SMEs ยังรอออกซิเจน!


เพิ่มเพื่อน    

 

         ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับว่า เงินกู้ก้อนใหญ่ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กรอดจากวิกฤติโควิดครั้งนี้ยังไม่เข้าเป้า

            ออกซิเจนมาไม่ถึงคนไข้อาการหนัก ย่อมแปลว่าอาจจะล้มหายตายจากไปก่อนที่ความช่วยเหลือจะมาถึง

            เงินมีแต่กลไกไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอก็ช่วยกู้สถานการณ์ไม่ได้

            ตัวเลขทางการบอกว่าการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอียังน่าห่วง ล่าสุดสินเชื่อยังติดลบ 3.5%

            เทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น

            คุณธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเมื่อต้นสัปดาห์นี้ถึงการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/63 ว่า

            สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมมีอัตราการเติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

            เป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าไตรมาสก่อนที่สินเชื่อเติบโต 4.1% โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจที่เติบโตถึง  5.1%

            สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ หรือสินเชื่อที่มีวงเงินเกิน 500 ล้านบาท เติบโตในระดับที่สูง

            ส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืมเงินของภาครัฐ และบริษัทขนาดใหญ่มีการระดมทุนผ่านสถาบันการเงิน

            ทั้งนี้ก็เพราะการระดมทุนผ่านตลาดทุนมีการสะดุดเล็กน้อย

            ที่น่ากังวลคือสินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบ 3.5% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 62

            แม้ว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาส 2/63 จะติดลบ 3.5% แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ที่สินเชื่อติดลบกว่า 5% และไตรมาส 1/63 ที่สินเชื่อติดลบ 4.7%

            มีแรงสนับสนุนจากการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของภาครัฐ (ซอฟต์โลน) ให้เอสเอ็มอี 1.3  แสนราย รวม 2.2 แสนล้านบาท และหากไม่มีซอฟต์โลนดังกล่าวเข้ามาสนับสนุน สินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาส 2/63 จะติดลบ 5.7%

            "ภาคที่โดนกระทบเยอะๆ อย่างที่พักโรงแรม ซึ่งเราได้ยินเสียงกังวลจากหลายฝ่าย สิ่งที่เราเห็นคือ  สถาบันการเงินยังปล่อยสินเชื่อให้เซกเมนต์นี้อยู่

            ปัญหาคือโรงแรมขนาดใหญ่จะได้รับสินเชื่อไปค่อนข้างมาก เห็นได้จากสินเชื่อระดับเกิน 500 ล้านบาท เติบโต 22.7%

            แต่ที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาทจะเติบโตลดหลั่นกันลงมา

            ที่มีปัญหาจริงๆ คือ สินเชื่อที่มีขนาดไม่เกิน 20 ล้านบาท ติดลบ 4.6% ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขัน" คุณธาริฑธิ์บอก

            สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (คิดเป็น 34.8% ของสินเชื่อรวม) เติบโต 4.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนเกือบทุกประเภทสินเชื่อ

            สอดคล้องกับการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

            สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโต 4.4% เทียบกับไตรมาสก่อนที่เติบโต 3.4% สอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่ปรับดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง

            เช่นเดียวกับสินเชื่อรถยนต์ที่แม้ว่าจะเติบโต 4.1% เทียบกับไตรมาสก่อนที่เติบโต 6.1% แต่เริ่มเห็นสัญญาณยอดขายรถที่เพิ่มขึ้น

            ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตติดลบ 1.7% เทียบกับไตรมาสก่อนที่เติบโต 2% แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีแนวโน้มที่สูงขึ้น

            สินเชื่อส่วนบุคคล แม้ว่าจะเติบโต 7.8% เทียบกับไตรมาสก่อนที่เติบโต 10.9%

            คำถามใหญ่ต่อมาคือ "หนี้เสีย" หรือ NPL มีแนวโน้มอย่างไร

            คุณธาริฑธิ์กล่าวว่า สำหรับคุณภาพสินเชื่อไตรมาส 2/63 พบว่าคำตอบคือมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน

            ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 5.09 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน  NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 3.04%

            เพิ่มขึ้นจากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่เป็นหลัก

            สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (SICR หรือ  stage 2) อยู่ที่ 7.48% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 7.69%

            สินเชื่อเอสเอ็มอีพบว่าหนี้เสียลดลงเพราะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ

            เช่นเดียวกับสินเชื่อรายย่อยที่มีคุณภาพทรงตัว และคุณภาพสินเชื่อ stage 2 มีแนวโน้มลดลง

            "ก่อนโควิดลูกหนี้ที่มีศักยภาพดีมีประมาณ 90% ของพอร์ตธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มนี้น่าจะยังมีศักยภาพที่ดีหลังจากโควิดคลี่คลายไปแล้ว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทางการและสถาบันการเงินต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ 90% ดังกล่าวเสียไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ถ้าได้สภาพคล่องทันการณ์ มีการช่วยเหลือที่ดี เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย พวกนี้จะกลับมา" คุณธาริฑธิ์บอก

            คำถามต่อมาคือแนวโน้มหนี้เสียทั้งปี 63 หลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จะเป็นอย่างไร

            คุณธาริฑธิ์แจ้งว่า ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง และจะดูแลให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเป็นระบบ โดยจะดูแลไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย หรือเท่ากับว่าการช่วยเหลือจะยังมีต่อเนื่องต่อไป

            ส่วนจะช่วยเหลือในรูปแบบใดนั้นจะพิจารณาให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากขึ้น และคาดว่าหนี้เสียทั้งปี 63 จะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน

            "ในช่วงที่โควิดยังไม่คลี่คลายอย่างน้อยๆ ก็ 2-3 ไตรมาส เราจะยังคงเห็นการช่วยเหลือลูกหนี้อยู่  ดังนั้นระดับคุณภาพหนี้จะยังไม่เสื่อมมาก และการปล่อยให้ลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอลในช่วงนี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย" ผู้บริหาร ธปท.ท่านนี้บอกนักข่าว

            การปล่อยให้ลูกหนี้เป็น NPL ช่วงนี้ไม่เพียงแต่เป็นเรื่อง "น่าเสียดาย" เท่านั้นครับ

            ยังสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของระบบของเรา และเป็นการลงโทษคนที่เสียเปรียบในสังคมด้วย!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"