การปราบปรามการทุจริต แม้ไม่มีการชุมนุมก็ต้องแก้ไข แม้จะแก้ไขได้ยากก็ตาม โดยพรรคประชาธิปัตย์ จะหาแนวร่วมเพื่อแก้ไข เพราะไม่สามารถแก้ไขได้เพียงพรรคเดียว โดยเราเห็นว่าต้องมี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 150 คน ส่วนอีก 50 คน เป็นกระบวนการสรรหาจากวิชาชีพอื่น รวมถึงนักศึกษา นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของพรรคการเมืองด้วย ยืนยันเราไม่เตะในหมวด 1 และหมวด 2 แต่จะแก้บทเฉพาะการที่มา ส.ว.

นายกษิต ภิรมย์  ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ สร้างปัญหาให้บ้านเมืองอย่างมาก จะต้องรับผิดชอบ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด ขอเสนอให้สภาประกาศให้ชัดว่าพร้อมนำพาประเทศก้าวสู่การเป็นประชาธิปไตยแบบสากล คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าประเทศไทยควรเป็นราชอาณาจักร ซึ่งทุกพรรคการเมืองต้องออกมายืนยันว่าเราจะเป็นราชอาณาจักรแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย มีองค์พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ เราจะต้องมาตกลงกันก่อน ถึงบทบาทของสถาบันว่าจะเป็นแบบใด ต้องการให้เป็นแบบอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ โดยเชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"